รัฐบาลเข้าสู่โหมดซานต้า แจกแหลกรายวัน ตรึงค่าไฟ ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี 4 หมื่น

ดูจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปเสียแล้ว ว่าพอถึงช่วงปลายปี กำลังจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ รัฐบาลจะต้อง “แจกของขวัญ” ให้แก่ประชาชน

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการล่วงหน้าหลายสัปดาห์ ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปคิดมาตรการ “ของขวัญปีใหม่” เพื่อแจกให้แก่ประชาชน พร้อมกับขีดเส้นตายให้รวบรวมให้เรียบร้อยภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565

ประกอบกับขณะนี้ใกล้โหมดเลือกตั้งใหม่เข้าไปทุกขณะ ยิ่งทำให้เห็นการออกนโยบายแบบแจกแหลกรายวันค่อนข้างถี่มากขึ้นในช่วงนี้

ไล่มาตั้งแต่การดูแลเรื่องค่าไฟฟ้าที่ประเมินแล้วว่าจะแพงขึ้นในปีหน้า จากราคาพลังงานโลกที่ยังอยู่ระดับสูง ทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เป็นเวลา 4 เดือน

โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะพยายามตรึงค่าไฟฟ้าของครัวเรือน (ใช้ไฟ 301-500 หน่วยต่อเดือน) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ให้คงที่เท่ากับอัตราปัจจุบัน รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย

“วิกฤตพลังงานยังมีอยู่ และรัฐบาลมีความเป็นห่วงในช่วงเวลาต้นปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นในยุโรป ความต้องการพลังงานเพิ่มปริมาณสูงขึ้น จึงมีความผันผวนของราคาอย่างมาก จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นที่จะเข้ามาดูแล” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลจะตรึงค่าไฟฟ้าของครัวเรือนไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยมีการขอความร่วมมือจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้จัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซรวม 6,000 ล้านบาท มาช่วยสนับสนุน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มเปราะบาง (ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน) จะช่วยตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.7 บาทให้ได้ แม้ว่าราคารอบใหม่ (มกราคม-เมษายน 2566) จะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ซึ่งจากแนวทางดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของ ปตท. ในปี 2566 ราว 5.5% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2566 ที่คาดการณ์ไว้ 100,937 ล้านบาท หรือตกแล้วประมาณ 5,551 ล้านบาท ทั้งนี้ การขอความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 ที่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ได้ขอความช่วยเหลือสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษไปเป็นจํานวนเดือนละ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน รวม 3,000 ล้านบาท

ส่วนมาตรการแจกแหลกอื่นๆ ก็มีอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ไป ซึ่งใช้วงเงินรวมประมาณ 81,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ก้อน ได้แก่

1. เงินส่วนต่างประมาณ 18,700 ล้านบาท

2. มาตรการคู่ขนาน เงินช่วยเหลือการเก็บสต๊อกข้าวแก่ชาวนาและโรงสี เพื่อช่วยไม่ให้ข้าวราคาตก วงเงินประมาณ 7,500 ล้านบาท

และ 3.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท ประมาณ 55,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 81,200 ล้านบาท

ซึ่งหลังจาก ครม.เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไป หลังจากนั้นก็จะเห็นทั้งนายกรัฐมนตรีและฝั่งกระทรวงพาณิชย์ชิงแย่งซีนการลงพื้นที่จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

ขณะที่ล่าสุด ครม.ยังเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 โดยอนุมัติกรอบวงเงิน 6,258 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 1,046,460 ครัวเรือน

และเช่นเดียวกับทุกปี กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการภาษีช้อปดีมีคืน โดยให้นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2566 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และหากมีรายจ่ายที่ออกเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท รวมเป็น 40,000 บาท

ทั้งนี้ รายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการที่นำมาใช้สิทธิตามมาตรการได้ ได้แก่ ค่าซื้อสินค้าและบริการ โดยจะยกเว้นค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการอีบุ๊ก ค่าที่พักโรงแรม ค่าไกด์นำเที่ยว ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต และค่าเบี้ยประกัน

ซึ่งการดำเนินมาตรการรอบนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่าจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้กว่า 8,200 ล้านบาท แต่จะทำให้เกิดเงินหมุนในระบบกว่า 56,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 0.1-0.2%

รวมถึงยังมีมาตรการ “ของขวัญปีใหม่” ที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ซึ่งจะเป็นโครงการลักษณะที่เรียกว่า “แคชแบ็ก” อย่างโครงการ “ชำระดีมีคืน” เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา โดยลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดีจะได้รับดอกเบี้ยคืน อาทิ ธนาคารออมสิน คืนเงินให้ลูกค้าที่ชำระหนี้ดี 500 บาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คืนเงินลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ผ่อนชำระดี ตั้งแต่ 500-1,000 บาท เป็นต้น

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทำโครงการชำระดีมีคืน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็จะครอบคลุมไปถึงช่วงปีใหม่นี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ เนื่องจากขณะนี้สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยโครงการมีกรอบวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ดำเนินการถึงสิ้นปีบัญชี 2566 (31 มีนาคม 2566)

นอกจากนี้ ยังจะมีมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ที่เป็นการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ลงเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% ลงเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด เป็นต้น

โดยคาดว่าจะขยายออกไปอีก 1 ปี จากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดในปีนี้

ในอีกด้านหนึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. วันที่ 6 ธันวาคมนี้ อนุมัติงบประมาณ 8,700 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

และ ดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ในช่วงต้นปี 2566 เป็นเวลาราว 6 เดือนอีกด้วย

ซึ่งจะเป็นการให้สิทธิห้องพัก 1.5 ล้านห้อง โดยรัฐอุดหนุนให้ 40% ไม่เกิน 10 คืน ต่อห้องต่อคน และคูปองค่าใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 600 บาทต่อวัน

เรียกได้ว่า แจกแหลกโค้งสุดท้าย โดยใช้ทั้งเงินในงบประมาณ และนอกงบประมาณ กันเลยทีเดียว เป็นการทิ้งทวนก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระนั่นเอง