ทำไม ‘แฟนบอลญี่ปุ่น’ ถึง ‘รัก (ษ์) ความสะอาด’

Japanese fans have won acclaim for picking up litter from the stands after matches. But the practice is not new or, for them, unusual.Credit...Tasneem Alsultan for The New York Times

หนึ่งใน “ภาพจำ” เกี่ยวกับแฟนบอลญี่ปุ่น เวลาพวกเขาเดินทางไปเชียร์ทีมชาติของตนเองในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ ก็คือ ภาพที่แฟนบอลเหล่านั้นจะพร้อมใจกันเก็บขยะบนอัฒจันทร์ ภายหลังการแข่งขันเสร็จสิ้นลง

แม้กระทั่งเมื่อทีมญี่ปุ่นพลิกล็อกเอาชนะตัวเต็งอย่างเยอรมนี หรือพ่ายคอสตาริกาไปอย่างพลิกความคาดหมาย ในฟุตบอลโลก 2022 แฟนบอลชาวญี่ปุ่นที่กาตาร์ก็ไม่ได้หลงระเริงดีอกดีใจหรือโศกเศร้าฟูมฟาย เสียจนลืมเลือนวิถีปฏิบัติอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกตน

ทว่า พวกเขายังคงเดินหน้าเก็บขยะตรงโซนที่นั่งคนดูเช่นเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลงผันแปร

จนมีหลายคนเอ่ยชมเชยว่า ไม่ว่านักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น เจ้าของฉายา “กองทัพซามูไรบลูส์” จะไปได้ไกลแค่ไหนในฟุตบอลโลกหนนี้ แต่แฟนบอลญี่ปุ่นได้กลายเป็นหนึ่งใน “ผู้ชนะ” ประจำทัวร์นาเมนต์ไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย

คําถามที่คนทั่วโลกน่าจะสนใจ ก็คือ ทำไมแฟนบอลชาวญี่ปุ่นจึง “รัก (ษ์) ความสะอาด” ขนาดนี้?

“สกอตต์ นอร์ธ” ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อปี 2018 ว่าพฤติกรรมรัก (ษ์) ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนญี่ปุ่นนั้น คือการแสดงให้เห็นถึงการมีเกียรติยศ-ความภาคภูมิใจในวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง

“การทำความสะอาดอัฒจันทร์ภายหลังการแข่งขันฟุตบอลแมตช์ต่างๆ จบลง คือส่วนต่อขยายจากพฤติกรรมปกติที่คนญี่ปุ่นถูกพร่ำสอนในโรงเรียน ที่นั่น เด็กๆ จะต้องทำความสะอาดห้องเรียนของตนเอง รวมถึงระเบียงทางเดินต่างๆ ด้วย”

เช่นเดียวกับ “มาซาฟูมิ มงเด็น” นักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งบอกกับสำนักข่าวเอสบีเอสว่า

“ตามความเข้าใจของผม พวกเราจะถูกสอนมาตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา ให้รู้จักรักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้และพื้นที่ของตนเอง เช่น ห้องเรียน

“นี่หมายความว่าเมื่อคุณต้องออกจากสถานที่เหล่านั้น คุณต้องไม่ปล่อยให้มันมีสภาพสกปรกรกรุงรัง แต่อย่างน้อยที่สุด คุณต้องทำให้มันมีความสะอาด เหมือนเมื่อตอนคุณเพิ่งก้าวเข้ามาในสถานที่ดังกล่าว

“แน่นอน ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นทุกคนหรอกที่จะมีพฤติกรรมรักความสะอาดแบบนี้ แต่ว่าแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดได้ถูกปลูกฝังลงไปในวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของพวกเรา แนวคิดที่สอนให้เราแสดงความเคารพและมองเห็นคุณค่าของข้าวของและสถานที่ต่างๆ”

ทางด้านแฟนบอลญี่ปุ่นในประเทศกาตาร์ก็มองพฤติกรรมของตนเองในฐานะ “เรื่องปกติ” ที่ไม่มีอะไรน่าแปลกประหลาดใจ ดังเช่น แฟนบอลชื่อ “ดันโนะ” ที่กล่าวกับอัลจาซีราว่า

“สิ่งที่พวกคุณคิดว่าเป็นเรื่องพิเศษ จริงๆ แล้ว มันคือเรื่องปกติมากๆ สำหรับพวกเรา”

ก่อนที่เขาจะอธิบายคล้ายๆ นักวิชาการสองรายแรกว่า “เมื่อพวกเราเข้าใช้ห้องน้ำ เราก็ต้องทำความสะอาดมันด้วยสองมือของตัวเอง เมื่อพวกเราต้องออกจากห้องห้องหนึ่ง เราต้องแน่ใจว่าเราจะเดินออกมาพร้อมด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย นั่นคือประเพณี

“เราไม่สามารถเดินออกมาจากสถานที่ต่างๆ โดยปล่อยทิ้งให้มันสกปรก นี่คือส่วนหนึ่งที่เราถูกสอนในระบบการศึกษา และจากกระบวนการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน”

แม้ “ภาพจำ” เรื่อง “การรัก (ษ์) ความสะอาด” ของแฟนบอลญี่ปุ่น จะกลายเป็นไวรัลคลิปหรือโพสต์ยอดฮิตทั่วโซเชียลมีเดีย แต่พวกเขาเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับกระแสฮือฮาดังกล่าวมากนัก หรือไม่ได้ตั้งใจจะโชว์ออฟเพราะอยากตกเป็นข่าวโด่งดังในโลกออนไลน์

“ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเหมือนศาสนาสำหรับพวกเราชาวญี่ปุ่น และเราพยายามที่จะอนุรักษ์คุณค่าแบบนี้เอาไว้”

แฟนบอลหญิงชื่อ “เซซูกะ” กล่าวพร้อมกับโชว์ถุงใส่ขยะแพ็กใหญ่ที่พกพาอยู่ในเป้สะพายหลัง ซึ่งเธอจะนำไปใช้เอง รวมทั้งแบ่งปันแจกจ่ายให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ได้ใช้ด้วย ภายหลังกรรมการเป่านกหวีดหมดเวลาการแข่งขัน

แม้พฤติกรรม “รัก (ษ์) ความสะอาด” ของแฟนบอลญี่ปุ่น จะมีลักษณะเป็น “วัฒนธรรม” ที่ค่อยๆ ถูกบ่มเพาะลงในความคิด-วิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มหนึ่ง จนค่อยๆ กลืนกลายเป็น “ธรรมชาติ” สำหรับพวกเขา

อย่างไรก็ดี ยังมีเบื้องหลังอีกด้าน ซึ่งบ่งชี้ว่าพฤติกรรมทำนองนี้อาจเกิดขึ้นจากการ “จัดตั้ง” อย่างเป็นระบบแบบแผนด้วยเช่นกัน

“จุดมุ่งหมายหลักของเรา คือการเติมอัฒจันทร์ให้เต็มไปด้วยสีน้ำเงิน (สีของชุดแข่งทีมชาติญี่ปุ่น) ด้วยถุงพลาสติกสีน้ำเงิน และเมื่อพวกเรามีถุงเหล่านี้อยู่ในมือแล้ว เราก็น่าจะช่วยกันเก็บขยะที่ถูกทิ้งเอาไว้ตามที่ต่างๆ ระหว่างทางกลับบ้านไปเสียเลย”

“มาซายะ ฟูกูโมริ” หนึ่งในแกนนำร่วมของกองเชียร์ทีมชาติญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี ก่อนเปิดเผยต่อว่า

“สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นมอบถุงพวกนี้ (ถุงพลาสติกสีน้ำเงิน) ให้กับเรา ทำให้บรรดากองเชียร์สามารถเก็บขยะมาใส่ลงในถุง จนมันพองโตขึ้นมาได้

“(การมาเดินเก็บขยะหลังความพ่ายแพ้ต่อคอสตาริกา) คือเรื่องปกติที่คนญี่ปุ่นทำกัน ถึงที่สุดแล้ว การชนะหรือพ่ายแพ้ในเกมการแข่งขันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร พวกเราถือถุงสีน้ำเงินเหล่านี้เข้ามาเชียร์ทีมชาติญี่ปุ่น ดังนั้น ผมจึงรู้สึกว่าเรากำลังมีพฤติกรรมดื้อดึงต่อ ‘เทพเจ้าแห่งฟุตบอล’ ถ้าการตัดสินใจว่าจะเก็บขยะบนอัฒจันทร์หรือไม่ ยึดติดอยู่กับแค่ผลแพ้หรือชนะ

“ด้วยเหตุนี้ ในสามัญสำนึกของพวกเรา เราจึงควรจะเก็บขยะใส่ถุงกันต่อไป และพวกเราก็จะถือถุงพวกนี้ระหว่างเข้าชมการแข่งขันแมตช์หน้า เพื่อเชียร์ทีมชาติของเรา” •

 


เนื้อหาจาก

https://www.bbc.com/sport/football/63735823

https://www.sbs.com.au/news/article/why-japanese-fans-are-voluntarily-cleaning-stadiums-at-the-2022-fifa-world-cup/umdabhotc

https://www.aljazeera.com/sports/2022/11/24/japanese-fans-win-praise-for-stadium-cleaning-at-world-cup-2022

https://www.theguardian.com/football/video/2022/nov/28/litter-picking-japanese-fan-explains-the-importance-of-clearing-up-at-world-cup-video