เหมาะสม | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น มีการจัดการพื้นที่โดยแบ่งโซน และโดยมีหน่วยพิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อง่ายต่อการดูแล รวมทั้งกับงานลาดตระเวน

หน่วยพิทักษ์ป่าหลายๆ หน่วยนั้น เรียกได้ว่าอยู่ “ไกลปืนเที่ยง” อย่างแท้จริง ไกลจากสำนักงานเขต เดินทางยากลำบาก ในช่วงแล้ง ทางอยู่ในสภาพพอไปได้ แต่ในช่วงฤดูฝน สภาพเส้นทางก็เปลี่ยนไป ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเป็นวันๆ หรือหลายวัน

แต่ทุกวันนี้อย่างที่ผมพูดเสมอๆ ว่า หน่วยที่อยู่ในจุดไกลปืนเที่ยงนั้น ส่วนใหญ่จะ “เจริญ” มากกว่าหน่วยที่อยู่ใกล้ๆ

มีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีจานดาวเทียมรับสัญญาณโทรทัศน์ น้ำประปาภูเขา เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

บางหน่วยมีโทรศัพท์แบบใช้บัตร

“พวกเขาจะได้ติดต่อถามข่าวคราวกับทางบ้านได้บ้างครับ เพราะต้องอยู่หน่วยกันครั้งละกว่าเดือน” หัวหน้าเขต ซึ่งเกษียนจากงานไปแล้วบอก

ช่วงฝนหนัก ทางแย่ เราใช้แทร็กเตอร์ส่งเสบียง ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ใช้คนนี่แหละแบก ส่วนมากตอนแล้ง ทางพอไปได้ เราจะขนข้าวสารไปตุนไว้ ยังไงก็มีข้าว มีพริก และเกลือ พออยู่กันไปได้แล้ว แม้ว่ารถเสบียงจะเข้าไม่ไหว” หัวหน้าเล่าต่อ

“หน่วยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่ดี มีความหลากหลายของพืชพรรณ และประชากรสัตว์ป่า พื้นที่แบบนี้ค่อนข้างอ่อนไหว ความชุกชุมของสัตว์ป่าจะเป็นตัวเรียกให้คนล่าสัตว์มุ่งหน้ามา เหมือนคนจะซื้อของแหละครับ ต้องรู้ว่าจะไปซื้ออะไรที่ไหน”

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ตามนโยบายของเขา หน่วยไกลๆ ต้องเจริญกว่าหน่วยใกล้ๆ

ที่หน่วยแห่งนั้น ผมใช้เวลาทำงานอยู่นาน อยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าที่เจริญ รับรู้ว่า การบริหารจัดการป่านั้น หัวหน้าที่เหมาะสม สำคัญ และจำเป็นเพียงไร

 

ช่วงเวลาที่ผมทำงานในพื้นที่บริเวณหน่วยแห่งนี้ มีเจ้าหน้าที่ถึง 16 คน แบ่งเป็นชุดลาดตระเวนสองชุด ชุดแรก ค่อนข้างอาวุโส ชุดที่สองนั้น เป็นชุดพลังหนุ่ม ผมร่วมทำงานกับชุดที่สอง

เมื่อเขาเดินลาดตระเวนผมจะติดไปด้วย ทักษะการใช้ชีวิตในป่าที่พวกเขามี ทำให้ผมสะดวกสบายขึ้น

บางคนเดินป่าปีหนึ่ง 1,400 กิโลเมตร

“ชุดไหนคนขาดผมก็ไปช่วยเขาครับ” สถาพนบอก เขาไม่ช่างพูดนัก

เพื่อนๆ เรียกเขาว่า “สถาพน คนแพ้รัก” ไม่ใช่เพราะอกหัก ผู้หญิงปฏิเสธ แต่เพราะเขาแพ้ยางต้นรัก ถ้าโดนจะเป็นผื่นเต็มตัว

คนขยันที่สุด ชื่อ จอนวย เขาไม่หยุดนิ่ง นั่งอยู่กับที่ได้ไม่เกิน 5 นาที เพื่อนๆ จะแกล้งจับตัวไว้ไม่ให้ลุกไปได้ แต่เขาจะรอจังหวะเผลอๆ ลุกหนีไปจนได้

เขาทำหน้าที่ผู้ควบคุมเวลา เดินป่าถึงเวลาพัก จะเดินไป-มา

“ลุกๆ ไปต่อ ไปต่อ” ไม่ให้พักนาน เราต้องลุกขึ้นยกเป้ขึ้นหลังเดินต่อตามคำสั่งเขา

นกกาบบัว – จากที่ราบต่ำในประเทศอินเดีย ช่วงฤดูหนาว นกกาบบัวส่วนหนึ่งเดินทางมาพักร่วมกับนกยางบริเวณพื้นที่ลุ่ม และผืนนาในประเทศไทย

จอนวย คล้ายจะนิ่งขึ้น ตอนที่ต้องลาดตระเวนทางน้ำ แผนงานคือ ล่องเรือยางไปตามแม่น้ำ จอดเรือไว้ที่ปากลำห้วย เดินขึ้นไปสำรวจพื้นที่ ร่องรอยปัจจัยคุกคาม และสัตว์ป่า

“ให้เดินป่า ขึ้นเขาชันๆ หลายๆ วัน ผมไม่กังวลเลยครับ แต่ทางน้ำนี่ ไม่ชอบเลย” หนุ่มผู้ไม่หยุดนิ่งบอก

“อย่ากลัวสิ อ่านสายน้ำให้ออก คอยฟัง จ้วงพายให้ดี” หนานทา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องล่องแก่ง แนะนำ

“สั่งขวาพาย จอนวยจ้วงพายเลย ถ้าบอกซ้ายทวน สถาพนพายถอยหลังนะ”

ลำน้ำที่ถูกแนวผาขนาบบีบสายน้ำเป็นร่อง ไม่ใช่สายน้ำที่จะผ่านไปโดยง่าย แก่งหินหลายแห่งมีความยากเกินระดับห้าตามมาตรฐานการล่องแก่ง

แต่การล่องไปตามลำน้ำทำให้เห็นป่าในอีกมุมหนึ่ง ตลอดสองฝากฝั่งมีร่องรอยสัตว์ลงมากินน้ำ

ในฤดูแล้ง สายน้ำหลัก คือที่อันเหมาะสมของพวกมัน

เราใช้เวลาเดินทางมากกว่าครึ่งเดือน

เวลาในป่าและการเดินทางทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น คุ้นเคยราวกับญาติสนิท

ทุกสิ่งที่ผ่านสายตา ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ

 

ริมสายน้ำ กลางคืน อุณหภูมิลดต่ำเหลือ 5 องศาเซลเซียส จอนวยหาฟืนมาเติมกองไฟ

ผมมองกองไฟ และคิดถึงเรื่องของการเดินทาง นึกถึงเหล่าสัตว์ป่า ซึ่งเดินทางโยกย้ายมาจากถิ่นเกิด ในยามที่อาหารขาดแคลน นกหลากหลายชนิดเดินทางไกลนับพันกิโลเมตร ใช้ปีกร่วมกับลมไปตามทิศทาง ปีกคือเครื่องมืออันเหมาะสมของนก แต่หากใช้เพียงปีกโดยไม่รู้ทิศทางลม ไม่มีลมช่วยหนุนส่ง การเดินทางไกลอาจล้มเหลว

สิ่งหนึ่งที่เรารู้คือ ทุกการเดินทาง การเลือกพาหนะที่เหมาะสมนั้นสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางภายนอก หรือ “ภายใน”

อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้คือ เราต้องซื้อตั๋วสำหรับพาหนะนั้นด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการเดินทาง “ข้างใน”

เรื่องการใช้เครื่องมือที่มีให้เหมาะสมอย่างไรเพื่อเดินทางให้ถึงจุดหมายนั้น

สัตว์ป่ารู้วิธีดี

แต่หลายคน แม้ว่าจะพบพาหนะอันเหมาะสมแล้ว คล้ายกับว่า จะหาที่ซื้อตั๋วไม่พบ และเดินทางไม่ถึงจุดหมาย •