วิวาทะดราม่า แยกวิชาประวัติศาสตร์ สอนหรือยัดเยียดเด็กรักชาติ?

กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างหนัก หลัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมออกประกาศ ศธ. แยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

ส่งผลให้ต้องมีการปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่เป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ +1 เพื่อให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์แยกออกมา

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง

จากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องไปจัดทำ (ร่าง) ประกาศ ศธ. เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงนาม

ก่อนเดินเครื่องใช้แน่นอน ปีการศึกษา 2567 นี้!

น.ส.ตรีนุชให้เหตุผลสำคัญว่า นอกจากสนองนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ยังส่งเสริมให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ต่อไปการเรียนวิชาดังกล่าว จะต้องไม่ใช่การท่องจำ แต่จะต้องมีกิจกรรม เพื่อให้เด็กเกิดความตื่นตัว รวมถึงเข้าใจบริบทเหตุการณ์ต่างๆ ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ สนุก และรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ

“ต่อไปเราจะเปลี่ยนกระบวนการเรียนประวัติศาสตร์ ให้เด็กสนุก ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้เด็กรักชาติ และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในอนาคต ยินยันว่า ไม่ได้บังคับว่าให้เด็กรักชาติ แต่จะทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์” น.ส.ตรีนุชกล่าว

แน่นอนว่า มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย!

นักวิชาการขาประจำอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เห็นว่า เป็นการใช้อำนาจบังคับให้เด็กรักชาติอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งผิดหลักการทางการศึกษา เป็นการยัดเยียดความรักชาติให้เด็ก ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นเรื่องไม่ปกติทางการศึกษา อาจจะทำให้เด็กตั้งคำถามและอาจจะต่อต้านมากกว่าเดิม

และหันไปเรียนประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ ขณะที่หลักสูตรปัจจุบันกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนมากกว่า 1,200 ชั่วโมง/ปี มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา ยิ่งจะทำให้เด็กต้องเรียนหนักขึ้น

“ศธ.ควรจะปฏิรูปการเรียน โดยเปลี่ยนการสอนให้เด็กตั้งคำถาม ให้เด็กศึกษาประวัติศาสตร์แบบเปรียบเทียบ สอนให้เด็กสามารถหาข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ จะทำให้เกิดความรักชาติแบบมีตรรกะ การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เป็นการทำผิดพลาดครั้งใหญ่ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย หากทำเพียงเพื่อเพื่อต้องการให้เด็กรักชาติ การทำแบบนี้ จะทำให้การเรียนรู้ล้าหลัง แบบอนุรักษนิยม” นายสมพงษ์กล่าว

สอดคล้องกับ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่มีความจำเป็น ปัญหาสำคัญของการเรียนวิชานี้ คือการขาดหลักสูตรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และขาดตำราที่มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย หรือเป็นตำราที่สอนให้คนคิดเป็น นอกจากนี้ ยังขาดฐานข้อมูลกลางให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ถูกต้อง

“โดยปกติวิชาประวัติศาสตร์รวมอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาอยู่แล้ว มีหน่วยกิตประมาณ 0.5 หรือ 1 หน่วยกิตต่อสัปดาห์ที่ต้องเรียน เพราะฉะนั้น นักเรียนเรียนอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ตลอด 12 ปี จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแยกออกมาเพื่อเพิ่มภาระทั้งครูและนักเรียน สำหรับปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่ 1.เนื้อหาวิชาไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการ ควรต้องปรับปรุง 2.ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดของคนในสังคมปัจจุบันที่เน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ และการศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงกระบวนการเรียนการสอน”

“ประวัติศาสตร์บ้านเรา ถ้าคิดจะปรับปรุง ควรให้ความสำคัญกับเสียงของครูและนักเรียน ควรถามความเห็นด้วยว่าคิดอย่างไร ตอนนี้เป็นเหมือนการปรับปรุงในเชิงระบบราชการ คือคิดแบบท็อปดาวน์ คือบนลงล่าง กระแสจึงออกมาในเชิงต่อต้านมากกว่ายอมรับ และควรตั้งคำถามอย่างแท้จริงด้วยว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คิดจะปรับปรุง เราคำนึงถึงผู้เรียน ความรู้ หรือสุดท้ายคำนึงถึงนโยบายของชาติ หรืออุดมการณ์ของชาติเป็นสำคัญ ถ้าคิดถึงอุดมการณ์เชิงชาตินิยม อยากให้ประเทศสามัคคีกัน เกิดสำนึกการรวมหมู่ การปรับปรุงโดยการแยกวิชาออกมา สุดท้ายตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนหรือผู้สอนหรือไม่ นี่คือสิ่งที่อาจต้องคิดให้มากขึ้น ไม่ใช่มีไอเดียบางอย่าง หรือรับนโยบายบางอย่างมาแล้วคิดจะทำ” ผศ.พิพัฒน์กล่าว

ขณะที่ฝ่ายหนุนอย่างนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการ กพฐ. ระบุว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าควรจะให้วิชาประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหน แต่อยู่ที่ครูผู้สอน ที่ถูกฝึกให้สอนด้านสังคมมากกว่าเจาะลึกด้านประวัติศาสตร์ หาก ศธ.ต้องการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้ดี ศธ.ควรจะแยกให้ชัดเจนว่าแต่ละระดับชั้นควรจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์อะไรบ้าง เช่น ในระดับชั้นประถมศึกษา ควรจะรู้พื้นฐาน ความเป็นมา ในระดับมัธยมศึกษา ควรจะเรียนประวัติศาสตร์ในเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเรียนประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะเตรียมครูที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เข้ามาสอนเด็กด้วย ส่วนที่บอกว่าการแยกวิชาประวัติศาสตร์ เป็นการบังคับให้เด็กรักชาตินั้น ไม่ใช่ ควรจะมองในเชิงสร้างสรรค์ว่าการเรียนประวัติศาสตร์เป็นการเรียนเพื่อให้เด็กเข้าใจความเป็นมาของชาติ เข้าใจความเป็นมาของสถาบัน และภูมิใจในความเป็นชาติ

ปิดท้ายที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายเพิ่มเติมว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นรายวิชาเฉพาะ ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนหนักขึ้น เพราะเวลาเรียนไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง โดย สพฐ.ต้องการออกแบบโครงสร้างการเรียนให้มีความชัดเจน และกำหนดรายละเอียดเพื่อให้สามารถผลิตครูได้ตรงกับความต้องการมาก

“สาเหตุที่ต้องแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เพราะวันนี้ทุกคนต่างพูดกันว่าอยากให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ต้องการสร้าง Soft Power ที่มาจากวัฒนธรรมประเพณีดีๆ ของประเทศ การที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องเรียนรู้จากอดีตว่าเรามีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์อะไรบ้างที่ดีงาม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากจะมาปรับเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันควรจะต่อยอดอย่างไร และเชื่อมอย่างไร เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจที่สามารถนำวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี อาหารดีๆ หรือทรัพยากรดีๆ ในอดีตมาปรับปรุงเข้ากับปัจจุบัน จึงต้องนำวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนสามารถตระหนักได้ว่าประวัติศาสตร์สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้ทุกศาสตร์ ทั้งนี้ การแยกวิชาประวัติศาสตร์ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วย เราต้องสร้างความเข้าใจ รับฟังความเห็นมาปรับใช้ต่อไป” นายอัมพรกล่าว

หลากหลายความคิดเห็น สะท้อนมุมมองที่ ศธ.เองคงต้องนำมาคิดให้หนัก เพราะการจัดปรับเปลี่ยนเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ควรคำนึงถึงผลระยะยาวให้หนักๆ

ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วเกิดปัญหาให้รุ่นหลังต้องตามมาแก้ไข กลายเป็นตราบาปให้จดจำ! •