“การรุกของจีนเข้าสู่อาเซียน” เอเปค…เส้นทางสายไหม และทุนจีนสีเทา (จบ) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

1.รูปแบบการรุกโดยธรรมชาติของประชาชนที่ต้องการทำมาหากิน ส่วนใหญ่เพื่อเข้ามาทำการค้าขาย ลงทุนอุตสาหกรรมขนาดเบาและแสวงหาทรัพยากรจากเหมืองแร่ เช่าที่ทำเกษตร

2. รูปแบบของบริษัทหรือองค์กรการค้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปเพื่อรับสัมปทาน เช่น วิสาหกิจน้ำมันและก๊าซ (MOGE) ของรัฐบาลพม่า มากกว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดคือ China National Petroleum Corporation และ China National Offshore Oil Corporation หรือการขอเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างเมือง เช่น ที่ชายแดนจีน ลาว หรือชายแดนไทย-พม่า

3. เป็นการรุกตามนโยบายรัฐซึ่งอาจจะดำเนินการเองหรือบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน เช่น โครงการสร้างท่าเรือ สนามบิน หรือเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศ

4. เป็นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นจะต้องย้ายออกจากประเทศจีนเพราะมีความกังวลต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง หรือมีพฤติกรรมที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการ ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองในประเทศจีนมีความไม่แน่นอน การผลัดเปลี่ยนอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจชั้นสูงอาจทำให้สายอำนาจที่ตกอับต้องลี้ภัยออกต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีเศรษฐีจำนวนหนึ่งซึ่งมีปัญหาถ้าเกิดการถูกกล่าวหาฟ้องร้อง

ดังนั้น จึงรู้สึกว่าอาจไม่ปลอดภัย จำเป็นต้องหาที่พำนักสำรอง

ไทยพบกับการรุกของทุนจีน ทุกสี ทุกระดับ

ที่พบเห็นทั่วไปก็เริ่มจากการที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมากกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามา แต่ความจริงรายได้ส่วนใหญ่เข้ากระเป๋านายทุน เพราะเมื่อลงจากเครื่องบินก็ใช้รถบัสที่จัดหามาเอง

ส่งต่อไปยังโรงแรม หรืออพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมิเนียมซึ่งแปลงเป็นโรงแรม ของนักธุรกิจจีนด้วยกัน พาไปกินอาหารและพาไปร้านของฝากและจิวเวลรี่ และร้านนวดในเครือข่าย จนเกิดเป็นปัญหาในกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญเกิดขึ้น และในหมู่ทุนจีนด้วยกันเองก็มีการต่อสู้โค่นล้มกันเอง

ผลกระทบจากทุนจีนได้กระทบอย่างน้อย 9 อาชีพแล้ว เช่น มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์รายย่อย ผู้ประกอบการรถบัส เรือโดยสารสปีดโบ๊ต ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ร้านอาหารจีน ร้านของฝากและจิวเวลรี่ ร้านนวดสปา และร้านขายผลไม้

ส่วนธุรกิจการค้าขายทุนจีนได้กว้านซื้อที่ดินทั้งฝั่งไทยและลาว ไล่ซื้อข้ามโขงมาเชียงของ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง เพื่อเตรียมไว้สร้างโกดังกับศูนย์กระจายสินค้าตลอดทั้งไทยและกระจายสู่อาเซียน

ปัจจุบันสินค้าจำนวนมากของ Lazada และ shopee ไม่ต้องขนผ่านทางเครื่องบิน แต่ขนผ่านทางรถไฟมาถึงเวียงจันทน์ และข้ามโขงมาส่งโกดังในจังหวัดชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทุนถูกกว่ามาก

สินค้าเกษตรนำเข้าและส่งออกของเราก็ยังต้องผ่านมือนักธุรกิจพ่อค้าผลไม้ชาวจีน ที่เข้ามามีบทบาทในการควบคุมกลไกการค้าผลไม้ของไทย แบบครบวงจร เพราะนอกจากจะยึดกุมปลายทางของทั้งสองด้านแล้ว ผลไม้จากจีนนำเข้ามายังไทยผ่านแม่น้ำโขงต้องเรือจีนมาขึ้นที่เชียงแสน มีพ่อค้าจีนคุม ถึงตลาดไท ผลไม้จากไทยก็ถูกกว้านซื้อถึงสวน โดยล้งจีนส่งขึ้นไปลงเรือจีนที่เชียงแสน ผ่านแม่น้ำโขง ไปขายต่อในจีน

หากสร้างรถไฟจากจีนเข้าไทยเสร็จเมื่อไร การรุกคืบของจีนทางด้านเศรษฐกิจต่อไทยก็จะยิ่งเร็วและสะดวกมากขึ้น

 

เมืองไทย บ้านหลังที่ 2

ปัจจุบันเป็นที่เล่าลือกันว่าเมืองไทยเป็นที่พำนักสำรองและทำมาหากินที่สะดวกสบายที่สุด สามารถปรับตัวได้ไม่ยาก ทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา อาชีพ ภาษา การศึกษา อากาศ การเลือกบ้านหลังที่ 2 ของผู้ที่พอมีอันจะกินชาวจีนจึงได้เกิดขึ้น อาจจะต่างกับเศรษฐีกรุงเทพฯ ตรงที่ว่า เราไปเลือกเขาใหญ่ พัทยา หัวหินเป็นที่พักตากอากาศ แต่สำหรับคนจีนเขาเลือกกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา หัวหินไว้เป็นบ้านหลังที่ 2 ยามที่ยังไม่มีภัยก็เป็นบ้านพักต่างอากาศ หนีหนาวได้ ยามมีภัยก็อาจกลายเป็นบ้านหลังที่ 2

ในไทยมีระบบการศึกษาไว้รองรับแล้ว กลุ่มทุนจีนกว้านซื้อมหาวิทยาลัยในไทยนั้นแม้เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เพราะการเข้ามาของกลุ่มทุนและนักศึกษาที่เข้ามาเรียนจำนวนมากปีละหลายหมื่นคนนั้นจะมีผลในอนาคต เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อเรียนจบจะมีจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับประเทศและเลือกที่จะทำงานในประเทศไทย ในสภาพที่ทุนพร้อมกว่ามีความสามารถทางภาษามากกว่า และมีเส้นสายระหว่างประเทศที่ดีกว่า เชื่อว่าไม่นานพวกเขาจะเบียดขับ แซงหน้าเด็กไทยที่อยู่ในรุ่นเดียวกันขึ้นมาช่วงชิงธุรกิจ sme จนไปถึงขนาดใหญ่

เมื่อสภาพแวดล้อมดี หากินง่าย ดังนั้น จึงมีผู้มุ่งหวังว่าจะได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยให้ฐานะคนต่างด้าวที่มีวีซ่าอยู่อย่างถาวร

 

การเปิดช่องทางให้การขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร
Thai Permanent Residency

ถ้าหากมีเงื่อนไขให้เอาเงินมาซื้อพันธบัตรประมาณ 40 ล้านบาทจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะสามารถซื้อได้และก็ถอนไปได้เมื่อครบระยะเวลา 3 ปี นี่จะเป็นตั๋วผ่านให้การขอ Long-term resident visa 10 ปี และขั้นต่อไปคือการขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร / Thai Permanent Residency ได้ง่ายขึ้น

จริงๆ แล้วคนคงไม่ได้มาซื้อที่ดิน 1 ไร่มากเท่าใด คนที่มีเงินไม่มากพอจะมาซื้อแค่คอนโดมิเนียม แต่จะเก็บเงินไว้ซื้อพันธบัตรประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งถอนไปใช้ได้ง่ายกว่า

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR Visa) อายุการตรวจลงตรา 10 ปี เสียค่าธรรมเนียมครั้งเดียวในอัตรา 50,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) คุณสมบัติของคนต่างด้าว 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปีจำนวนไม่เกิน 4 คน)

แต่การขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร ต้องมีคุณสมบัติขั้นแรกคือ ต้องถือหนังสือเดินทางของประเทศตนเอง และต้องได้วีซ่าชั่วคราว อยู่ในไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี

ดังนั้น ถ้าซี้อพันธบัตรแล้ว ได้ Long-term resident visa และอยู่มา 3-4 ปี ก็สามารถวิ่งเต้นเอาเองว่า จะขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร (Thai Permanent Residency) ประเภทไหน เช่น ขอเข้ามาลงทุน ขอเข้ามาเพื่อทำงาน ขอเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้แล้ว สามี-ภรรยา บิดา-มารดา บุตร สามารถขอตามมาทีหลังได้

เนื่องจากเป็นนโยบายของมหาอำนาจขนาดใหญ่เช่นจีนซึ่งมีพลเมืองถึง 1,400 ล้าน เป็นธรรมชาติของการดิ้นรนเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ต้องการความปลอดภัย การต้องการแสวงหากำไร ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไทยจะเป็นแหล่งพักพิงและทำมาหากิน… ซึ่งจะมีทั้งข้อดีข้อเสีย

ในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะพบว่ามีทุนสีต่างๆ ตั้งแต่ขาว เทา ดำเข้ามาปะปนอยู่ในสังคมไทยทุนสีเทาและสีดำนั้นมิได้มีจำนวนมาก แต่พวกนี้จะวิ่งเต้นใช้เส้นสายเก่ง พวกเขาจะได้สิทธิต่างๆ เร็วกว่ากลุ่มอื่นแต่ถ้ามีปัญหาก็จะถูกทำลายอย่างที่เป็นข่าวแล้วก็จะเริ่มกลับมาใหม่

คนจีนยุคใหม่ที่ไม่ได้มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ แต่มีทุนและคอมพิวเตอร์พร้อมทั้งสายสัมพันธ์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันในทุกมิติ ในขณะเดียวกันก็จะมีแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พลังอนุรักษนิยมบางส่วนอาจถูกทำลายได้ง่ายขึ้นเพราะแรงผลักดันนี้