กม.พรรคการเมือง ยิ่งแก้ยิ่งปฏิรูปการเมือง? | สมชัย ศรีสุทธิยากร

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

พรรคการเมืองไทยก่อนหน้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับการครหาว่า เป็นพรรคของบุคคล ครอบครัว หรือคณะบุคคลที่มารวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นการชั่วคราวมากกว่าจะมีความเป็นพรรคการเมืองที่มีรากฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือเป็นสถาบันการเมืองที่มีความเข้มแข็ง

ตามมาตรา 258 ก. (2) ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงเขียนเจตนาของการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองไว้อย่างงดงามว่า

“ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม”

หากแต่การแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านการลงมติของรัฐสภาในวาระที่สามไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 และผ่านการวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ว่าไม่มีส่วนใดที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการแก้ไขกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในทางที่ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งแก่พรรคการเมืองหรือเป็นไปในทางตรงข้าม

หรือยิ่งแก้ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

พรรคที่มีรากฐาน
จากการสนับสนุนของประชาชน

พรรคการเมืองควรมีรากฐานจากสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน มีความหลากหลายในสาขาอาชีพและกระจายอยู่ในภูมิภาคอย่างๆ

การส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีสมาชิกพรรคมีคุณลักษณะดังกล่าว กฎหมายพรรคการเมืองจึงกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญหลายประการในการจัดตั้งพรรคการเมือง อาทิ ในมาตรา 9 ระบุว่า ต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งไม่น้อยกว่า 500 คน และมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนต้องร่วมจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท

นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดเงื่อนไขในมาตรา 33 ว่า ภายในหนึ่งปีต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในเวลา 4 ปี โดยมีเงื่อนไขค่าบำรุงการเป็นสมาชิกพรรคปรากฏอยู่ในมาตรา 15 ว่า รายปีต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาท และตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท

ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่ผ่านและกำลังประกาศใช้ มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดังกล่าวเป็น รายปีไม่น้อยกว่า 20 บาท และตลอดชีพไม่น้อยกว่า 200 บาท ตามแต่พรรคการเมืองจะกำหนดในข้อบังคับของพรรค

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง (Reduce Membership Fees) ทำให้ประชาชนมีภาระต่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวน้อยลง ง่ายต่อการตัดสินใจเป็นสมาชิกมากขึ้น

ส่วนจะไปถึงการยกเลิกค่าสมาชิก (Eliminate Membership Fees) นั้นกฎหมายยังไม่เปิดโอกาสให้ แต่ก็มีพรรคการเมืองบางพรรคใช้กลยุทธ์ของการสร้างระดับความผูกพันกับพรรคเป็นหลายระดับ (Multilevel Membership) ที่เลี่ยงกติกา เช่น การให้ประชาชนที่สนับสนุนสมัครเป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัว” โดยไม่ต้องมีการเสียค่าสมาชิก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ค่าสมัครสมาชิกพรรคนั้นยังถือเป็นเงินส่วนน้อยที่พรรคการเมืองใช้ในการดำเนินกิจกรรม โดยเงินส่วนหลักมักจะมาจากเงินบริจาค (Donations) จากบุคคลหรือธุรกิจเอกชนที่หวังประโยชน์โดยตรงจากการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง ส่วนจะสีขาวหรือสีเทา ก็ค่อยไปหาทางพิสูจน์กัน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

พรรคที่สมาชิกมีส่วนร่วม
ในการสรรหาผู้สมัคร

กติกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เขียนไว้เดิม กำหนดกติกาให้มีกระบวนการทำการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) ที่ลงรากฐานไปถึงระดับเขตเลือกตั้ง

นั่นคือ หากพรรคจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งใด ต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น (มาตรา 47) ต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 100 คนในเขตเลือกตั้งนั้น (มาตรา 35) และมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน (มาตรา 50) เพื่อลงมติเลือกหรือจัดอันดับผู้สมัครส่งไปให้คณะกรรมการบริหารพรรค แถมยังมีกระบวนการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันหรือดำเนินการใหม่ หากรายชื่อที่เสนอมาไม่ได้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรค

กติกาใหม่ของการทำการเลือกตั้งขั้นต้น ให้สาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียวดำเนินการสรรหาผู้สมัครของทุกเขตในจังหวัดนั้นได้ โดยหากเป็นสาขาให้มีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน แต่ถ้าเป็นการประชุมโดยตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้มีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน และเมื่อได้รายชื่อจากการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ให้ส่งผลให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อส่งต่อคณะกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในระดับเขต จะตรงหรือไม่ตรงกับผลการสรรหาก็ได้ แถมยังตัดกระบวนการในการปรึกษาหารือหรือทบทวนดำเนินการใหม่หากมีความเห็นที่แตกต่างออก

สรุปคือ ทำ Primary พอเป็นพิธีกรรมว่าได้ทำแล้ว ส่วนผลเป็นอย่างไรสุดท้ายก็คณะกรรมการบริหารเป็นฝ่ายเคาะว่าจะให้ใครลงสมัครรับเลือกตั้ง

การสรรหาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้กติกาใหม่จึงเหมือนกับการตัดขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสมาชิกพรรคการเมือง กิจกรรมที่ทำจึงเหมือนการทำเล่นหรือฝึกปฏิบัติให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งขั้นต้นเผื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะมีวิธีการดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจังเท่านั้น

อะไรคือความลงตัว
ระหว่างอุดมคติและความจริงในทางปฏิบัติ

การเขียนกติกาใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 นั้นเป็นหลักการในอุดมคติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2565 นั้นเป็นการตอบสนองความจริงที่ต้องการในการปฏิบัติของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะจากฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ฝ่ายหนึ่งไม่เคยเป็นนักการเมือง แต่ปรารถนาเห็นพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีส่วนร่วม

ฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องมาสัมผัสประชาชนว่าประชาชนคิดอะไร ทำได้แค่ไหน ทำแล้วเป็นภาระต่อประชาชนหรือเป็นภาระต่อพรรคการเมือง ไม่เกิดประโยชน์

ข้อสรุปของการเปลี่ยนแปลงกติกาจึงอยู่ที่ว่า ใครเป็นผู้มีโอกาสในการร่างหรือการแก้ไขกฎหมาย

วันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจในมือ ก็จะเขียนตามใจตนเองโดยไม่สนใจความเห็นเห็นจากฝ่ายปฏิบัติ เช่นเดียวกับวันที่นักการเมืองฝ่ายปฏิบัติมีอำนาจนิติบัญญัติอยู่ในสภา เขาก็จะแก้ไขกติกาเพื่อความง่าย เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมของพรรค ไม่ถูกพันธนาการโดยกฎกติกาที่ไม่เป็นประโยชน์

ความลงตัวที่เหมาะสมสมบูรณ์จึงยังไม่เกิดขึ้น

ในขณะที่พรรคการเมืองเริ่มเดินไปข้างหน้า แต่คำถามใหญ่ที่ไม่มีใครตอบคือ ประชาชนนั้นเล่าอยู่ที่ไหน เขาจะมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองในการพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังมีเจ้าของและครอบงำโดยนายทุนทางการเมือง

ประชาชนคือข้ออ้างเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น