ปลัดอุตสาหกรรมคนใหม่ กับภารกิจกู้ภาพลักษณ์ ล้างทุจริต โรงงาน-ชุมชนต้องดี

มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ คนรุ่นใหม่ไฟแรง ก็รับรู้ได้ถึงความตั้งใจเพื่อหวังยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง ที่สำคัญโรงงานต้องดี ทำให้ประชาชนไว้ใจ เพื่อเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ปลัดณัฐพลเล่าถึงการแผนงานว่าอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดนโยบายการทำงานในขั้นตอนสุดท้าย กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 2 ธันวาคมนี้ เพราะต้องการให้ช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่งได้รับฟังความเห็นในทุกด้านจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความเห็นจากข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับเคลื่อนนโยบาย

เบื้องต้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การรีแบรนด์กระทรวงอุตสาหกรรม จะชูคำว่า MIND เพื่อสื่อถึงการทำงานด้วยความจริงใจ รวมทั้งคำนี้จะเป็นตัวย่อใหม่ของกระทรวงนับจากนี้ โดยจะลบภาพจำในอดีตความไม่ไว้วางใจระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม การยกระดับอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

กลับกันโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเป็นโรงงานที่ดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ความยั่งยืนตรงนี้หมายถึงการดูแลชุมชน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้โรงงานและชุมชนเติบโตไปด้วยกันได้จริง โดยมีภาครัฐ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้สนับสนุน

ดังนั้น สิ่งแรกที่จำเป็นคือ ทัศนคติของข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทุกหน่วยงานราชการ กรม กอง ตลอดจนหน่วยงานรัฐวิสากิจในสังกัด ต้องมุ่งทำงานเพื่อประชาชนและภาคอุตสหกรรมไทย ปัญหาทุจริตทั้งจริงหรือไม่จริงต้องหมดลง ต้องทำงานในฐานะข้าราชการด้วยความตั้งใจ จริงใจ

ปลัดณัฐพลระบุว่า ทุกหน่วยงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ ต้องทำงานภายใต้ 4 มิติ คือ

1. ความสำเร็จทางธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย เกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต

2. การดูแลชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม

3. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

และ 4. การกระจายรายได้ให้กับประชาชนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนโยบายการทำงานแล้ว ในภาคปฏิบัติก็มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อให้นโยบายสำเร็จเช่นกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยจะพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมกับประธาน ส.อ.ท.

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรภาคอุตสาหกรรม และ ป.ป.ท. แนวทางนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐกรณีหน่วยงานรัฐ หรือโรงงานถูกร้องเรียน

ดังนั้น การดึง ป.ป.ท.มาร่วมพิจารณาในขั้นการสืบสวน เชื่อว่าจะทำให้เกิดความรอบด้าน ครบถ้วน และเป็นธรรมทุกฝ่าย หากแนวทางนี้สำเร็จ อาจเป็นต้นแบบให้หน่วยงานรัฐอื่นนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตามได้

“การระบุถึงโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก แน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่ปฏิบัติตัวดี แต่ส่วนไม่ดีจนสร้างปัญหาทั้งการทุจริตรูปแบบต่างๆ หรือการไม่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานนั้น เท่าที่ดูสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เกเรจากตัวเอง และกลุ่มที่เกิดจากการฮั้วกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ เหล่านี้ต้องจัดการให้หมดไป” ปลัดณัฐพลเน้นย้ำ

เกิดคำถามว่า เหตุใดหลังการเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงรุกงานปราบปรามทุจริตในแวดวงอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดทัพผู้บริหารใหม่ของแต่ละกรม กอง โดยเฉพาะตำแหน่งที่หลายคนฮือฮา คือ การตั้งนายจุลพงษ์ ทวีศรี จากรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปนั่งตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และให้นายวันชัย พนมชัย อธิบดี กรอ. คนของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนก่อน (นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์) ย้ายกลับมาเป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สลับกัน!!

ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในหลายยุคหลายสมัยถูกจับตาเรื่องมาตรฐานการกำกับโรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการขนย้ายกากอุตสาหกรรม ที่มักเกิดข่าวการร้องเรียนจากชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การโยกนายจุลพงษ์ไปดูแล กรอ. จึงน่าจับตาผลงานนับจากนี้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากโควิด-19 เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง การกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ภารกิจหลักของปลัดณัฐพล ก็น่าติดตามฝีมือ

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกและบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ปลัดณัฐพลคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวระดับ 3% ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะอยู่ระดับ 2.2-3.2% ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ระดับ 3.5-4.5% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวระดับ 3.7% ส่วนจีดีพีอุตสาหกรรมและเอ็มพีไอจะมีการประเมินอีกครั้ง

โดยปัจจัยบวกยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชน และรายได้การเกษตร

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีอยู่มาก เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่ไม่รุนแรงจนกดดันการส่งออกและการลงทุนของไทย การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และผลจากโควิด-19 และสงครามต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนไทยในวงกว้าง ทั้งหมดนี้จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากการเตือนภัยเศรษฐกิจ ล่าสุด ปลัดณัฐพลกำลังเดินหน้าจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ “ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม” มหกรรมสินค้าเสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อปลุกกำลังซื้อควบคู่การลดค่าครองชีพประชาชนช่วงปลายปี พร้อมกระตุ้นการสร้างอาชีพ สร้างธุรกิจใหม่ๆ จากกิจกรรมในงาน

คาดว่าตลอดการจัดงานจะมีเงินหมุนเวียนสะพัดในงานไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และคาดการณ์ผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 200,000 คน

 

นอกจากนี้ ปลัดณัฐพลยังเตรียมใช้โอกาสนี้โชว์ผลสำเร็จของโครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ช่วงที่เจ้าตัวนั่งตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ที่ใช้งบประมาณกลาง 2565 วงเงิน 1,249 ล้านบาท เป้าหมายสร้างอาชีพให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ว่างงาน รายได้ลดจากโควิด ถึง 700,000 คน กระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศประมาณ 12,000 ล้านบาท

โครงการอาชีพดีพร้อม ช่วงแรกที่ลอนช์แคมเปญ ถูกวิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณเพื่อช่วยฝ่ายการเมืองหาเสียง แต่ก็ฝ่าดราม่าจนโครงการใกล้เสร็จ 100% แล้ว ถือเป็นผลสำเร็จของโครงการภาครัฐที่ส่งงบประมาณกระจายไปสู่ประชาชนโดยตรง เกิดรูปธรรมชัดเจน

ส่วนเนื้องานในฐานะปลัดกระทรวง จะสำเร็จตามที่ปลัดณัฐพลวางแผนไว้หรือไม่ เดี๋ยวรู้กัน!!