อย่าเรียนประวัติศาสตร์แบบคนมีปม | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา

 

อย่าเรียนประวัติศาสตร์แบบคนมีปม

 

ประวัติศาสตร์คืออะไร?

คนที่เรียนประวัติศาสตร์มางูๆ ปลาๆ อย่างฉันก็ตอบได้ว่าประวัติศาสตร์เป็นการ “เล่าเรื่องในอดีต”

การเล่าเรื่องในอดีตคงไม่มีความหมายหากเป็นการเล่าโดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า เล่าไปทำไม เล่าให้ใครฟัง เล่าไปแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

เพราะฉะนั้น เราก็สรุปได้อย่างหยาบที่สุดว่าทุกๆ การเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นล้วนเป็นเล่าบนวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งของผู้เล่า (หรือผู้เขียน) และปัจจัยที่สำคัญคือต้องรู้ด้วยว่าคนฟังเรื่องเล่าของเราเป็นใคร

ถ้าประวัติศาสตร์เป็นเพียงเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ความจริง?

คนที่เรียนประวัติศาสตร์มาบ้างก็ต้องรู้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องโกหกหลอกลวงทั้งเพ พอๆ กับที่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ไทม์แมชชีนทางความทรงจำที่จะสามารถถ่ายทอดทุกข้อเท็จจริงจากอดีตมาสู่มนุษย์ในปัจจุบัน

ท้ายที่สุดประวัติศาสตร์การเรียบเรียง “ชุด” เหตุการณ์ในอดีต ชุดใดชุดหนึ่งขึ้นมาตามที่ผู้เรียบเรียงเห็นว่ามันสำคัญหรือมีความหมายสำรับเขาและผู้อ่านของเขา

และซับซ้อนกว่านั้น เรายังสามารถเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาจากประวัติศาสตร์อีกด้วย

เช่น พงศาวดารกรุงเก่าฯ เล่มหนึ่ง อาจเต็มไปด้วยเรื่อง “ไม่จริง” อิทธิฤทธ์ ปาฏิหาริย์ แต่นักประวัติศาสตร์สามารถใช้พงศาวดารเล่มนี้ในการศึกษาทำความเข้าใจ “ความคิด” ของคนในยุคที่พงศาวดารเล่มนี้ถูกประพันธ์ขึ้นมา

เหตุการณ์ในพงศาวดารอาจเป็นเรื่องโกหก แต่วิธีของผู้เขียนที่ปรากฏในตัวบทของพงศาวดารคือ “ข้อเท็จจริง” ชุดหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจวิธีคิดและโลกทัศน์ของคนในยุคสมัยที่พงศาวดารนั้นถูกเขียนขึ้นมา

 

ประวัติศาสตร์จึงเป็น “ศาสตร์” ที่มีปัญหาด้วยตัวของมันเองสูงมากและถกเถียงกันตลอด “ประวัติศาสตร์” ของมันว่าตกลงมันจะจริงหรือลวง หรือจะมีสถานะเป็นเพียง narrative ที่มีชุดข้อเท็จจริงบางชุดสนับสนุน

และวิธีอ่านประวัติศาสตร์คือต้องอ่านโดยตระหนักว่านี่เป็นเพียง narrative หนึ่งมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง

เช่น การเขียนประวัติศาสตร์ของ “เต้านม” ของผู้หญิง ที่อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อแจกแจงให้เราเห็น/เข้าใจว่า ฟังก์ชั่นของเต้านม/น้ำนม ของผู้หญิงตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

จนกระทั่งความหมายของนมจากที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ไปสู่สิ่งปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ ไปสู่ความสูงค่าศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นแม่และนมแม่ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีคำว่าประวัติศาสตร์แล้ว มันจึงมีคำว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งฉันอยากเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์เหนือประวัติศาสตร์

นั่นคือไม่ใช่การเรียนเรื่องเกี่ยวกับอดีต แต่เรียนว่า อดีตถูกเขียนมากี่แบบบ้าง และเขียนขึ้นมาบนสำนักคิดใด แต่ละสำนักคิดให้ความสำคัญกับตัวแปรไหนในการชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือแม้กระทั่งการรับรู้ “กาลเวลา” ที่แตกต่างกันก็นำมาสู่การ “นิพนธ์” ประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน

 

เขียนมายืดยาวขนาดนี้เพื่อจะเข้าเรื่องที่ รมว.กระทรวงศึกษาฯ เกิดไอเดียบรรเจิดอยากตอบสนองแรงปรารถนาของผู้นำ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่า ประวัติศาสตร์นั้นสำคัญมากเพราะมันทำให้คนไทยรักชาติ จึงบังเกิดเป็นไอเดียว่านักเรียนไทยควรเรียนประวัติศาสตร์เพิ่ม

“รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชานั้นจะไม่สร้างความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน หรือสร้างภาระงานให้แก่ครูหรือนักเรียน เพราะเราต้องการให้การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสู้รบของประเทศไทยในอดีตเท่านั้น แต่การเรียนประวัติศาสตร์มีอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์โลก ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเหมือนที่ผ่านมา อาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร ดังนั้น โรงเรียนจะต้องมุ่งเน้น ให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

“การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ โดยเด็กจะเรียนเท่าเดิม แต่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจสังคมและหน้าที่พลเมือง อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปการดำเนินการเรื่องนี้จะต้องย้ำการอบรมและพัฒนาครูเกี่ยวกับการสอนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น รวมถึงการบรรจุครูใหม่จะต้องมีครูเอกประวัติศาสตร์ โดยจะมอบ ก.ค.ศ.เกลี่ยอัตราโครงสร้างการบรรจุครูประวัติศาสตร์ด้วย”

https://www.thaipost.net/education-news/272342/

 

อ่านดูเผินๆ เหมือน รมว.กระทรวงศึกษาฯ จะเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชา “ท่องจำ” แต่ยังไม่วายที่จะบอกว่า การเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เด็กไทยมีความภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร!

ฉันจึงอยากจะแนะนำ รมว.กระทรวงศึกษาฯ ว่า วิชาประวัติศาสตร์แบบที่ “ศาสตร์” นั้น ไม่ใช่องค์ความรู้สำเร็จรูปเกี่ยวกับ “อดีต” แต่เป็นการทำความเข้าใจว่า “อดีต” ของใคร/หรือสังคมใด สามารถถูกเล่าได้หลายแบบ แต่ละแบบจะมีคุณค่าหรือมีประโยชน์อย่างไร ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้

เช่น ตำราประวัติศาสตร์แบบโกหกทั้งเล่ม เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อ ก็มีประโยชน์ หากว่ามันถูกนำมาใช้เพื่อเป็น “วัตถุดิบ” ในการศึกษา ทำความเข้าใจกระบวนการล้างสมองของรัฐเผด็จการที่กระทำต่อประชาชน

แต่สิ่งที่ผิดที่สุดสำหรับการคิดจะสอนประวัติศาสตร์คือ การคิดว่าฟังก์ชั่นหรือหน้าที่ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อปลูกฝังความรักและความภูมิใจในชาติ หรือแม้กระทั่งในท้องถิ่น

เพราะนั่นเป็นฟังก์ชั่นของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นฟังก์ชั่นของการเรียนประวัติศาสตร์ของคนมีปมด้อยที่พะวักพะวนอยู่กับการนั่งคิดว่า “ฉันดีพอหรือยัง ฉันสวยพอหรือยัง” ปราศจากความมั่นใจในตนเอง เพราะโดยทั่วไปประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อให้เรารู้จักตัวเองในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของเราในฐานะผู้กระทำ ประวัติศาสตร์ของเราในฐานะผู้ถูกกระทำ

ประวัติศาสตร์บางแง่มุมอาจทำให้เรารู้สึกรังเกียจ ขยะแขยงตัวเอง และเราต้องยอมรับความอัปลักษณ์น่าชังของเรา ของบรรพบุรุษ หรือเพื่อนร่วมชาติเราในอดีตเสียด้วยซ้ำ

สุดท้ายประวัติศาสตร์จะทำให้เราตระหนักว่ามนุษย์นั้นมีทั้งด้านดีด้านชั่ว ด้านสวยงาม ด้านอัปลักษณ์ ด้านเหี้ยมโหด อำมหิต

และสิ่งที่เราทำได้คือยอมรับทั้งด้านดีด้านเลวของตัวเราเอง และโลกที่รอเราอยู่ข้างหน้าคือโลกที่มุ่งหาสันติภาพ โลกที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย และทำร้ายกันและกันให้น้อยที่สุด ช่วยเหลือกันและกันให้มากที่สุด

สำหรับฉัน นี่คือการเรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง

 

คําว่าบูรณาการ คำว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ประวัติศาสตร์ของสามัญชน เป็นคำที่ไม่มีความหมายและประโยชน์อะไรเลย หากมันจะเป็นไปเพื่อสร้าง “ความภูมิใจ”

เพราะหากเราซื่อสัตย์กับประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าประวัติศาสตร์อาจนำมาซึ่งความอดสูใจก็ได้ และไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรเลย เพราะทุกๆ สังคมมีความอดสูใจเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของ “ชาติ” ทั้งสิ้น

ทุกๆ สังคมชนชาติล้วนแต่มีประวัติศาสตร์ “บาดแผล” อันแสนอัปลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเราในปัจจุบัน

หากกระทรวงศึกษาธิการอยากปฏิรูปการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน สิ่งที่ต้องสอนคือ สอนให้นักเรียนรู้จัก “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” สอนให้นักเรียนใช้ “วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์” ในการแสวงหา “ความจริง”

จากนั้นตั้งเป้าประสงค์ของการเรียนประวัติศาสตร์ว่า เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อทำความรู้จักด้านมืดของเรา

เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้บาดแผลและทุกความอดสูที่เราได้กระทำไว้กับโลกใบนี้

เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อไม่เชื่อความภูมิใจ เท่าๆ กับที่ไม่เรียนเพื่อจะดูถูกตัวเอง แต่เรียนเพื่อเคารพในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เรียนรู้เพื่อจะไปขอโทษต่อคนที่เราได้ก่อกรรมทำเข็ญกับเขาเอาไว้ และเรียนที่เราจะไม่กระทำความผิดนั้นซ้ำอีก

ที่สำคัญเราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์เพื่อที่จะได้รู้จัก “เรา” และ “เขา” เท่านั้น แต่เรียนประวัติศาสตร์เพื่อที่จะได้เห็นการยักย้ายถ่ายเทภูมิปัญญาของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ภาษา และเพื่อจะเรียนรู้ว่าความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ภาษา ศิลปะ เกิดจากการโอบรับเข้ามามากกว่าการกีดกันออกไปแล้วเคลมว่าของฉันดีที่สุด

มรดกทางอาหารของทุกอารยธรรมล้วนเกิดจากการเดินทาง ปะทะสังสันทน์ หรือแม้กระทั่งการสงครามที่ทำให้ทุกความแปลกถิ่นได้พบกันแล้วผสมผสานกันจนงอกงามไปอย่างไม่ที่สิ้นสุด

หยุดหมกมุ่นเรื่องความภูมิใจอะไรก่อน แล้วค่อยตั้งสติเรียนประวัติศาสตร์และไม่มีประวัติศาสตร์ที่งอกงามจากภาวะหมกมุ่นในปมด้อยของตัวเอง