เกษตรกรรมสมัยใหม่ | วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เปิดฉากบทสรุปหนึ่ง ว่าด้วยความเป็นไปและแนวโน้มสำคัญสังคมธุรกิจไทยในปีที่กำลังผ่านพ้น

ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวเกษตรกรรมไทย กับกระแสค่อยๆ พุ่งแรงขึ้นๆ เป็นมาอย่างต่อเนื่องนับทศวรรษ

จุดเปลี่ยนสำคัญ จับภาพมาจากจุดสนใจ เกี่ยวข้องสำคัญกับพื้นฐานองค์กรองค์ความรู้

เปิดฉากขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยบทบาทและความเคลื่อนไหวมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของไทย-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้ง (ปี 2459) มาราวศตวรรษ เพิ่งมีหลักสูตรสัมพันธ์กับรากฐานภาคการผลิตสังคมไทย เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมโดยตรง ขณะเป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แห่งเดียวที่ไม่มีวิทยาเขตในต่างจังหวัด

อันที่จริง เริ่มต้นขึ้นปี 2553 จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร และเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เป็นปีการศึกษาแรก โดยเน้นว่า

“ตกผลึกว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็น ต้นแบบของการผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และจิตวิญญาณ จนสามารถผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าสู่สังคมไทย”

 

แผนการผ่านมา 5 ปี (ปี 2557) ไปได้ดีทีเดียว จุฬาฯ ได้ยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากร เป็นสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร “เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบในการจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรการเกษตร ที่ครอบคลุมได้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกว้างกว่าการบริหารจัดการ”

เวลานั้นช่วงก่อตั้งครั้งแรก เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับบางบริบท “…พัฒนาขั้นใหม่ของเกษตรกรรายใหญ่สองราย คือกลุ่มไทยเจริญ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กับกลุ่มซีพีซึ่งกำลังพัฒนายุทธศาสตร์ไปอีกขั้นหนึ่ง ตามวิสัยทัศน์ของธนินท์ เจียรวนนท์ (กล่าวถึงความพยายามลงส่าเกษตรกรรมพื้นฐาน-ปลูกข้าว) …นอกจากนี้ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ให้ความสำคัญการลงทุน ในการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร เพื่อตอบสนองเกษตรกรรมสมัยใหม่” (บางตอนจากข้อเขียนของผม เรื่อง “จุฬาชนบท” มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 กันยายน 2553)

ว่าไปแล้วบทบาทเอสซีจีเชื่อมโยงกับเกษตรกรรมสมัยใหม่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ว่ากันตามแผนการร่วมทุนกับญี่ปุ่นผลิตเครื่องยนต์เพื่อการเกษตรช่วงกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น มีแรงจูงใจและบริบทแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก

แนวคิดการรวมทุนกับ KUBOTA แห่งญี่ปุ่นครั้งนั้น เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญคนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย-สมหมาย ฮุนตระกูล (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ผู้มีสายสัมพันธ์มั่นคงกับญี่ปุ่น ตั้งแต่ในช่วงเขาเพิ่งมาเป็นกรรมการและกรรมการบริหารเอสซีจี (ขณะนั้นเรียกบริษัทปูนซิเมนต์ไทย) ใช้เวลาในการเจรจาและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอยู่นานนับปี กว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุน (2519) มาอยู่ในยุคต้นสมหมาย ฮุนตระกูล ในฐานะผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2519-2523) นับเป็นกรณีร่วมทุนครั้งแรกของเอสซีจีกับธุรกิจญี่ปุ่น

โมเดลการร่วมทุนครั้งนั้นถือเป็นต้นแบบสำคัญ ในเวลานั้นปูนซิเมนต์ไทย (ชื่อในขณะนั้น) และไอเอฟซีที (สถาบันการเงินเฉพาะทาง ปัจจุบันถูกยุบและควบรวมอยู่ในธนาคารทหารไทยธนชาต) ถือหุ้นข้างมาก (51%) ในขณะที่ KUBOTA และพันธมิตร (โดยเฉพาะบริษัทการการค้าระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น-MARUBENI) ถือหุ้นในสัดส่วน 49% ทั้งนี้ ทีมไทยเข้าไปมีส่วนในการบริหารทั่วไป การตลาด และการเงิน

ขณะด้านการผลิต เทคโนโลยีและโรงงาน มีทีมงาน KUBOTA มาดูแล

 

การร่วมทุนกรณี KUBOTA เป็นความพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจเหล็ก (ธุรกิจซึ่งเป็นมรดกตกทอดตามแนวทางรัฐไทยตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในความพยายามสู่อุตสาหกรรมแบบฉบับคลาสสิค กว่าจะมาถึงบทสรุปการคว้าน้ำเหลวในราวครึ่งศตวรรษถัดมา) ที่สำคัญกว่านั้น กลายเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับธุรกิจญี่ปุ่น อีกนับสิบกรณีในช่วง 2 ทศวรรษต่อจากนั้น และมีอีกหลายกรณีในยุคปัจจุบัน นับเป็นจุดเริ่มความสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่น พันธมิตรทางธุรกิจสำคัญต่อเนื่องมา

ครั้นเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (2540) เอสซีจีปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดบทบาทธุรกิจร่วมทุน โดยเฉพาะในกิจการซึ่งเอสซีจีไม่สามารถมีเทคโนโลยีของตนเอง กรณี KOBUTA เป็นหนึ่งในนั้น ทว่า เอสซีจียังคงให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ด้วยถือหุ้นข้างน้อยไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ (40%) ตามแนวทางอย่างที่ว่าไว้ตอนต้น “การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร เพื่อตอบสนองเกษตรกรรมสมัยใหม่” นับเป็นแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์

จนก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญอีกช่วงหนึ่ง ในต้นปีนี้ (2565) ตามแผนการร่วมระหว่างเอสซีจี กับ KOBUTA แห่งญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทที่มีชื่อ “เกษตรอินโน” ในสัดส่วนถือหุ้น 40/60 “ให้บริการการเกษตรครบวงจร ด้วยการองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IoT ตอบสนองทิศทางการเกษตรสมัยใหม่-Smart Farm…” ว่าไว้ทำนองนั้น

จากนั้นไม่กี่เดือน ความสัมพันธ์เอสซีจีและ KUBOTA ได้ขยายมาถึงสำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ เมื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “…เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในการพัฒนาด้านการเกษตรและเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อผลักดันภาคการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน…” ตามถ้อยแถลงของ KUBOTA ในไทย (29 เมษายน 2565)

 

ความเป็นไปของ KUBOTA ในเวลานี้ สะท้อนภาพทิศทางเกษตรกรรมไทย ในช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างมาก

จากช่วงเวลาทศวรรษเกษตรกรรมไทย ขยับปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยแรงขับเคลื่อนของธุรกิจใหญ่อย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผลักดันไปตามกระแส สู่ “เกษตรกรรมแปลงใหญ่” เป็นโยบายของรัฐ ว่าไปแล้วเป็นเกษตรกรรมแปลงใหญ่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ในไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะมีกระแสค่อนข้างเงียบ เทียบเคียง มีผู้คนรุ่นใหม่ รายเล็กๆ เริ่มต้นความพยายามสัมผัสเกษตรกรรมด้วย

ทั้งกระแสหลักและกระแสเทียบเคียง มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่อย่างเต็มที่ สิ่งแรกๆ คือเครื่องจักรกลการเกษตร

เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาพลิกผัน เมื่อ COVID-19 แพร่ระบาดทั่วโลก มากับวิกฤตปิดเมืองครั้งใหญ่ แต่กลับให้ผลเชิงบวกต่อเกษตรกรรม เป็นแรงกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นไปอีก

ปี 2564 KUBOTA รายงานว่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรเติบโตถึง 22% สูงที่สุดในรอบทศวรรษ และปีนี้ช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “หลัง COVID-19” เชื่อว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีก ราว 10%

ความเป็นไปข้างต้น มีสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ “เคลื่อนย้าย” ผู้คนในมิติอย่างมีนัยยะ

แรงงานภาคการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านกลับถิ่นชั่วคราว จึงเกิดภาวะขาดแคลน ขณะขบวนผู้คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อพยพกลับภูมิลำเนาเป็นการถาวร ระลอกใหญ่พอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานและการบริหารสมัยใหม่ ด้วยมีทุนรอนระดับหนึ่ง เมื่อกลับไปสู่เกษตรกรรม จึงริเริ่มวิถีเกษตรกรรมใหม่ๆ

อีกบางส่วนเป็นแรงกระตุ้นอีกระดับทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นไปตามกระแสโลกตะวันตกก็ว่าได้ เป็นแนวโน้มใหม่มาสักพักแล้ว ที่เรียกผู้คนเหล่านี้กันว่า Non-Farmers ในฐานะผู้ซื้อผู้บริโภคยุคสมัย นักลงทุนรายย่อยได้โยกย้ายเงินจากสินทรัพย์อื่นมาสู่ภาคเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนสนับสนุนฟาร์มใหม่ๆ ขนาดเล็ก รวมทั้งผู้ทำงานประจำในเมืองใหญ่ พยายามใช้ชีวิตอีกด้านในบางช่วงเวลาอย่างเจาะจงเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม

ภาคเกษตรกรรมไทย ได้เปิดพื้นที่ใหม่ๆ เป็นไปอย่างยืดหยุ่น และหลากหลายกว่าที่เคยเป็น •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com