สวัสดิการผู้ดูแล ข้อเสนอต่อแรงงานที่มองไม่เห็น | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

บัตเลอร์-Butler หรือผู้ดูแลมืออาชีพ เป็นอาชีพที่มีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ

ปัจจุบันบัตเลอร์เป็นงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะชีวิตของผู้คนมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การดูแลความต้องการพื้นฐาน การตอบสนองความเปราะบาง ยุ่งเหยิงทางอารมณ์ จัดการตารางงาน ชีวิตครอบครัว จนถึงเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน จึงต้องการผู้ดูแลมืออาชีพ

บัตเลอร์มีรายได้ที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความรับผิดชอบที่สูงมากขึ้น บัตเลอร์-ไม่ใช่งานไร้ทักษะ ที่อยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน ผู้บริหารหรือนักการทูตอาจจ้างบัตเลอร์ที่มีค่าตอบแทนสูงใกล้เคียงกับผู้จัดการธนาคาร เป็นภาพสะท้อนว่าทุกคนต่างตระหนักว่า “งานดูแล” เป็นสิ่งที่สำคัญ

แต่หากเราพิจารณาในสภาพชีวิตของคนทั่วไปแล้ว “งานดูแล” ถูกนับให้เป็นงานล่องหน เป็นงานที่ไม่มีเหรียญตรา การยอมรับ สวัสดิการ แม้แต่รายได้ก็อาจไม่ได้รับ

“งานดูแล” กลายเป็นงานที่ถูกมอบหมายตามบทบาทของเพศ ตามบทบาทของของจารีตประเพณี ตามบทบาทของศีลธรรมและความกรุณา

สิ่งเหล่านี้นำสู่ความกดดันของความสัมพันธ์ในครอบครัว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในครอบครัว ที่เราจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในสวัสดิการด้านนี้

ผู้ดูแลในบ้านคือใคร?

สำหรับประเทศไทยที่ผู้สูงอายุ 80% อยู่ด้วยการดูแลของลูกหลาน ประเทศที่สิทธิการลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรมีอยู่อย่างจำกัด สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรที่ต่ำ รวมถึงค่าจ้างของผู้หญิงที่ต่ำ สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การเสียสละของผู้มาทำหน้าที่นี้

ผู้ดูแลส่วนมากจึงเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว ภรรยา น้องสาว พี่สาว

งานดูแลมักเกิดขึ้นโดยจากความคาดหวังว่าเป็นสภาวะชั่วคราว เช่น การเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว การเกิดของสมาชิกใหม่ หรือการว่างงาน-สูญเสียรายได้ที่เราคาดหวังให้กลายเป็นงานชั่วคราว

แต่กลับกลายเป็นงานที่ถาวร งานที่ไม่จบสิ้น งานที่ไม่มีรายได้ งานที่ไม่ได้รับเกียรติหรือมองเห็นจากใคร

และสำหรับหลายคนมันคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ตนไม่ได้เลือก การสูญเสียรายได้ประจำ สูญเสียโอกาสการศึกษาในระดับสูง หรือการสูญเสียความมั่นคงทางอารมณ์ ย่อมส่งผลต่อการไร้อำนาจต่อรอง

นอกจากทำให้สภาพของงาน “ผู้ดูแล” ยาวอย่างไม่มีกำหนด ยังส่งผลต่อความเปราะบางทางจิตใจมาก

ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ช่วยพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เฉพาะกะกลางวัน ประมาณ 25,000 บาท หรือวันละ 800-1,000 บาท ไม่รวมค่าอาหาร ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเดียว

แต่หากสมาชิกครอบครัวทำงานนี้คืองานที่ฟรี ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีวันหยุดประจำปี ไม่มีวันพักผ่อน

ค่าใช้จ่ายสำหรับแม่ครัวทำอาหารสามมื้อในครอบครัว ที่ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึงมื้อสุดท้ายเวลา 18.00 น. นับเป็นค่าจ้างประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 700 บาท หากเป็นบุคคลในครอบครัว นอกจากไม่มีค่าตอบแทน ยังยากที่จะได้รับคำชม

ค่าใช้จ่ายสำหรับติวเตอร์ส่วนตัวของบุตรหลานอยู่ที่ชั่วโมงละ 250 บาท วันละ 2 ชั่วโมง หากทำ 20 วันต่อเดือน ก็คือ 10,000 บาทต่อเดือน

ค่าปรึกษาจิตแพทย์ ชั่วโมงละ 1,500 บาท เดือนละ 4 ครั้ง คิดเป็นมูลค่า 6,000 บาท แต่หากสมาชิกในบ้านปฏิบัติหน้าที่นี้ นอกจากฟรีแล้ว ยังแบกรับความกดดันจากความเครียดและการถูกกล่าวโทษจากคนใกล้ชิด

พี่เลี้ยงเด็ก ค่าตอบแทนอยู่ที่ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน

คนทำความสะอาด ค่าตอบแทนอยู่ที่ 12,000-15,000 บาทต่อเดือน

หากเราคิดคร่าวๆ จากอัตราข้างต้น ค่าตอบแทนสำหรับคนที่ทำเรื่องราวทั้งหมดนี้ในตัวตนเดียวต้องไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และการทำงานทั้งหมดนี้ย่อมต้องอาศัยทักษะอย่างสูง ความรักในงาน การอุทิศตน และการบริหารทางจิตใจที่ดียิ่ง

แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยทำงานเหล่านี้โดยไม่มีรายได้และสวัสดิการใดๆ

จากสถิติสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (US. Census Bureau) ได้แสดงสถิติเปรียบเทียบว่า ในสหรัฐอเมริกา (ที่ระบบสวัสดิการสำหรับผู้ดูแล ย่ำแย่คล้ายๆ ไทย) พบว่าเมื่อผู้หญิงต้องทำหน้าที่ในการเป็นแม่หรือผู้ดูแลเต็มเวลา รายได้ในช่วงสามเดือนของการเป็นผู้ดูแลเต็มเวลา ลดลงประมาณ 60,000 บาท (1,861 USD) ใน 3 เดือน

และสิ่งที่น่าสนใจคือรายได้เฉลี่ยของแม่ที่เคยเป็น “ผู้ดูแลเต็มเวลา” ลดลงประมาณ 4,000 บาทต่อ 3 เดือน แม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 6 ปีก็ตาม

ขณะที่ประเทศที่มีระบบสวัสดิการสำหรับผู้ดูแลที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี สวีเดน ฟินแลนด์ รายได้ของคนที่ต้องมาทำหน้าที่ผู้ดูแลคนแก่ในครอบครัวในระยะเวลาหนึ่งของชีวิตปรากฏว่าไม่ได้ลดต่ำลงในระยะยาว

กล่าวคือ เมื่อต้องมาทำหน้าที่ผู้ดูแลพวกเขาก็ไม่เสียรายได้เพราะได้รับการชดเชยจากรัฐ และพร้อมกันนั้นหน้าที่ผู้ดูแลในครอบครัวก็กลายเป็นช่วงเวลาระยะสั้น ไม่ใช่หน้าที่ระยะยาวหรือถาวรของปัจเจกชน

รูปธรรมสำคัญในบันไดขั้นแรกที่เราต้องขยับคือการสร้างสวัสดิการ หรือการรักษารายได้สำหรับผู้ดูแลในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันเราวางเงื่อนไขนี้ให้เฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่การดูแลมีความหลากหลายและซับซ้อน การชดเชยรายได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ผู้ที่ต้องดูแลเต็มเวลายังคงมีอำนาจต่อรอง และสามารถตัดสินใจชีวิตทางเศรษฐกิจของตัวเองได้

เพราะมันคือเรื่องสำคัญในการที่เราต้องเก็บชีวิต เก็บความฝันของผู้คนในสังคม และวันนี้เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับแทบทุกครอบครัว จากยากจนสุด ถึงชนชั้นกลาง ที่เรามักมีคนต้องเสียสละในสิ่งที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนแต่แรก ทั้งๆ ที่เราสามารถออกแบบสังคมที่ดูแลทุกคนได้