ลี้-บ้านโฮ่ง : แหล่งโลหกรรมทำเหล็กยุคเริ่มแรกในอุษาคเนย์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน มีการจัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อสำคัญยิ่งต่อชาวลำพูน คือเรื่อง “ลี้-บ้านโฮ่ง : แหล่งโลหกรรมทำเหล็กยุคเริ่มแรกในอุษาคเนย์” มีวิทยากรหลักคือ “คุณยอดดนัย สุขเกษม” นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยสามองค์กรร่วมกัน ได้แก่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย และสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาจำนวนมากถึง 80 คน หลั่งไหลมาจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน สภาวัฒนธรรมลี้-บ้านโฮ่ง นักวิชาการจากสถานศึกษา ผู้สนใจภาคเอกชน ข้อสำคัญคือมีกลุ่มช่างถลุงเหล็กเดินทางไกลจากเมืองเหล็กน้ำพี้ จ.อุตรดิตถ์ เข้าร่วมเสวนาด้วย

งานนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้มอบหมายให้ “นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

มูลเหตุที่สามองค์กรร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา สืบเนื่องจากตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เราต่างได้รับทราบความเคลื่อนไหว ว่าทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้มีการลงพื้นที่สำรวจแหล่งเตาถลุงเหล็ก หรือที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า “บ่อเหล็ก” ทั้งในเขต อ.บ้านโฮ่ง และ อ.ลี้ จ.ลำพูน อยู่เนืองๆ

ประชาชนชาวลำพูนได้แต่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ใคร่ทราบถึงผลการศึกษาสำรวจเรื่องดังกล่าวว่ามีความคืบหน้า บทสรุป หรือรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อชุมชนจะได้นำไปใช้ต่อยอดในด้านการจัดสร้างแหล่งเรียนรู้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็ก เยาวชน ผู้คนในท้องถิ่น หรือจัดทำคำบรรยายรองรับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ๆ ต่อไป

เศษตะกรันจากการถลุงเหล็ก (slag) ที่บ้านโฮ่ง จำนวน 14 ก้อน แต่ละก้อนหนัก 100 กว่ากิโลกรัม

เหล็ก : โลหะปฏิวัติโลก

“เหล็ก” ไม่ใช่วัสดุที่ทุกคนสามารถครอบครองได้ ผู้ครอบครอง “เหล็ก” ต้องมีฐานอำนาจในการควบคุมทรัพยากรเป็นอย่างดี กว่าเหล็กจะเข้ามามีบทบาทในสังคมมนุษย์ เมื่อสองล้านปีที่แล้วเราต้องผ่านยุคหิน นับแต่หินกะเทาะหยาบๆ มาสู่ความละเอียดขึ้นกลายเป็นหินขัด

กระทั่งมนุษย์รู้จัก “ไฟ” สามารถ “ควบคุมไฟ” ได้ มนุษย์จึงเปลี่ยนพฤติกรรมจาก “การกินดิบสู่การกินสุก” พัฒนาการไปถึงขั้นสามารถเร่งความร้อนได้ด้วย นำไปสู่ “กระบวนการถลุงโลหะ” เพราะโลหะเป็นวัสดุแปรรูปที่ต้องใช้ความร้อน

แวดวงวิชาการค้นพบว่า ราว 9,000 ปีมาแล้วที่มนุษย์รู้จักการถลุงโลหะ ยุคเริ่มแรกโลหะที่ถลุงคือ “ทองแดง” (ยังไม่ใช่เหล็ก) เมื่อนำไปผสมกับ “ดีบุก” จะได้สิ่งที่เรียกว่า “สำริด” ( Bronze)

ยุคหลังๆ มีส่วนผสมของทองเหลืองและทองคำมากขึ้น กลายเป็นพระพุทธรูปสำริดหรือพระเจ้าทองทิพย์สีทองงามปลั่ง

การเริ่มต้นของยุคสำริด ทำให้มนุษย์เปลี่ยนวิถีชีวิตจากหาของป่า 100 เปอร์เซ็นต์ กลายมาเป็นรู้จักการเพาะปลูกเป็นหลักแหล่ง จากการใช้ชีวิตบนพื้นที่สูง เริ่มลงมาอยู่พื้นที่ราบ

ถัดจากยุคสำริด เข้าสู่ “ยุคเหล็ก” มนุษย์ค่อยๆ มีพัฒนาการ จากเดิมสามารถควบคุมอุณหภูมิความร้อนที่เคยหลอมทองแดงกับดีบุกได้ไม่เกิน 1,000 องศา สามารถเพิ่มความร้อนเป็น 1,200 องศาจนสามารถหลอมเหล็กได้ เหล็กมีความแข็งแรงกว่าสำริดหลายเท่า มนุษย์จึงเอาเหล็กมาทำเครื่องใช้ไม้สอยเช่นเคียวเกี่ยวข้าว ฉมวกแทงปลา คันไถ ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมหาศาล ปิดฉากวิถีชีวิตที่เร่ร่อน

ทำให้เกิดมีคำพูดที่ว่า “เหล็ก โลหะปฏิวัติโลก”

ภาพงานเสวนาวันที่ 7 กันยายน 2565 คุณยอดดนัย สุขเกษม วิทยากรยืนลำดับสามจากขวา ข้างดิฉัน (ผู้เขียน) ถัดจากคุณยอดดนัยคือ นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าฯ ลำพูน ประธานเปิดงาน

เมื่อมนุษย์กินอิ่มนอนอุ่น ขั้นต่อไปก็เริ่มผลิตอาวุธ เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงพื้นที่ทำกินระหว่างคนเผ่าต่างๆ การเกิดขึ้นของเหล็กจึงมีขึ้นมาพร้อมกับ “สงคราม” เกิดชนชั้นนักรบ มีความพร้อมที่จะยกพวกไปตีคนอื่น ใครมีความสามารถครอบครองเหล็กได้จำนวนมากก็ย่อมตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่

ในขณะเดียวกันยุคเหล็กก็ทำให้เกิดช่างฝีมือ สังคมเริ่มประณีต ซับซ้อน เกิดรัฐ เกิดชนชั้นปกครอง เกิดความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรมที่ละเอียดอ่อนขึ้นกว่าความเชื่อดั้งเดิมในสังคมชนเผ่า

สิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ “เกิดการค้า” เริ่มอยากได้วัตถุดิบจากดินแดนไกล มีความสามารถในการต่อเรือสำเภาเดินทางไกล สังคมใหญ่มีความพร้อมที่จะส่งสมณทูตไปเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับส่งพ่อค้าไปเปิดสถานีการค้าที่ดินแดนอื่น

Oliver Pryce นักวิชาการด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์กล่าวว่า กลุ่มคนที่รู้จักใช้เหล็กอย่างต่อเนื่องจากวัฒนธรรมสำริดในแถบอุษาคเนย์เมื่อราว 2,000 ปีแล้ว มีอย่างต่ำ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มศรีเกษตรในพม่า 2.กลุ่มเซโปน (Xepon) ในลาว 3.กลุ่มบูจังวัลเลย์ (Bujang Valley) ในมาเลเซีย 4.ภาคอีสานของไทยแถบบ้านโนนวัด โคราช 5.กลุ่มบ้านป่าหวาย ลพบุรี

อันเป็นการศึกษาแบบกว้างๆ ที่ยังไม่ได้เจาะลึกขึ้นมาถึงแถบดินแดนภาคเหนือของไทย

เหล็กในหลุมศพ ทำเองหรือนำเข้า?

ก่อนหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่จะทำการศึกษาวิจัยถึงเรื่องยุคเหล็กในภาคเหนือระหว่างปี 2560-2563 เรามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหล็ก แยกกันสองส่วนอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาเชื่อมร้อยกัน

ส่วนแรกคือเรื่องราวในตำนาน เช่น ตำนานสิงหนวัติ (ยุคหลัง คุณอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการด้านเชียงแสนศึกษา อธิบายว่าที่ถูกต้องคือ “สิงหนติ”) อธิบายถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มชนในแอ่งเชียงรายเชียงแสน ภายใต้การนำของวีรบุรุษชื่อ “ปู่จ้าวลาวจก” ผู้มีความสามารถในการควบคุมอาวุธประเภทหลาว หอก และเครื่องใช้การเกษตรพวกจอบ เสียมได้จำนวนมหาศาล จึงสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ ใช้คำว่า “จก” หมายถึง “จอบ” (ขอบก) มาเป็นชื่อสัญลักษณ์ของตระกูล

กลุ่มนี้ยังรวมถึงตำนานพระนางจามเทวี พากลุ่มคนทางเจ้าพระยาขึ้นมามากหลายพันคน ราว พ.ศ.1200 ขึ้นมาทับที่กลุ่มคนดั้งเดิมที่เมืองล่มสลายไปก่อน ซ้ำยังต้องสู้รบกับชาวลัวะคือขุนหลวงวิรังคะ ที่ใช้หอก (สะเหน้า) เป็นอาวุธอีกด้วย

ส่วนแรกนี้ สะท้อนว่าสังคมเหล็กได้ก่อเกิดขึ้นแล้วในดินแดนตอนเหนืออย่างต่ำ 1,400-1,500 ปี (อายุตามตำนาน)

ส่วนที่สอง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ในลำน้ำกวงได้พบแหล่งโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหลักๆ สามแหล่งคือ ที่บ้านยางทองใต้ (ดอยสะเก็ด) บ้านสันป่าค่า (สันกำแพง) และบ้านวังไฮ (เวียงยอง ลำพูน) ทั้งสามแหล่งนี้มีอายุราว 1,500-2,000 ปีมาแล้ว อันเป็นยุคที่มีการใช้เหล็กปะปนกับนวัตกรรมรุ่นเก่ากว่าคือสำริด

นอกจากนี้ เมื่อปี 2564 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ยังได้ขุดพบคันน้ำคูดินที่เวียงฮอด เชียงใหม่ตอนใต้ ว่ามีอายุเก่าร่วมสมัยถึงยุคหริภุญไชยตอนต้นคือ 1,400 ปีมาแล้ว

ในหลุมศพมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านวังไฮ พบว่าแต่ละหลุมมีการอุทิศสิ่งของเครื่องใช้ที่มีราคาและเป็นของหายากให้แก่ผู้วายชนม์ เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ลูกปัดหอย ล้วนเป็นของนำเข้าเป็นสินค้าข้ามทวีปผ่านทางไกล แสดงว่าคนในแถบลุ่มน้ำกวงมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างถิ่นแล้ว

จะว่าไปลูกปัดเหล่านี้ก็เปรียบได้เสมือน “สินค้าแบรนด์เนม” ที่หายาก สวยงาม มีค่า ซึ่งคนในห้องถิ่นผลิตเองไม่ได้ และเฉพาะคนที่มีสถานะทางสังคมสูงเท่านั้นจึงจักสามารถครอบครองได้

ในขณะที่เหล็กในหลุมศพก็พบสองประเภท คือ อาวุธ กับเครื่องมือเกษตรกรรม เป็นวัตถุชั้นดี รูปทรงสวยงาม ไม่น่าจะเป็นของคนพื้นเมือง มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นสินค้านำเข้าเช่นกัน คำถามที่ตามมาก็คือ นำเข้าจากที่ใด ใครผลิต เมื่อไหร่ อย่างไร

คำตอบเรื่อง “เหล็ก” ไม่ง่ายเหมือนกับคำตอบเรื่อง “ลูกปัด” ว่านำเข้าจากซีกโลกตะวันตก โดยพ่อค้ากลุ่ม “อินโด-โรมัน” หรือการพบ “สำริด” พวกลูกกระพรวนในหลุมศพ ก็ตอบได้ว่านำเข้าจากกลุ่ม “กวางสี-ดองซอน”

คำถามประเด็นที่ว่า “ใครเป็นผู้ผลิตเหล็ก?” นำเข้า หรือคนพื้นถิ่นผลิตเอง เหตุที่เรายังไม่เคยมีการศึกษาสำรวจค้นพบแหล่งผลิตเหล็กในลำพูน

ยิ่งในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีทฤษฎีที่กดทับ ปิดกั้นการคิดนอกกรอบอยู่ก่อนแล้วทฤษฎีหนึ่ง ว่าด้วยคำพูดที่ว่า ดินแดนภาคเหนืออยู่ไกลปืนเที่ยง เป็นคนภูเขา ล้าหลังทางวัฒนธรรม รับอารยธรรมความเจริญช้ากว่าภาคอื่น ยิ่งช่วยตอกย้ำทฤษฎีว่า สิ่งที่พบทั้งหมดในหลุมศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 3-4 แห่งที่กล่าวมา รวมทั้ง “เหล็ก” ล้วนแต่เป็น “ของนำเข้า” ทั้งสิ้น

จนกระทั่งมีการค้นพบแหล่งเตาถลุงเหล็กที่บ้านโฮ่ง และลี้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่

ภาพสเกตช์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านวังไฮ มีเครื่องมือเหล็กฝังประกอบรอบศพด้วย อันเป็นการแสดงสถานะทางสังคมของชนชั้นสูง

เตาเหล็กที่บ้านโฮ่ง คือพัฒนาการอีกขั้นต่อจากลี้

คุณยงยุทธ เกษมส่งสุข รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบ้านโฮ่ง ปราชญ์ล้านนาคนสำคัญ (ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าเมืองเพชรบุรี) คือผู้ชี้เบาะแสให้แก่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ลงพื้นที่สำรวจจุดแรกบริเวณสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง ณ บ้านป่าป๋วย อ.บ้านโฮ่ง

เนื่องจากชาวบ้านพบเศษเหล็กสีน้ำตาลเลื่อมจำนวนมาก ด้วยสีที่เลื่อมๆ วาวๆ นี่เองทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็น “เหล็กไหล”

เมื่อทีมคุณยอดดนัย สุขเกษม และคณะลงพื้นที่ศึกษาก้อนตะกรันเหล่านี้ พบว่าไม่ใช่เหล็กไหล แต่เป็นก้อน Slag หรือเศษที่เหลือจากการถลุงเหล็ก

คุณยอดดนัยได้สัมภาษณ์ชาวบ้านว่ามีความทรงจำใดๆ หลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่เกี่ยวกับบรรพชนว่าเคยเป็นช่างถลุงเหล็ก ได้คำตอบว่าไม่ แสดงว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหล็กต้องห่างหายไปจากความทรงจำของผู้คนนานมากจนต่อเชื่อมกันไม่ติด

ผิดกับชาวบ้านที่แม่โถและเมืองลอง ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพิธีกรรมไหว้ผีเลี้ยงเหล็กอยู่

ทางออกเดียวที่จะสืบสาวราวเรื่องว่าวัฒนธรรมการถลุงเหล็กที่บ้านโฮ่งมาได้อย่างไร คือต้องนำวัตถุบริเวณนั้นไปพิสูจน์ค่าอายุในห้องแล็บของสถาบันที่เชื่อถือได้ ประเทศนิวซีแลนด์ ผลออกมาว่าบริเวณนี้มีการถลุงเหล็กอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1,400 ปีก่อน และหยุดใช้งานล่าสุดเมื่อ 500 ปี

คุณยงยุทธอธิบายเสริมว่า น่าจะสอดรับกับตำนานเวียงหวาย (ชื่อเดิมของเมืองบ้านโฮ่ง) ที่มีการระบุในปักขทืนว่า เมืองแห่งนี้มีบ่อสามบ่อคือ บ่อเหล็ก บ่อแก้ว และบ่อจืน (หมายถึงกระจกจืน ทำจากตะกั่ว) ซึ่งชาวบ้านโฮ่งค้นพบสองบ่อหลังมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่เคยพบบ่อแรกคือ บ่อเหล็ก

เมื่อการทำงานในพื้นที่บ้านโฮ่งผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง ต่อมาชาวลี้ก็ได้ชี้จุดแก่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ว่าที่บ้านแม่ลาน อ.ลี้ ก็พบร่องรอยของเตาถลุงเหล็กด้วยเช่นกัน ทำให้โครงการศึกษาเรื่อง “เหล็ก” ในสองอำเภอที่อยู่ตอนใต้สุดของ จ.ลำพูน สามารถทำควบคู่กันไปได้

ผลการศึกษาทำให้ทราบว่าเตาถลุงเหล็กที่บ้านโฮ่งกับที่ลี้ มีความแตกต่างกันดังนี้

เตาที่ลี้มีมาก่อน อายุเก่าแก่กว่า เมื่อนำเศษตะกรันและเศษดินที่ติดเตาไปพิสูจน์ ได้ค่าอายุ 2,000 ถึง 2,500 ปี หรือตั้งแต่ยุคพุทธกาลมาจนถึงยุคต้นสุวรรณภูมิราว พ.ศ.300-400

เตาถลุงเหล็กที่ลี้ เป็นเตารูปวงกลม กระจายตัวเรียงรายกันหลายวง เมื่อถลุงเหล็กเสร็จหนึ่งครั้ง หลังจากได้ผลผลิตแล้ว ก็จะมีการสร้างเตาใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการขยายเตาถลุงเหล็กไปทางราบ ไม่ทำเตาทับซ้อนกัน

พฤติกรรมของการถลุงเหล็กที่ลี้เมื่อสองพันกว่าปีก่อนเช่นนี้ มีลักษณะคล้ายกับชาวอินเดีย กล่าวคือ เลือกสถานที่ถลุงเหล็กในป่าห่างไกลชุมชนหมู่บ้าน และเมื่อถลุงเสร็จจากแหล่งหนึ่งก็ย้ายเตาไปทำที่อื่นอีก ถือเป็นโชคดีที่เหลือหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ในขณะที่เตาถลุงเหล็กของทางบ้านโฮ่ง มีอายุน้อยกว่าลี้ อายุห่างกันราว 500 ปี รูปแบบของเตาเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง คือใช้สถานที่ถลุงเหล็กจุดเดิม ไม่เคลื่อนย้ายไปที่อื่น

เราจึงพบแหล่งเตาถลุงเหล็กจำนวนไม่มากนักที่บ้านโฮ่ง เนื่องจากพวกเขามีวิธีการทำเหล็กที่ล้ำหน้าขึ้น สามารถแยกเศษตะกรัน (Slag) ให้ไหลมาหลอมรวมกันอยู่ในจุดเดียวได้ ไม่กระจายเลอะเทอะ จึงไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปสร้างแหล่งเตาใหม่เรื่อยๆ แบบลี้

สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อว่า เตาถลุงเหล็กทั้งสองแหล่งนี้ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร สร้างผลผลิตเหล็กในรูปแบบไหน และส่งขายใคร? •