เหรียญรุ่นแรก-ผูกพัทธสีมา หลวงพ่อช่อ วัดโคกเกตุ พระเกจิชื่อก้องอัมพวา

“หลวงพ่อช่อ ปัญญาทีโป” วัดโคกเกตุบุญญศิริ ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิศิษย์สืบสายธรรมจากหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม และหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิด และโด่งดังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวอัมพวา ล้วนนับถือเลื่อมใส

วัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงมาก คือ เหรียญหลวงพ่อช่อ รุ่นแรก

เหรียญหลวงพ่อช่อ รุ่นแรก

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2513 เพื่อเป็นที่ระลึกผู้ที่บริจาคสร้างเสนาสนะ มีเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แบ่งออกเป็นเหรียญกะไหล่ทองและเหรียญรมดำ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูสังวรานุโยค วัดโคกเกตุ”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ลาภผลพูนทวี ๒๕๑๓”

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหรียญที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือ เหรียญรุ่นผูกพัทธสีมา สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2519 ที่ระลึกผู้ที่บริจาคในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างรวมกันราว 20,000 เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อช่อ รุ่นผูกพัทธสีมา

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม มีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูสังวรานุโยค”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ด้านบนของเหรียญ มีอักขระยันต์ใต้ยันต์ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาวัดโคกเกตุ ๒๕๑๙”

กล่าวได้ว่า พระเครื่องล้วนมีประสบการณ์ไม่ธรรมดา ได้รับความนิยมอย่างสูง

 

มีนามเดิมว่า ช่อ มุสสะ พื้นเพเป็นชาวเมืองเพชร เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2460 ที่บ้าน ต.บางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี

พ.ศ.2482 ท่านมีอายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดกุฏิบางเค็ม ต.บางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี วันที่ 28 เมษายน 2482 มีหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์หงส์ วัดกุฏิบางเค็ม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อชื่น วัดโพธิ์บางเค็ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ปัญญาทีโป

อยู่จำพรรษาที่วัดกุฏิเค็ม เพื่อศึกษากัมมัฏฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม จากนั้น จึงเดินทางไปศึกษาวิชากับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

พ.ศ.2495 พระอธิการวงศ์ นวลจันทร์ เจ้าอาวาสวัดโคกเกตุ มรณภาพลง วัดไม่สามารถหาเจ้าอาวาสมาดำรงตำแหน่งแทนได้ เนื่องด้วยในสมัยนั้นวัดโคกเกตุเป็นวัดเล็ก ที่มีอุโบสถสร้างด้วยไม้ผุพังและมีน้ำท่วมทุกปี

พระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่จึงมีบัญชาแต่งตั้งหลวงพ่อช่อ ให้ไปครองวัดโคกเกตุ

หลวงพ่อช่อ ปัญญาทีโป

วัดโคกเกตุบุญญศิริ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ใน ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

เริ่มก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ.2440 ภายในวัดมีต้นเกดใหญ่อยู่บนโคก จึงชื่อว่า “วัดโคกเกตุ” โดยพระอธิการบุญมี สายทอง เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างและได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นวัดในปีเดียวกัน

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและผูกพัทธสีมาอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ.2445 อุโบสถได้ก่อสร้างมาแล้ว 3 หลัง ตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างวัด ต่อมาได้ทรุดโทรมไป จึงสร้างใหม่ในสมัยพระอธิการวงศ์ นวลจันทร์ เป็นเจ้าอาวาส และขอวิสุงคามสีมา ผูกพัทธสีมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2478

อุโบสถหลังที่ 3 สมัยหลวงพ่อช่อ เมื่อปี พ.ศ.2519 วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดมา โดยเฉพาะในสมัยพระครูใบฎีกาช่อ หรือพระครูสังวรานุโยค

สิ่งสำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยคู่มากับวัด กุฏิสงฆ์ทรงไทย สำนักชีเกตุสันตินารี ซึ่งหลวงพ่อช่อเป็นผู้บริจาคปัจจัยส่วนตัว ซื้อที่ดินให้ วัดนี้พระยังพายเรือบิณฑบาตอยู่ เพราะหน้าวัดติดกับคลองขุดตากล่อม จึงมีพระบิณฑบาตทั้งทางบกและทางน้ำ

เมื่อหลวงพ่อช่อได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัด ซึ่งท่านขึ้นชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่ง ท่านจึงพัฒนาวัด โดยมีคณะศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาช่วยกันอีกแรงหนึ่ง

หลวงพ่อช่อปรับพื้นดินบริเวณวัดที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังทุกปี ให้เป็นที่สูงพ้นน้ำ และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ 4 มุก 2 ชั้น ในปี พ.ศ.2519 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านบาทเศษ

โดยเงินที่นำมาจัดสร้างทุกบาททุกสตางค์ ไม่เคยเรี่ยไร มาจากความศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนทั้งสิ้น

นอกจากจะพัฒนาวัดโคกเกตุจนเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังสร้างวัดบ้านกล้วย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ควบคู่ไปด้วย

พ.ศ.2512 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูสังวรานุโยค

ปกครองวัดเรื่อยมา จนถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551

สิริอายุ 91 ปี พรรษา 69 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]