เชื่อหรือไม่ (3) | ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

ลางร้ายมาเป็นชุดก็มี โดยเฉพาะ ‘ลางก่อนยกทัพ’ ที่เกิดเหตุผิดปกติกับสัตว์ เสียง และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น สายรุ้ง ฟ้าผ่า ลมพายุ ฯลฯ ในวรรณคดีลางร้ายเกิดได้ไม่จำกัด ไม่ว่าตัวละครเป็นคนหรือยักษ์ เป็นกษัตริย์ ขุนนาง หรือนักบวช

คนไทยเชื่อว่า นกแสก แร้ง กา เหยี่ยว เป็นสัตว์ปีกที่บอกเหตุอัปมงคลได้พอๆ กัน โดยเฉพาะนกแสก มักไม่ชอบอยู่ใกล้คนหรือที่อาศัยของคน ‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 2 ว่า

“นกแสกเป็นนกออกหากินในเวลากลางคืน มักส่งเสียงร้อง ‘แซ้ก’ โบราณถือกันว่าบ้านใครมีคนเจ็บอาการหนัก ถ้านกแสกบินข้ามหลังคาร้อง ‘แซ้ก’ ไป คนเจ็บนั้นจะตายไม่มีการรอด ว่ากันว่าสิ้นใจในคืนนั้นเอง”

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตัวละครที่ถูกนกแสกเล่นงานคือ ท้าวกรุงกาฬ และเถนขวาด เป็นชาวเหนือทั้งคู่ รายแรกนั้นพิเศษตรงที่เกิดสามัคคีชุมนุมสัตว์ปีก

“ขาขยับไสช้างพอย่างกราย เห็นลูกนกตกตายลงต่อหน้า

นกแสกแถกเสียดศีรษะมา แร้งกาบินจับสัปทน

วันนั้นท้าวกรุงกาฬสะท้านจิต โอ้ชีวิตกูนี้คงปี้ป่น

จำใจได้ฤกษ์ให้เลิกพล ขานโห่สามหนแล้วยกไป”

ส่วนเถนขวาดก่อนไปสู้กับพลายชุมพล กวีบรรยายว่า หลังจากแต่งกายครบทั้งอาวุธและเครื่องรางของขลังก็เจอดี

“จับไม้เท้าก้าวเยื้องขยับกาย เห็นจิ้งจกตกตายลงตรงหน้า

นกแสกแถกเสียดศีรษะมา หลวงตานิ่งขึงตะลึงคิด”

ยังไม่ทันออกเดินทาง มีสัตว์ตกลงมาตายต่อหน้า ท้าวกรุงกาฬนอกจากลางลูกนกและนกแสก ยังมี ‘แร้งกาบินจับสัปทน’ (หรือร่มผ้ามีระบายรอบ คันยาว เป็นเครื่องแสดงยศขุนนางโบราณสูงกว่าพระยา) นึกถึงภาพร่มดังกล่าวมีทั้งแร้งและกา น่าสยองไม่น้อย

 

สัตว์ปีกอัปมงคลยังปรากฏในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่สอง ตอนอวสานกุมภกรรณและอินทรชิต น้องและลูกของทศกัณฐ์

“สัตว์สิงวิ่งตัดหน้าฉาน ลางบันดาลหลากตาปรากฏ

กาเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบเอางอนรถ กุมภกรรณรันทดท้อฤทัย”

กรณีอินทรชิต งอนราชรถทรงเป็นเป้าหมายเช่นกัน แต่ร้ายกว่าตรงที่ประชิดตัว จู่โจมกรรเจียกจอนหรือเครื่องประดับหูผู้เป็นจอมทัพ

“ครั้นออกนอกกำแพงพารา เป็นลางร้ายแร้งกาว้าว่อน

บ้างโฉบฉาบคาบจิกกรรเจียรจอน บ้างเฉี่ยวงอนรถทรงธงชัย

สารพัดอัศจรรย์หวั่นจิต น่าที่ชีวิตจะตักษัย”

 

พระยายักษ์กาลเนตรในเรื่อง “สิงหไตรภพ” ก่อนไปทำศึกกับพระรามวงศ์ เห็นบรรดาสัตว์ปีกบินว่อนเต็มสองตา

“แต่พอออกนอกกำแพงสิ้นแรงเรี่ยว เห็นกาเหยี่ยวแร้งร่อนว่อนไสว”

นอกจากนี้ยังมีสารพัดเสียงผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็น เสียงโห่ร้องของไพร่พลและเสียงดนตรีเคลื่อนพลที่น่าจะกึกก้องฮึกเหิม กลับโหยหวนเยือกเย็นราวเสียงร่ำไห้

“เสียงโห่ทั้งสังข์แตรปรวนแปรไป เหมือนร้องไห้แซ่ซ้องสยองเย็น”

เสียงผิดปกติเช่นนี้ใช่จะเกิดเฉพาะท้าวกาลเนตร ยังเกิดแก่กุมภกรรณ

“เสียงโห่โยธาอยู่หน้าทัพ ฟังสำเนียงเสียงกลับเหมือนร้องไห้”

ก็รู้ว่าชีวันจะบรรลัย แต่มานะหักใจไคลคลา”

แม้ท้าวกรุงกาฬก็ไม่เว้น

“ทั้งเสียงโห่ก็ไม่ก้องให้หมองใจ สะทึกสะท้อนถอนฤทัยมาในดง”

พระยายักษ์กาลเนตรในเรื่อง “สิงหไตรภพ” เสียงที่เกิดขึ้นมิใช่แค่กระทบใจ แต่กระทบกายอย่างจัง

ดังตอนที่ทหารทูลว่ากองทัพเสียที ‘เห็นยักษ์ยับแยกย้ายตายหนักหนา’ พระองค์โกรธจัดผลุนผลันจะไปแก้สถานการณ์ คว้าอะไรได้ก็กวัดแกว่งแผลงฤทธิ์ทำให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน

“โมโหมาหาอะไรก็ไม่ทัน ฉวยฉุดคันกล้องแกว่งแผลงศักดา

พอดังเปรี้ยงเสียงตรงที่มงกุฎ กระเด็นหลุดจากศีรษะเซถลา

หกล้มผลุงฝูงสุรางค์นางพระยา พยุงมาแท่นรัตน์นวดพัดวี”

พลันบังเกิดเสียงร้องห้ามท่ามกลางสายรุ้งเบื้องหน้าท้าวกาลเนตร

“เป็นสายรุ้งพุ่งลงที่ตรงพักตร์ เสื้อเมืองยักษ์หญิงแก่ให้แลเห็น

ร้องห้ามว่าอย่าไปนะศีรษะกระเด็น แล้วกลับเป็นลมลับวับวิญญา”

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นลางร้าย เช่น สายฟ้าผ่าต้องราชรถพัง ม้าตายคาที่ ดังกรณีของพระรามวงศ์ในวรรณคดีเรื่องเดียวกัน

“บังเกิดลางกลางโพยมครึกโครมครื้น เมฆทะมึนมืดมิดทุกทิศา

เป็นเปลวปลาบวาบพรายพร่างสายตา พอฟ้าผ่าเปรี้ยงลงถูกกงรถ

เรือนปะแหรกแตกกระจายข้างท้ายหัก อาชาชักฉีกตลอดม้วยมอดหมด

พระรามวงศ์ทรงยืนยอดบรรพต ให้องค์สั่นรันทดสลดใจ”

 

ลางร้ายหาได้เกิดแก่ตัวละครในวรรณคดีเท่านั้นไม่ แม้บุคคลในประวัติศาสตร์ก็มีกล่าวถึง ดังจะเห็นได้จากลางร้ายของพระมหาอุปราชาขณะทรงช้างนำทัพไปถึงตำบลพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ว่า เกิดลมเวรัมภาพัดฉัตรของพระมหาอุปราชาหักไว้ใน “ลิลิตตะเลงพ่าย” ดังนี้

“เกิดเป็นหมอกมืดห้อง เวหา หนเฮย

ลมชื่อเวรัมภา พัดคลุ้ม

หวนหอบหักฉัตรา คชขาด ลงแฮ

แลธุลีกลัดกลุ้ม เกลื่อนเพี้ยงจักรผัน”

เหตุการณ์สอดคล้องกับ “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่บันทึกว่า

“… รุ่งขึ้นพระมหาอุปราชาก็เสด็จกรีธาทัพหลวงมาโดยมารควิถี ถึงตำบลพนมทวนเพลาชายแล้ว 3 นาฬิกา บังเกิดวายุเวรัมภวาตพัดหวนหอบธุลีฟุ้งผันเป็นกงจักร กระทบถูกพระมหาเศวตฉัตรซึ่งกั้นมาหลังพระคชาธารนั้นพับลง…”

‘เวรัมภา’ หรือ ‘เวรัมภวาต’ คือลมที่พัดหมุนด้วยอำนาจเวรกรรม เป็นพายุร้ายพัดบ้านเรือนและต้นไม้ให้ทลายราบเป็นแถบๆ

‘ลางร้าย’ เชื่อหรือไม่ เชิญไตร่ตรอง •