ปี 2023 กับภัยโซเชียลมีเดียใหม่ๆ ที่รอเราอยู่ | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การใช้งานโซเชียลมีเดียของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่เรามีแนวโน้มที่จะสลับไปสลับมาเรื่อยๆ

ตัวเลขสถิติจากในปี 2021 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนคนหนึ่งจะใช้งานโซเชียลมีเดียประมาณ 6.6 แพลตฟอร์ม จะเป็นแพลตฟอร์มอะไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram Tiwtter TikTok ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงแอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่เราใช้เป็นประจำด้วย

ตัวเลขสถิติการใช้งานบริการต่างๆ เหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีโดยที่ตัวเลือกแทบจะไม่เคยน้อยลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สมมุติว่าปีหน้าเราอยากใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มอีกสักเจ้า สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็อย่างเช่น

1. แบ่งเวลาในการใช้งานเฉลี่ยแต่ละแพลตฟอร์มให้น้อยลงเพื่อจัดสรรพื้นที่ให้โซเชียลมีเดียใหม่ได้เบียดตัวแทรกเข้ามา

หรือ 2. เพิ่มเวลาการใช้งานโดยรวมทั้งหมดขึ้นแล้วไปลดเวลาจากกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตแทน อย่างการทำงาน การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือการนอน

ทำให้ฉันนึกถึงคำกล่าวยอดฮิตของ Reed Hastings ผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ที่เคยพูดไว้ว่า เวลา Netflix มีหนังหรือซีรีส์ใหม่ๆ ที่เรากระเหี้ยนกระหือรือจะดู เราก็มักจะลงเอยด้วยการนอนดึกเสมอ

ดังนั้น ศัตรูของ Netflix ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเวลานอนของคนนี่แหละ

Hacker Spyware Cybercrime Phishing Fraud Concept

ในเมื่อเราใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเป็นจำนวนชั่วโมงที่สูงขึ้น สิ่งที่จะตามติดตัวมาเป็นดั่งเงาก็คือภัยทางโซเชียลมีเดีย

แฮ็กเกอร์สมัยใหม่ศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างถ่องแท้จนน่าขนลุก บางภัยที่ฉันเห็นญาติๆ ส่งเตือนกันผ่านทางกรุ๊ป LINE นั้นดูเป็นภัยที่ปรับตัวให้เข้ากับการใช้งานสมัยใหม่อย่างแนบเนียน

อย่างภัยล่าสุดที่เตือนกันว่าไม่ให้ดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ LINE ฟรีนั้นก็ทำให้ฉันได้เห็นว่ามิจฉาชีพเดี๋ยวนี้ปรับตัวด้วยทำภาพเลียนแบบให้เหมือนเวลาที่เราได้รับของขวัญเป็นสติ๊กเกอร์ LINE แถมมีสิ่งที่ดูเหมือนปุ่มให้กดดาวน์โหลดได้ด้วย

หากดูผิวเผินแบบไม่ได้พิจารณารายละเอียดให้ชัดเจน บวกกับการถูกเร้าด้วยคำพาดหัวว่า ‘ของขวัญฟรี’ นิ้วก็อาจจะคลิกปุ่มปลอมนั้นไปแล้วแบบไม่รู้ตัว

นอกจากภัยที่อยู่มานานแสนนาน อย่างเช่น Phishing ที่แฮ็กเกอร์ส่งอีเมลหรือข้อความมาทางโซเชียลมีเดียปลอมตัวให้เรานึกว่ามาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและคลิกลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอมที่มีมัลแวร์หรือสปายแวร์คลานยัวะเยียะ ก็ยังมีภัยโซเชียลมีเดียอีกหลายรูปแบบที่เราจะต้องตั้งรับกันต่อไปในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง

Affiliate scams เป็นสิ่งที่ทำให้แฮ็กเกอร์บนโซเชียลมีเดียหารายได้เข้ากระเป๋าได้ง่ายๆ เพียงแค่สร้างโพสต์ที่เป็นโฆษณาปลอมบนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Instagram แล้วฝังลิงก์ที่เป็นภัยเอาไว้ด้วย เมื่อเหยื่อเผลอคลิก โพสต์ปลอมนั้นๆ ก็จะพาเหยื่อไปยังเว็บไซต์ที่จะขอให้เหยื่อป้อนข้อมูลส่วนตัวอย่างอีเมล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ โดยหลอกล่อว่าเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับโปรโมชั่นพิเศษบางอย่าง

สิ่งที่แฮ็กเกอร์จะได้ก็คือการนำข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ไปใช้เพื่อขายให้กับบริษัทใดๆ ก็ตามที่อยากจะเพิ่มยอดทราฟิกหรือจำนวนคนที่เข้าเว็บไซต์ของบริษัทตัวเอง

ทางเดียวที่เหยื่อจะรู้ตัวก็คือเมื่อสังเกตว่าโปรโมชั่นพิเศษที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ หรือไม่มีการตอบกลับจากเจ้าของโพสต์สักที ซึ่งฉันก็เชื่อว่าในหลายกรณีเหยื่ออาจจะไม่มีวันรู้ตัวเลย

Fake giveaways หรือการแจกของฟรีก็คล้ายๆ กับ Affiliate scams แต่แตกต่างกันตรงที่แฮ็กเกอร์ไม่ต้องรอคนกลางอย่างบริษัทต่างๆ ที่จะมาซื้อข้อมูล แต่หยิบฉวยเงินจากกระเป๋าเหยื่อส่งตรงเข้ากระเป๋าตัวเองได้เลย

แฮ็กเกอร์จะเริ่มจากการปลอมตัวเป็นแบรนด์ใหญ่หรือบริษัทใหญ่ที่น่าเชื่อถือ และโพสต์การแข่งขันหรือการแจกรางวัลบนโซเชียลมีเดียเพื่อล่อให้คนคลิกไปที่เว็บไซต์อันตรายของตัวเอง เมื่อเข้าไปแล้วก็อาจจะใช้มัลแวร์ในการล้วงข้อมูลธนาคาร อีเมล หรือข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

Catfishing เป็นภัยที่คนบนโซเชียลมีเดียเจอกันมาสักพักแล้วแต่รูปแบบของมันกำลังซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดของการทำ Catfishing คือการที่แฮ็กเกอร์สร้างโปรไฟล์ออนไลน์ปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกให้เหยื่อคิดว่าตัวเองคือคนในภาพนั้นจริงๆ ส่วนใหญ่จะใช้เยอะในบริบทของการหลอกให้เหยื่อหลงรักแล้วเปย์ให้ไม่รู้จบ

เมื่อเราสร้างโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของเราเองขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนช่องทางใหม่ๆ อย่างเช่น TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ดันให้เกิดดาวดวงใหม่มาแล้วมากมาย เราก็จะคาดหวังว่าสักวันมันอาจเปลี่ยนจากงานอดิเรกกลายเป็นงานประจำให้เราในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีรายได้ล่ำสันในอนาคต สิ่งที่เราจะอยากได้มากที่สุดก็มักจะเป็นตัวเลขผู้ติดตามเยอะๆ ใช่ไหมคะ เพราะนี่คือเครื่องบ่งชี้ว่าโซเชียลมีเดียของเราประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดตามที่มากขึ้นก็ไม่จำเป็นว่าผู้ติดตามของเราจะเป็นคนที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อจริงๆ เพราะนี่อาจจะเป็น ‘Fake followers’ หรือผู้ติดตามปลอมที่แฮ็กเกอร์สร้างขึ้นมา โปรไฟล์ปลอมเหล่านี้จะกดติดตามเหยื่อบนโซเชียลมีเดียเพื่อรอจังหวะที่จะส่งอีเมลหรือข้อความประเภท phishing เข้าไปให้เหยื่อและหลอกเก็บข้อมูลส่วนตัวไปขายทอดต่อในเว็บมืด

อีกภัยหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันก็คือ Identity Theft ซึ่งก็คือโจรขโมยตัวตนที่จะดูดรูปภาพและข้อมูลของเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อที่แชร์ภาพส่วนตัวและข้อมูลส่วนตัวเยอะๆ ก็จะทำให้แฮ็กเกอร์ได้ข้อมูลมากพอที่จะนำไปสร้างตัวตนปลอมขึ้นมา ตัวตนปลอมเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องอยู่บนโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากได้ข้อมูลที่เพียงพอ แฮ็กเกอร์ก็จะสามารถนำไปใช้งานในชีวิตจริงได้ อย่างเช่น ใช้เพื่อเปิดบัญชีธนาคารและขอสินเชื่อ รู้ตัวอีกทีเหยื่อก็อาจจะได้รับใบแจ้งหนี้มากมายก่ายกองสำหรับของที่ตัวเองไม่เคยซื้อเลย

Cyberstalking เป็นอีกภัยที่อาจจะงอกมาจากการอยู่บนโซเชียลมีเดีย ฉันก็มีประสบการณ์เรื่องนี้อยู่ไม่น้อยและยังคงมีอยู่เรื่อยๆ บางวันตื่นนอนมาตอนเช้า คว้ามือถือมาเช็กดูก็จะเห็นการแจ้งเตือนที่ยาวเป็นหางว่าว โดยที่พรีวิวของคำแจ้งเตือนเหล่านั้นก็คือการด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ข่มขู่ใช้ความรุนแรงสลับแสดงความรัก ไปจนถึงการลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของสิ่งที่ฉันเคยแชร์เอาไว้ อย่างเช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของฉันในแต่ละวัน หรือสถานที่ที่ฉันไป และทุกครั้งที่กดบล็อกก็จะมีแอ็กเคาต์ใหม่งอกขึ้นมาไม่มีวันหมด ถึงแม้ว่าฟีเจอร์ของโซเชียลมีเดียจะช่วยป้องกันแอ็กเคาต์ปลอมที่คนเหล่านี้สร้างขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

ถึงภัยโซเชียลจะเกิดใหม่หลายรูปแบบแต่แนวคิดการป้องกันก็ยังคงใช้หลักการเดิมได้ อย่างการไม่แชร์ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป เปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ ไม่รับไม่คลิกอะไรจากคนแปลกหน้า (หรือคนคุ้นหน้าที่พฤติกรรมแปลกไป) สร้างนิสัยระแวงทุกครั้งที่เห็นการแจกของฟรีบนโซเชียลมีเดีย

หรืออาจจะลองพิจารณาลดการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลงเหลือเท่าที่จำเป็นซึ่งนอกจากจะทำให้เราเสี่ยงถูกหลอกน้อยลงแล้วก็น่าจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ด้วย