คุยกับทูต | วิลเฮ็ล์ม ด็องโค : บทบาทของนักเขียน-นักการทูตออสเตรีย (จบ)

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของออสเตรียในภูมิภาคเอเชีย เราดำรงความสัมพันธ์ฉันมิตรมาเป็นเวลายาวนานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในสถาบันพหุภาคี เช่น องค์การสหประชาชาติ และไม่เพียงแต่ร่วมมือกันในระหว่างรัฐของเราเท่านั้น แต่ยังอยู่ในรูปแบบระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนด้วย”

มาถึงวันนี้ นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยได้ราวแปดเดือนแล้ว

นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย

เป้าหมายที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ

“ผมคิดว่างานที่เฉพาะเจาะจงและไม่เหมือนใครนี้ การกำหนดเป้าหมายหรือตัวเลขบางอย่างอาจไม่เป็นประโยชน์เสมอไป เป้าหมายโดยรวมของผมคือการเป็นตัวแทนของออสเตรียในประเทศไทยอย่างดีที่สุด แม้ผมยังค่อนข้างใหม่สำหรับที่นี่ แต่จะทำให้ดีที่สุดเพื่อเสริมสร้างและปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกด้าน”

“เรื่องที่ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือให้การสนับสนุนชุมชนชาวออสเตรียที่นี่อย่างแข็งขัน การปรับปรุงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปของเรา ซึ่งก็มีพัฒนาการอย่างดีมากมาโดยตลอด บริษัทออสเตรียเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ประมาณ 100 ราย โดยบริษัทหนึ่งในสี่ได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เอื้ออำนวยสำหรับการลงทุนและมีโรงงานผลิตหลายแห่งในประเทศไทย”

“ที่ปรึกษาด้านการค้าของเราประมาณการว่า ปัจจุบัน บริษัทออสเตรียในประเทศไทยจัดหางานโดยตรง (Direct Labor) สำหรับแรงงานไทยระหว่าง 12,000 ถึง 20,000 คน และทางอ้อม (Indirect Labor) อีกมากมาย”

กับบุตรชายและบุตรสาว

ประสบการณ์เมื่อครั้งมาเยือนประเทศไทยในอดีต

“เรามาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว และมีความสุขสนุกสนานทุกครั้งที่ได้มาเยือน ผมได้พูดไปแล้วถึงอุตสาหกรรมบริการของที่นี่ซึ่งได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี ผู้คนที่ล้วนแล้วแต่มีความเป็นมิตรอย่างน่าอัศจรรย์ รวมถึงรอยยิ้มของคนไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก”

“เรามีลูกสองคน ลูกชายชื่อวิลเฮ็ล์ม (Wilhelm) เกิดในปี 1993 และลูกสาวชื่อ แคทเธอรีนา (Katharina) เกิดในปี 1998 ตอนที่มาประจำเอเชียตะวันออก พวกเขายังเป็นเด็ก เรามักใช้เวลาในวันหยุดที่ประเทศไทยหลายครั้งและไม่เคยผิดหวัง”

งานเลี้ยงฉลองวันชาติออสเตรีย 26 ตุลาคม 2022

“สำหรับประสบการณ์ต่อคนไทย ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมชื่นชมเป็นพิเศษในความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด มักจะไม่ค่อยจริงจังมากมายนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น”

“นอกจากนี้ หากบางอย่างไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ก็มักจะไม่เกิดความขัดแย้งให้เป็นปัญหาหรือแสดงอารมณ์เกินจริง แต่จะมีรอยยิ้มแทนคำปฏิเสธแล้วกล่าวอย่างเป็นมิตรว่า ขอโทษ พรุ่งนี้ก็ได้”

ประเทศไทยมักเป็นหนึ่งในรายชื่อของประเทศต่างๆ ที่ได้รับการโหวตหรือจัดอันดับในเรื่องต่างๆ จากสื่อ นักลงทุน และนักเดินทางจากทุกมุมโลก นอกจากจะเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในจำนวนประเทศที่น่าลงทุนอีกด้วย

ไทยแลนด์ คือ สยามเมืองยิ้ม (LAND OF SMILE) คนไทยไม่ว่าภาคไหนก็จะมีรอยยิ้มที่จริงใจ มีคำทักทาย “สวัสดี”, “ขอบคุณ” นำพาชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยให้เดินทางมาท่องเที่ยวและพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยเหตุผลนานาประการ

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจเป็นพิเศษนั้น

“ผมได้เยือนไทยมาแล้วทุกภาคจนแทบจะไม่สามารถกำหนดสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่นชอบได้ บางทีที่ใกล้ๆ ก็คือพัทยาซึ่งเราไปบ่อยมากในช่วงวันหยุดกับครอบครัว แต่ตอนนี้ผมอยู่ในกรุงเทพฯ ก็อาจจะพูดว่า ที่สาทร ซอย 1 เพราะบ้านพักอยู่ที่นี่ ข้อสำคัญ ผมชอบย่านนี้มาก”

จำนวนชาวออสเตรียที่อยู่ในประเทศไทย

“นี่เป็นคำถามที่ยากมาก เราสนับสนุนให้พลเมืองของเราลงทะเบียนที่สถานทูต แต่ไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ เราคาดว่าประมาณ 3,000 คนหรือมากกว่านั้นอาศัยอยู่ที่นี่ เราจะได้รับรู้ต่อเมื่อเขากำลังได้รับความเดือดร้อน หรือมาที่สถานทูตเพียงเพื่อขอเอกสารทางกฎหมายบางฉบับ จึงทำให้เราทราบว่าพวกเขามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย บางคนอยู่มาหลายปีแล้ว แต่สถานทูตไม่มีข้อมูล บางคนอยู่ในประเทศไทย 2-3 เดือนต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ส่วนช่วงเวลาที่เหลือของปีก็จะกลับไปอยู่ในออสเตรีย คำถามจึงยังคงมีอยู่ว่า คุณจะเรียกพวกเขาว่า นักท่องเที่ยว หรือผู้อยู่อาศัย”

“นอกจากนี้ โควิด-19 ก็ได้ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เพราะหลายคนไม่สามารถเดินทางได้อีกต่อไป ในขณะที่อีกหลายคนจะกลับมาที่นี่ในช่วงฤดูหนาวนี้”

งานเลี้ยงฉลองวันชาติออสเตรีย 26 ตุลาคม 2022

ส่วนความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะเอกอัครราชทูตจนถึงปัจจุบัน

“โดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรีย-ไทยนั้นกำลังพัฒนาไปได้ดี ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาทำงานกับทีมที่ยอดเยี่ยมอย่างมืออาชีพของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย”

“โดยส่วนตัวแล้ว การที่ผมไม่ได้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่มาถึงกรุงเทพฯ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของผม แม้ว่าผมจะรักอาหารไทย แถมมีร้านอาหารไทยรสเด็ดให้เลือกอยู่มากมายไม่รู้เบื่อ และผมก็ชอบอาหารญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก็มีคนมาบอกว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 2,800 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ชีวิตผมในกรุงเทพฯ นั้นยุ่งมาก จนดูเหมือนว่า จะชดเชยแคลอรีที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย Amazing Thailand!”

“อย่างไรก็ตาม ปีเกิดของผมคือ 1960 และกรุงเทพมหานครคือโพสต์สุดท้ายของผม นั่นคือ ผมจะเกษียณตอนอายุ 65 ปี”

ดังนั้น หลังเกษียณอายุราชการ ก็คงจะมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นสำหรับครอบครัว และงานอดิเรกที่ท่านรัก เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มต่อไปของท่านทูตวิลเฮ็ล์ม ด็องโค และภาพเขียนชิ้นต่อไปของมาดาม หยาน ด็องโค คงจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับประเทศไทยบ้าง ไม่มากก็น้อย •

นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย

ประวัติ

นายวิลเฮ็ล์ม ด็องโค

(Wilhelm Maximilian Donko)

เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย

เขตอาณาครอบคลุม : กัมพูชา | ลาว | พม่า |

เกิด : 16 มีนาคม 1960 ในเมืองลินซ์ (Linz) ออสเตรีย

สถานภาพ : สมรสกับนางหยาน ด็องโค มีบุตรและธิดาสองคน

การศึกษา

1987 : ปริญญาโท (ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์) มหาวิทยาลัยซาลส์บูร์ก ( University of Salzburg)

1988-1990 : บัณฑิตศึกษา (ประวัติศาสตร์); มหาวิทยาลัยโตเกียว/โทได (University of Tokyo/ Todai)

ประสบการณ์

1990 : สอบเข้าเป็นนักการทูต กระทรวงต่างประเทศ ออสเตรีย

1990-1992 : กระทรวงต่างประเทศ ออสเตรีย (Department of Disarmament and Arms Control)

1992 : สถานทูตออสเตรีย กรุงแอลเจียร์

1992-1993 : กระทรวงต่างประเทศออสเตรีย (Department of European Integration/EEA / EU Membership Negotiations)

1993-1997 : สถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย กรุงมอสโก – เลขานุการเอกและผู้ช่วยทูตด้านสารนิเทศ (1996)

1997-2001 : สถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย กรุงอังการา – อัครราชทูตที่ปรึกษา (รองหัวหน้าคณะผู้แทน)

2001-2003 : กระทรวงต่างประเทศออสเตรีย – อัครราชทูต (Head of Section South – and Southeast Asia in the Department of East Asia/Oceania)

2003-2005 : กระทรวงต่างประเทศออสเตรีย – อัครราชทูต (Head of Section Northeast Asia and Oceania in the Department of East Asia/Oceania)

2005-2009 : เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

2009-2013 : เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

2013-2017 : กระทรวงต่างประเทศออสเตรีย – อัครราชทูต (Head of Section Northeast Asia and Oceania in the Department of East Asia/Oceania)

2017-2022 : เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย กรุงออสโล

เมษายน 2022-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย กรุงเทพฯ

คุยกับทูต | วิลเฮ็ล์ม ด็องโค บทบาทของนักเขียน-นักการทูตออสเตรีย (1)

คุยกับทูต | วิลเฮ็ล์ม ด็องโค บทบาทของนักเขียน-นักการทูตออสเตรีย (2)

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]