ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
เผยแพร่ |
อลเวงลิขสิทธิ์ยิงสดบอลโลก เรื้อรัง 8 ปีสู่บทเรียนราคาแพง
อลเวงตั้งแต่ยังไม่เริ่ม จนกระทั่งเริ่มไปแล้ว ยังวุ่นวายไม่เลิก สำหรับการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัญหาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปีนับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 เป็นต้นมา…
จุดเริ่มต้นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในไทย เกิดขึ้นเมื่อในฟุตบอลโลก 1990 โดย โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านฟรีทีวี แต่จากนั้นในฟุตบอลโลก 1998 บริษัทเอกชนอย่าง บริษัท ทศภาค จำกัด เข้ามาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ก่อนกระจายไปยังช่องฟรีทีวี
ถัดมา บริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อลิขสิทธิ์ต่อเนื่อง 2 สมัย ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 และ 2014 พร้อมกับการเกิดขึ้นของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความอลเวง…
“เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บมจ.อาร์ เอส ออกกล่อง Sunbox ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 และเตรียมจำหน่ายในราคากล่องละ 1,590 บาท แต่โดนกระแสต่อต้านจากแฟนบอล เนื่องจากที่ผ่านมาได้ชมผ่านฟรีทีวีครบ 64 นัด
ทันใดนั้น กสทช.ออกกฎ Must Have และ Must Carry เพื่อให้อาร์เอสถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ผ่านฟรีทีวีครบ 64 นัด จนต้องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และออกคำสั่งคุ้มครอง ทำให้ กสทช.ต้องนำเงินมาจ่ายชดเชยให้กับอาร์เอส 427 ล้านบาท แต่อาร์เอสก็ยังขาดทุนอยู่ดี
ฟุตบอลโลก 2014 ผ่านพ้นไป พร้อมกับความบอบช้ำของเฮียฮ้อ และอาร์เอส รวมทั้งภาคเอกชนต่างๆ ที่ไม่กล้าลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งต่อไปในปี 2018 ทำให้ภาครัฐต้องระดมทุนหาเงินจากภาคเอกชน เพื่อนำมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันครั้งนั้น…
การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ในไทยลงตัวที่ 9 บริษัทเอกชนลงขันกันในวงเงินรวม 1,400 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด
ทำให้คนไทยได้ชมสดฟุตบอลโลกกันแบบฟรีๆ ต่อเนื่องอีกครั้ง
ช่วงเวลาผ่านมาจนถึงล่าสุดในฟุตบอลโลก 2022 ภาคเอกชนไทยก็ไม่กล้าลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกันแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19 ด้วย ทำให้กลายเป็นความอลเวงอีกระลอกกับความคาดหวังของคนไทยที่อยากดูฟรี
“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งดำเนินการจัดการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก แต่ก็โดนโก่งราคาจากเอเย่นต์ฟีฟ่าสูงถึง 1,600 ล้านบาท
ปัญหาอยู่ที่การเจรจาต่อรองราคา จนฟีฟ่าลดให้เหลือ 1,200 ล้านบาท รวมภาษีอีก 200 ล้านบาท แต่ก็ยังมีปัญหาในการระดมทุนหาเงินจากภาคเอกชน ซึ่ง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. พร้อมทีมงาน ลุยหน้าเต็มกำลังในช่วงโค้งสุดท้าย ขณะที่ กสทช.ไฟเขียวเงิน 600 ล้านบาท กับความหวังชมฟุตบอลโลก 64 นัด
เงินส่วนที่เหลือ 700 ล้านบาทได้มาจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 300 ล้านบาท, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) 100 ล้านบาท และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท
แต่หลังจากได้เงินครบซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสำเร็จแล้ว ความอลเวงก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อเกิดปัญหาเรื่องการจัดสรรแบ่งช่องถ่ายทอดสด ซึ่งทางช่อง True4U ได้ถ่ายมากที่สุดถึง 32 ช่องผ่านฟรีทีวีทั้งหมดที่ร่วมกันยิงสด 17 ช่อง จนกลุ่มทีวีดิจิทัลออกมาเรียกร้องถึงการจัดสรรให้ลงตัว
กลุ่มทีวีดิจิทัลระบุว่า เงินจาก กสทช.ที่มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เป็นเงินที่มาจากทีวีดิจิทัลเช่นกัน ทำให้ควรจะต้องได้รับการจัดสรรช่องที่ได้จำนวนนัดมากกว่านี้ แม้ว่าทรูจะควักเงินถึง 300 ล้านบาทก็ตาม
ฟุตบอลโลก 2022 เปิดฉากฟาดแข้งไปแล้ว แต่ความอลเวงยังไม่จบสิ้น ซึ่งปัญหาของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 8 ปีจนถึงปัจจุบัน และต้นเหตุสำคัญก็เรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้จากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม
จากจุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดจากการขีดกันภาคเอกชนให้มาลงทุนกับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ กสทช. ออกกฎ Must Have และ Must Carry โดยไม่คาดคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตที่กลายเป็นความอลเวงไม่เลิกกันเลยทีเดียว
ความอลเวงทั้งหมดคงจะเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาของการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในอนาคต ซึ่งคนไทยเราก็คงต้องยอมรับ และเข้าใจให้ได้หากไม่ได้ชมฟุตบอลโลกกันแบบฟรีๆ แล้ว
เพราะทั้งหมดนี้คือเรื่องของธุรกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาลแอบแฝงอยู่… •
เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022