จดหมาย

จดหมาย

 

• รุนแรง (1)

สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ของ “กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022” บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ส่งผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ

มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่

โดยตำรวจแถลงว่ามี “ตำรวจ คฝ.” ได้รับบาดเจ็บด้วย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นว่า ปฏิบัติการของตำรวจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้าง

แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุม

กลับสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลัง

ถือเป็นการละเมิดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

เป็นการปิดปากผู้เห็นต่าง

ทั้งที่ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรงใดๆ

แต่กลับได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการกระทำของตำรวจ

ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

ดังนั้น ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน

โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้งและแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป

แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป

ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง

การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง

โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด

นางปิยนุช โคตรสาร

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

การประชุมเอเปค แม้โดยรวมจะผ่านไปได้ด้วยดี

คนไทยและรัฐบาลไทยดูจะชื่นชมในความสำเร็จ

แต่กระนั้นก็ไม่ควรละเลย “ความรุนแรง” ที่เกิดกับคนไทยบางส่วนที่ “เห็นต่าง” ด้วย

ขออ้างอิงท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ที่มีต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

“…ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่แสดงพฤติกรรมยั่วยุ หรือสร้างเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงต่อกัน

การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ คฝ. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและหลักปฏิบัติสากล

ต้องเคารพในสิทธิการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

รวมทั้งสิทธิอื่นๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

อีกทั้งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและการสูญเสียของทุกฝ่าย

กสม.จะได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบ

และเสนอมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อไป…”

• รุนแรง (2)

สักวา ประวัติศาสตร์ ราชดำเนิน

ที่ประท้วงที่เผชิญที่เกริ่นก้อง

หลายเหตุการณ์บ้านเมืองหลากเรื่องฟ้อง

แบบเรียกร้องตาต่อตาฟันต่อฟัน

ผู้ถือปืนในเครื่องแบบแนบคางยิง

โหดเหี้ยมจริงล้วนลูกไทยภัยมหันต์

พอสงบสร้างอนุสาวรีย์กัน

เหมือนแข่งขันหยันเย้ย “เคยตัว” เอย

สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ

ชูเกียรติ วรรณศูทร

 

ความรุนแรงที่ถนนดินสอ เขตพระนคร กทม.

ขณะกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 กำลังมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น

ทำให้ประวัติศาสตร์ ราชดำเนิน ที่ต่อเนื่องกับถนนดินสอ

ได้บันทึกเหตุโหด–โหดเล็กๆ?

ในความสำเร็จใหญ่ของเอเปค 2022!?! •