ท็อป นรากร เล่าเรื่อง ‘หมอลำไทย ใส่ความเกาหลี’

ธงทอง จันทรางศุ

จากความรู้สึกตกใจตอนได้รับทาบทามให้แสดง ‘ฮักเจ้าอีหลี’ ตามมาด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ลองงานใหม่ ได้แสดงภาพยนตร์ ที่ก่อนหน้านั้นคิดมาตลอดว่าไม่น่าจะมีโอกาส เพราะ “วงการหมอลำกับวงการภาพยนตร์มันก็ห่างกันอยู่” แล้วก็แปรเป็นความกังวล เพราะเกรงจะทำได้ไม่ดี เป็นภาระให้นักแสดงและทีมงานอื่นๆ

ล่าสุด ท็อป-นรากร กันจันทึก ก็ว่า หลังจากทุกอย่างผ่านพ้น และภาพยนตร์ฉายออกสู่สายตาแฟนๆ เรียบร้อย ความรู้สึกเดียวที่หลงเหลืออยู่ตอนนี้ คือ “อยากได้รับโอกาสในการแสดงอีก”

“มันสนุกสนานและแฮปปี้มาก” คือถ้อยคำที่เขาบอกพลางยิ้ม

ท็อป-นรากร กันจันทึก

ก่อนหน้าจะมาเป็นพระเอกหมอลำ ท็อปเริ่มต้นจากการเป็นนักร้อง ที่ตระเวนขึ้นเวทีประกวด เหมือนเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปดูการแสดงหมอลำก็รู้สึกชอบ ยิ่งได้มาดูซ้ำในแผ่นซีดีบันทึกการแสดงสด “ก็มีความรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ เวทีหมอลำมันใหญ่เนอะ แสง สี เขาก็เยอะ รู้สึกอยากลองไปยืนอยู่ตรงนั้นบ้าง จะเป็นยังไง”

แล้วก็ได้คำตอบใน ‘ครั้งแรก’ ว่า “ผมรู้สึกภูมิใจ”

“คนหน้าเวทีหมอลำเยอะมาก ยืนมองบนเวทีคือสุดลูกหูลูกตา เป็นภาพที่ประทับใจ แล้วยิ่งตอบโจทย์กับเรา ว่าเราเลือกไม่ผิด เพราะเรามีความสุขที่เราทำตรงนั้น”

กับวัย 28 ปี ในปัจจุบัน ท็อปบอกว่า เขารู้สึกเหมือนตนเองประสบความสำเร็จเกินคาด

“ผมมองว่าผมประสบความสำเร็จในด้านหมอลำมากๆ ทำไมผมถึงกล้าพูด ก็เพราะสิ่งที่ผมวาดหวังตอนแรก มันไม่ได้มาถึงขั้นนี้ไง”

ขั้นที่ได้เป็นพระเอกของคณะหมอลำดัง ระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งมีคิวงานเต็มชนิดแต่ละเดือนจะว่างแค่ประมาณ 2 วัน ขั้นที่มีบรรดาแฟนคลับระดับแม่ๆ คอยติดตาม แถมยังมอบพวงมาลัยน้ำใจให้ทุกครั้งที่เขาขึ้นเวที ยิ่งในช่วงวันสำคัญๆ อย่างวันเกิด

มาลัยเหล่านั้นบางครั้งก็มีมูลค่าหลักแสนบาท

 

อย่างไรก็ดี ถึงตอนนี้เขาก็ตัดสินใจลาออกจากวงที่อยู่ด้วยมานานถึง 4 ปี ด้วยเหตุผลหลักคือ อยากพัก และไปดูแลธุรกิจของครอบครัว

“หลายคนอาจจะเชื่อมโยงไป บอกผมมีปัญหากับพ่อ (เอ๊ะ ภักดี ระเบียบวาทะศิลป์) น้อยใจพ่อ มีคนซื้อตัวบ้าง มีคนยัดเงินให้บ้าง ประเด็นต่างๆ ผมไม่ตำหนิ เพราะว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและวิพากษ์วิจารณ์ แต่ว่าความเป็นจริงอยู่นี่ ผมพูดอยู่นี่ ให้ยึดความเป็นจริงของผมเป็นหลัก”

“วงระเบียบวาทะศิลป์มีงานเยอะมาก มีงานแทบทุกวัน ซึ่งผมจะมีเวลาให้แม่น้อย มีความกังวลมาตั้งนานแล้ว ว่าแม่จะอยู่ยังไง”

แม่ซึ่งทำงานหนักเพื่อดูแลเขากับน้องมาโดยตลอด

ขณะเดียวกันธุรกิจปุ๋ยและเครื่องมือการเกษตรที่จังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิด ซึ่งเขาเพิ่งลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ไปเมื่อไม่นานนี้ ก็มีแต่แม่ที่คอยดูแล และแม่ก็บอกบ่อยๆ ว่าเหนื่อย ไม่รู้จะดูแลคนเดียวไหวไหม ก็เป็นอีกตัวเร่งให้เขาตัดสินใจออกมาเป็นศิลปินอิสระ

“ผมอยากเคลียร์ทุกอย่างให้ลงตัว และพอผมสบายใจ ผมถึงจะสามารถกลับมาลำได้”

“ในใจผมยังคิดถึงการเป็นหมอลำทุกวัน เพราะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สุจริต ทำให้ครอบครัวผมสบาย และเป็นอาชีพที่ผมรัก”

ดังนั้น เพื่อให้สามารถรันธุรกิจให้ไปได้ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งสิ่งที่ชอบ เขาจึงเลือกจะขึ้นแสดงในวันและเวลาที่อำนวย

“ตอนนี้ก็ไปขึ้นแสดงกับหลายๆ วง ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่พ่อเอ๊ะบอก ว่าให้ไปเลย เราทำงานหาเงิน ไม่ต้องมองว่าเป็นเวทีของใครหรือเวทีไหน มองแค่ว่าเขาจ้างเรา เราก็ไปทำงาน”

และแน่นอนว่า “ผมสามารถขึ้นวงระเบียบได้ตลอดเวลา ถ้าพ่อเอ๊ะต้องการ”

 

ในยุคปัจจุบัน

“ผมคิดว่า ณ ปัจจุบันหมอลำมีความพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนมาก”

“เมื่อก่อนจะแต่งชุดคล้ายหนังจักรๆ วงศ์ๆ ชุดสวยงาม ที่จะเน้นลำเรื่องต่อกลอน ใส่แคน ให้คนได้ฟัง เพราะคนยุคก่อนเป็นคนแก่ ยุคคุณยายเรา แม่เราเป็นคนฟัง แต่ปัจจุบันเป็นยุคที่วัยรุ่นจะให้ความนิยมหมอลำ เราก็ต้องเอาใจวัยรุ่น เปลี่ยนตามยุคตามสมัย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย ท่าเต้น การแต่งหน้า ทำผม”

“เราต้องเอาวัฒนธรรมเกาหลีมาใช้บนเวทีหมอลำด้วย การเซ็ตผม การตัดสูท บางทีเราตัดตามวัฒนธรรมนั้นด้วยซ้ำ รวมทั้งท่าเต้นด้วย ทำให้วัยรุ่นที่เขานิยมหมอลำได้เข้าถึงมากที่สุด”

“และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือการลำเรื่องต่อกลอน เพราะว่าคนที่ดูหมอลำก็ไม่ใช่แค่วัยรุ่น ต่อให้วัยรุ่นจะนิยมมากกว่าก็ตาม แต่ยังไงเราไปแสดงที่งานวัด ตามจังหวัดต่างๆ ก็มีคนเฒ่าคนแก่มาปูเสื่อดูเยอะเหมือนเดิม เราก็ต้องลำเรื่อยต่อกลอนด้วย แล้วก็จัดเพลงเต้ยแน่นๆ”

“เอาใจทั้งแม่ๆ เอาใจทั้งวัยรุ่นบ้านเรา”