‘เบรนดา มิลเนอร์’ อายุ 104 ปี ก็ยัง ทำงาน ทำงาน ทำงาน! | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

จะมีสักกี่คนที่อายุเกิน 1 ศตวรรษแล้ว แต่ยังคงทำงาน ทำงาน ทำงาน?

ชวนมารู้จักเธอผู้นี้กันครับ – เบรนดา มิลเนอร์ (Brenda Milner)

เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.1918 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ คุณพ่อคือ ซามูเอล แลงฟอร์ด เป็นนักเปียโนและนักวิจารณ์ดนตรี คุณแม่คือ เลสลี ดอยก์ เป็นครูสอนดนตรี

เมื่ออายุได้ 18 ปี เธอได้ทุนไปศึกษาคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยนิวแนมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่พอเรียนไปได้ไม่นานก็รู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่ใช่ทางของเธอแน่ๆ เธอจึงเปลี่ยนไปเรียนจิตวิทยาตามคำแนะนำของอาจารย์ท่านหนึ่ง

เบรนดาทำวิจัยกับนักจิตวิทยาชื่อ โอลิเวอร์ แซงวิลล์ (Oliver Zangwill) ศึกษาผลของอาการบาดเจ็บของสมองต่อพฤติกรรมของคนไข้ และจบปริญญาตรีใน ค.ศ.1939

ต่อมาเธอศึกษาว่าคนเราตอบสนองต่อการรับความรู้สึกที่ผิดพลาด (sensory misinformation) ได้อย่างไร การรับความรู้สึกที่ผิดพลาด เช่น เห็นการเคลื่อนไหวเป็นอย่างหนึ่ง แต่กลับรู้สึกอีกอย่าง ทว่า สงครามโลกครั้งที่สองทำให้เธอต้องเปลี่ยนแนวทางวิจัย ไปเป็นการทดสอบความถนัดของผู้ที่กองทัพอากาศคัดเลือกเข้ามาว่า คนไหนเหมาะที่จะขับเครื่องบินขับไล่ ส่วนคนไหนเหมาะที่จะขับเครื่องบินทิ้งระเบิด

ค.ศ.1941 เบรนดาเริ่มงานใหม่ที่กระทรวงอุปทาน (Ministry of Supply) เธอได้งานตรวจสอบว่าจอแสดงผลและจอควบคุมแบบไหนที่พนักงานเรดาร์ใช้งานง่ายที่สุด

ณ ที่แห่งนี้เอง เธอได้พบกับปีเตอร์ มิลเนอร์ (Peter Milner) วิศวกรไฟฟ้าผู้ที่จะเป็นสามีในอนาคต

เบรนดา มิลเนอร์
ที่มา > https://m.imdb.com/name/nm7919439/mediaviewer/rm2029884417

ค.ศ.1944 ปีเตอร์ มิลเนอร์ เข้าร่วมงานวิจัยด้านนิวเคลียร์ในแคนาดา ทั้งคู่แต่งงานกันและเดินทางไปยังเมืองมอนทรีออล รัฐเกแบ็ก เบรนดาได้งานแรกที่สถาบันจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมอนทรีออล โดยเธอสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส (คุณแม่ของเบรนดาสอนภาษาฝรั่งเศสให้ตั้งแต่เธอยังเด็ก)

เบรนดาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ (McGill University) ใน ค.ศ.1950 โดยมีโดนัลด์ เฮบบ์ (Donald Hebb) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

เธอศึกษาว่าคนที่พิการสายตามาแต่กำเนิดใช้การสัมผัสเพื่อสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับโลกภายนอกอย่างไร

ต่อมาเธอได้รับเชิญให้ไปร่วมงานกับไวล์เดอร์ เพนฟิลด์ (Wilder Penfield) โดยทำงานทดสอบทางจิตวิทยาและวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยโรคลมชัก (epilepsy) ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเอาบางส่วนของสมองออก

เป้าหมายคือเพื่อศึกษาผลกระทบของการผ่าตัดสมองต่อพฤติกรรมของคนไข้

 

เบรนดาจบปริญญาเอก สาขาจิตวิทยาเชิงสรีรวิทยา ใน ค.ศ.1952

หลังจบปริญญาเอก เธอได้งานที่สถาบันประสาทวิทยาแห่งมอนทรีออล โดยยังวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับผลกระทบของการผ่าตัดกลีบขมับสมองต่อพฤติกรรมของคนไข้

ค.ศ.1955 เบรนดา มิลเนอร์ และไวลเดอร์ เพนฟิลด์ นำเสนอผลการศึกษาคนไข้สองคน ชื่อย่อว่า P.B. และ F.C. ซึ่งมีภาวะเสียความจำหลังการผ่าตัด ในที่ประชุมของ American Neurological Association

ต่อมาศัลยแพทย์ผ่าตัดสมองชื่อ วิลเลียม สโกวิลล์ (William Scoville) ได้ติดต่อทั้งคู่ เพราะเขาเองเคยพบคนไข้ชื่อ H.M. ซึ่งมีปัญหาในลักษณะคล้ายคลึงกัน

ชื่อย่อ H.M. มาจาก เฮนรี กุสตาฟ โมไลสัน (Henry Gustav Molaison) เชื่อกันว่าอุบัติเหตุจักรยานในวัย 7 ขวบทำให้สมองมีอาการผิดปกติ ชื่อจริงของเขาไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนจนกระทั่งเขาเสียชีวิต

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากระบวนการที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความทรงจำต้องใช้ทุกส่วนของสมอง แต่งานวิจัยของเบรนดา มิลเนอร์ ที่ศึกษาพฤติกรรมของคุณ H.M. ได้ลบล้างความเชื่อนี้ และเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับสมองไปอย่างสิ้นเชิง

คุณ H.M. จึงกลายเป็นคนไข้ที่โด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการแพทย์สมัยใหม่

 

คุณ H.M. มีอาการลมชักอย่างหนักจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ทำให้ศัลยแพทย์วิลเลียม สโกวิลล์ ตัดสินใจผ่าตัดเอาสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) ของเขาออกเพื่อหยุดอาการชัก

การผ่าตัดเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1953 ขณะที่คุณ H.M. มีอายุ 27 ปี

การผ่าตัดได้ผลระดับหนึ่ง แต่คุณ H.M. กลับเกิดภาวะสูญเสียความทรงจำแบบไปข้างหน้า (anterograde amnesia) โดยเขาสูญเสียความสามารถในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ความทรงจำ (memory consolidation) กล่าวคือ ไม่สามารถเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาวได้

เบรนดาประเมินการเรียนรู้และความทรงจำของคุณ H.M. โดยพบว่าแม้ว่า คุณ H.M. จะสามารถจดจำเหตุการณ์สั้นๆ ขณะหนึ่งได้มากเพียงพอที่จะพูดคุยด้วยได้ แต่เขาจะลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านั้น

จากข้อสังเกตนี้ เธอได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการสร้างเสถียรภาพให้แก่ความทรงจำเกิดขึ้นในระบบสมองกลีบขมับส่วนใน (ที่ถูกผ่าตัดออกไป) นั่นเอง

พูดง่ายๆ คือ เวลาของคุณ H.M. ถูก “แช่แข็ง” ให้อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น!

คุณ H.M. คิดว่าตัวเองมีอายุน้อยกว่าที่เป็นจริง เขาอธิบายความรู้สึกว่า “ราวกับตื่นขึ้นมาจากความฝัน…ทุกๆ วันนั้นแสนโดดเดี่ยวโดยตัวมันเอง…”

เขาเสียชีวิตใน ค.ศ.2008 อายุ 82 ปี

 

คุณ H.M. ยังมีอาการภาวะสูญเสียความทรงจำย้อนหลัง (retrograde amnesia) ระดับหนึ่งด้วย กล่าวคือ เขาแทบจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการผ่าตัดราว 1-2 สัปดาห์ ไม่ได้เลย และยังจำบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 11 ปีก่อนหน้าการผ่าตัดไม่ได้อีกด้วย

เบรนดาศึกษาคุณ H.M. นานต่อเนื่องกว่า 30 ปี เธอคิดว่าเขาเป็นเพื่อนคนหนึ่ง แต่เชื่อไหมครับว่า ทุกครั้งที่พบกัน คุณ H.M. จะจำเธอไม่ได้เลย!

ค.ศ.1962 เธอออกแบบการทดสอบเพื่อประเมินการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว และได้พบประเด็นใหม่ กล่าวคือ แม้ว่าคุณ H.M. มีปัญหาด้านความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่เขายังสามารถเรียนรู้การใช้กล้ามเนื้อเพื่อเคลื่อนไหวได้

นั่นหมายความว่าทักษะการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสมองกลีบขมับส่วนใน

การค้นพบครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าสมองมีระบบความจำมากกว่า 1 แบบ แบบแรกคือ ความทรงจำแบบฉากเหตุการณ์ (episodic memory) ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ ความทรงจำแบบกระบวนการ (procedural memory)

สมมุติว่าเราสอนคนที่มีอาการแบบคุณ H.M. ให้หัดวาดภาพ เขาจะเรียนรู้จนวาดภาพได้และไม่ลืมวิธีการวาดภาพ (มีความทรงจำแบบกระบวนการ) แต่เขาจะจำไม่ได้ว่าไปเรียนรู้วิธีการวาดนั้นมาจากใคร หรือจากที่ไหน (ไม่มีความทรงจำแบบฉากเหตุการณ์)

เบรนดายังค้นพบเรื่องอื่นๆ อีก เช่น คนไข้ซึ่งมีกลีบสมองส่วนหน้า (frontal lobe) เสียหายจะไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของคำสั่งให้ทำภารกิจหนึ่งๆ ทั้งนี้ ไม่ขึ้นกับว่ารอยโรคจะอยู่ซีกไหนของสมอง

เธอยังพบอีกว่าคนไข้ซึ่งกลีบสมองส่วนหน้าเสียหายมีแนวโน้มที่จะทำอะไรสุ่มเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความเสียหายของกลีบสมองด้านซ้ายทั้งส่วนหน้าและส่วนขมับยังทำให้เกิดปัญหาในการตีความภาษา

 

โดยสรุป ดร.เบรนดา มิลเนอร์ เป็นผู้ผสานวิชาจิตวิทยา (psychology) เข้ากับประสาทวิทยา (neurology) เกิดเป็นศาสตร์สาขาใหม่คือ ประสาทจิตวิทยา (neuropsychology)

ค.ศ.2018 มีการจัดประชุมวิชาการเฉพาะทางเป็นเวลาสองวันที่มหาวิทยาลัยแม็กกิลล์เพื่อเฉลิมฉลองการที่เธอมีอายุครบ 100 ปี

แม้ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ (ค.ศ.2022) เบรนดา มิลเนอร์ อายุ 104 ปี ก็ยังคงดูแลงานวิจัยที่เธอรัก

เมื่อมีคนสงสัยว่าอายุมากขนาดนี้แล้ว เหตุใดจึงยังคงทำงาน ทำงาน ทำงาน…ไม่ยอมเกษียณเสียที

เบรนดาตอบว่า “ฉันยังคงอยากรู้อยากเห็นไปหมด คือช่างสงสัยน่ะ”

ใต้ภาพ

เบรนดา มิลเนอร์

ที่มา > https://m.imdb.com/name/nm7919439/mediaviewer/rm2029884417