ยุทธศาสตร์ผู้นำในวาระเจ้าภาพ ‘เขมร-อินโดฯ-ไทย’ ใครกัน น่าจดจำ?

อภิญญา ตะวันออก

พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยากที่จะบ่ายเบี่ยงว่าเหตุการณ์ประชุม 3 เวทีสุดยอดผู้นำโดย 3 เจ้าภาพอาเซียน “กัมพูชา-อินโดนีเซีย และไทย” ซึ่งบังเอิญมาต่อเนื่องประชุมกันทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านของการทูตเชิงรุกที่ไม่เคยอยู่ในสารบบของ 3 ผู้นำซึ่งมีความพ้อง-ต่างในบุคลิกภาพและสถานะเชิงอำนาจ และนั่นก็ทำให้เราได้เห็นกลวิธีการสร้างศักยภาพของความเป็นผู้นำ

เริ่มที่ “อาเซียนซัมมิต” ของสมเด็จฮุน เซน ที่แซบเต็ม 10 ผู้ทำให้เราลืมภาพการทูตแบบเนิบนาบเดิมๆ ของไทยและบรูไน 2 ปีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันแรก 7 มกราคมต้นปีที่เขาไปเยือนกรุงเนปิดอว์ของสหภาพเมียนมา และจุดภาพการทูตเชิงรุกอย่างออกหน้าอันต่างจากอาเซียนที่ผ่านมา

ไม่เท่านั้น ฮุน เซน ยังเดินหน้าด้วยความมั่นใจจนวันสุดท้ายของการทำหน้าที่ นั่นคือเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและนอกภูมิภาค โดยเมื่อย้อนไป 10 ปีก่อน/2012 ที่เขาดำรงตำแหน่งนี้เป็นสมัยแรกนั้น ฮุน เซน ดูจะเป็นผู้แสนซื่อที่แฝงความแสบสันต์ด้วยการใช้เวทีนี้ประกาศถือข้างนโยบายทะเลจีนใต้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนสะเทือนโลกตะลึง แต่ก็เป็น “รอยด่าง” ของตนด้วยเช่นกัน

กลับมาอีกครั้ง เหมือนจะกลับไปแก้ไขอดีตหรือเปล่าไม่ทราบ ฮุน เซน คราวนี้ที่มาพร้อมกับคำนำหน้าว่า “สมเด็จ” กลับสร้างความจดจำในแบบใหม่ “ไฉไล” และเป็น “สากล” มากกว่าเดิม แม้จะยังเพิ่มเติมไม่ได้ว่า ชาวเขมรจะได้อะไรตามมา หลังจากอาเซียน/2012 นั้น ได้ตามมาซึ่งการปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากทุนจีนแบบสึนามิที่โถมใส่กัมพูชา

การเป็นประธานอาเซียนจึงเป็นเรื่องพิเศษของสมเด็จฮุน เซน อย่างเห็นได้ชัด และตอบคำถามว่าทำไมเขาจึงทุ่มสรรพกำลังในการทำหน้าที่อย่างน่าจดจำทุกครั้ง จนฟาดคะแนนนำหน้าไปแบบจุกๆ

ใครดีใครเด่น : เขมร-อินโดฯ?

เริ่มที่พินธุ/คะแนน “ยุทธศาสตร์การทูต, ความกระตือรือร้น, การฉวยโอกาส, การสร้างภาพลักษณ์ประเทศ-ความเป็นผู้นำ ภาษากาย, การประเมินสถานการณ์”

สมเด็จฮุน เซน เต็มสิบ/คาราเบล “ดีเด่น” ทั้งในแง่ “ค่าสัมประสิทธิ์” ของตนเองและชุมชนอาเซียนที่จะส่งต่อไปสู่เวทีหน้าของคนที่จะขึ้นมาและทำหน้าที่ของตำแหน่งนี้ไปสู่การแข่งขันอีกขั้นหนึ่ง

และนี่คือสิ่งที่ผู้นำเขมร “ทิ้งทวน” อย่างจับต้องได้ในภารกิจผู้นำและความเป็นเจ้าภาพ

ฮุน เซน ยังทำให้เห็นว่า เขาให้ความสำคัญทุกๆ เวทีการประชุม ไม่ว่าที่ไหนอย่างไรอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย แม้ว่าครึ่งปีแรกนั้นจะหมดไปกับการประชุมทางไกล ความแอ๊กทีฟของเขายังทำให้ รมต.ต่างประเทศ-ปรัก สุคน และ รมต.กลาโหม พล.อ.เตีย บันห์ พลอยติดโผความดังในภูมิภาคไปด้วย

ครั้งหนึ่งราวกลางปีขณะต้องร่วมพิธีศพที่ชายในไม่กี่ชั่วโมงของการฝังหีบศพในฐานเจดีย์ สมเด็จฮุน เซน ก็บินด่วนไปวอชิงตันอย่างเห็นได้ถึงความเหนื่อยล้า

จึงน่าเสียดายที่เขาต้องพลาดจากเหตุติดโควิด-19 จนทำให้เกมทั้งหมดต้องสิ้นสุด โดยฮุน เซน พลาดโอกาสพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ G-20 อินโดนีเซีย และเอเปค-กรุงเทพฯ นั้น

ยังไม่เท่ากับท่าทีอันระมัดระวังของผู้นำจีนที่เขาไม่เข้าร่วมประชุมซัมมิต-พนมเปญ และส่อให้เห็นว่า “โอเวอร์แอ๊กติ้ง” ของฮุน เซน ไม่ว่าในเมียนมา-ยูเครน-ยูเอ็น และใดๆ ในรอบปีผ่านมา ที่ส่อไปในทางพ้องกับวงโคจรของ “อินโด-แปซิฟิก” ของสหรัฐ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแฮปปี้นัก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรกับบทบาทประธานอาเซียนของฮุน เซน รอบนี้ ที่ได้คะแนน “A+” ไปเต็มๆ ถ้าไม่บังเอิญว่า ไม่มีโจโค วิโดโด-เจ้าพ่อ G-20 ของอินโดนีเซียที่ตีคู่กันมาชนิดไม่มีใครยอมใคร

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย-ตัวแทนอาเซียนอีกรายที่เหนือเมฆในการทูตเชิงรุกและเป็นคนหนึ่งที่คะแนนความนิยมจากชาวโลกขนเบียดบังบทบาทของฮุน เซน ชนิดที่เวทีนางงามยังต้องอาย จนถึงขั้นฮุน เซน ยอมฉวยโอกาสในประเด็น “ยูเครน” เพื่อหาแสงความสนใจในระดับนานาชาติแบบอินโดนีเซียบ้าง

และนี่เป็นอีกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอาเซียนสำหรับการแย่งซีนหา “สปอตไลต์” บนเวทีเพื่อให้เป็นที่จดจำ โดยไม่ว่าฉากหลังนั้นจะมาจากอะไรก็ตาม

แต่ด้านหนึ่ง นี่คือการ “ยกระดับ” ความเป็นสากลของผู้นำอาเซียน ต่อ “ท่าที” นักสันติภาพที่เป็นเรื่องสากล

ซึ่งโจโค วิโดโด ก็ทำได้ดีมากสำหรับ G-20 แห่งการพบปะของมหาอำนาจจีน-สหรัฐ, รัสซีย-ยูเครน และอีกหลายภาคีที่โคจรมาเจอกัน

เสริมบารมีให้ปีหน้าที่เขาจะมาเป็นประธานอาเซียนและการทูตเชิงรุกที่จะได้เห็นกัน จาก G-20 ครั้งนี้ คงถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และคงไม่ใช่แบบที่สร้างเครดิตตัวเองอย่างกรณีเมียนมาที่กัมพูชาทำไว้ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องติดตาม

แม้ทั้ง 2 เวที พนมเปญ-บาหลี สร้างความ “น่าประทับใจ” อย่างอวดสายตาชาวโลกได้ แต่สิ่งที่พบตลอดสัปดาห์ของเวทีดังกล่าว คือเวที “คู่ขนาน” ที่พบว่าไม่มีการแสดงออกใดๆ เลยจากภาคประชาสังคม ตรงข้าม ในพนมเปญนั้น การจำกัดสิทธิแสดงออกของนักกิจกรรมไม่ว่าเรื่องใดๆ ยังเป็นไปอย่างอุกฤษฏ์ เฉกเช่นบาหลีของ G-20 ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวมีอัตลักษณ์ต่างจากความเป็นอินโดฯ ศูนย์กลาง จึงไม่แปลกที่ทำให้บาหลีไม่มีความเคลื่อนไหวเชิงซ้อนของภาคประชาสังคม

ต่างจาก “เอเปค/กรุงเทพฯ” เวทีสุดท้ายที่ฉายโชนไปด้วยความเร่าร้อนของเวทีคู่ขนาน การสืบสานที่ทอดยาวอย่างไม่เคยเสื่อมคลายตั้งแต่เอเปคครั้งแรกและครั้งนี้เช่นเดียวกัน นี่คือความต่างของบาหลี-พนมเปญและกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีใครได้ “พินธุ” ส่วนนี้จากไทย

เช่นเดียวกับรอยด่างของผู้นำที่รับไป จากการสกัดกั้นภาคประชาชนที่ออกมาชุมนุมตามวิถีอารยะ และนั่นยังฉุดภาพลักษณ์เดิมที่ต่ำลงให้ “ด้อย” ลงไปอีก

พินธุใหม่

ในแง่ ความอลังการงานสร้างของการจัดเวทีประชุมแล้ว อินโดนีเซีย G-20 ดูจะสมบูรณ์แบบในการให้ความสำคัญ เวที แสง สี เสียง ออร์แกไนเซอร์ และรายละเอียดที่แสดงถึงความใส่ใจของเจ้าภาพ โดยจะเห็นว่า ภาพที่เผยแพร่ออกไปนั้น ทำให้รู้สึกว่า เวที G-20 มีอัตลักษณ์เฉพาะตน

อีกการที่โจโค วิโดโด ไม่ต้องใช้ล่ามในการสื่อสารกับผู้นำทั่วโลกทำให้อินโดนีเซียถูกยกระดับมากในรอบนี้

เช่นเดียวกับกัมพูชา ที่การใส่ใจ การออกแบบ “แบล็กดร็อป” ที่แฝงด้วยอัตลักษณ์เขมรแฝงรายละเอียด รวมทั้งบทบาทของผู้นำที่แม้จะไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ภาษากายที่ไม่สร้างความสบสนเมื่อเทียบกับเจ้าภาพไทยในเอเปค สมเด็จฮุน เซน เบียดมาเป็นที่ 2 ยังไม่นับการเดินสายการประชุมรอบนอกที่ทำคะแนนสะสมมาก่อนหน้า

เอเปคของไทยรอบนี้ ที่แม้จะไม่ได้ถูกคาดหวังมาก แต่หวังว่าจะไม่น้อยหน้าแต่กลับพบว่า “ไม่มีคลาส” ในด้านการให้ความสำคัญของรายละเอียด การตกแต่งสถานที่ที่การใช้ผ้าขาวคลุมโต๊ะประชุมเหมือนงานเลี้ยงรับรองทั่วไป บ่งบอกถึงการลดเกรดตัวเอง

การออกแบบแบล็กดร็อปและวัสดุเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้รับร้องล้วนแต่ “พื้นๆ” ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป เทียบไม่ได้กับ 2 เวทีของเขมร-อินโดฯ

ขนาดมี 2 ดาวเด่นผู้นำ “เจ้าชายซาอุฯ-สี จิ้นผิง” ยืนขนาบบารมีก็แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับทำได้เพียงอากัปกิริยาระดับบริวาร ซึ่งทั้งหมดนี้ ต่างจากภาษากายของ “ฮุน เซน” และ “โจโค วิโดโด”

อย่างไรก็ตาม ไทยก็กลับมาตีตื้น ทำคะแนนโดยเสียงชื่นชมจากงานเลี้ยงรับรองผู้นำเอเปคอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยจุดแข็งของ “วัฒนธรรมอ่อน” ที่เป็นจุดเด่นของไทย ทั้งดนตรี กีฬา สปา อาหาร การแสดงพื้นบ้านและศิลปะชั้นสูงโขน มโนราห์ สารพัดจัดหนัก ไทยกวาดคะแนนรอบนี้ไปอย่างหมดหน้าตัก เมื่อเหล่าผู้นำสิงคโปร์, ฝรั่งเศสและสหรัฐ จัดให้อย่างเต็มใจโดยมีตัวเองเป็นพรีเซ็นเตอร์

และนี่คือสิ่งที่อาเซียนชาติอื่นรับรู้ดีถึงจุดแข็งของไทยที่มีมายาวนานและยังขายได้ แม้กัมพูชาจะเริ่มขายได้ในด้านหัตถกรรม กระนั้น ความรอบด้านทางวัฒธรรมร่วมสมัยยังเป็นจุดขายของไทยเสมอ และนี่คือพินธุสุดท้ายที่ไทยได้ไปในเวทีเอเปค โดยไม่ต้องแย่งชิงกับพนมเปญหรือบาหลี

สำหรับพินธุใหม่ “ภาคประชาสังคม” ของไทยที่ยังหาใครในอาเซียนมาแทนไม่ได้ในสาขาอัลเทอร์เนทีฟนี้ คือ #หยุดเอเปค