60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (2) รัสเซียนรูเล็ตต์ที่คิวบา! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“แม้ว่าเราจะไม่มีจรวดเป็นจำนวนมาก แต่จรวดของเราจะเล็งเป้าไปที่สหรัฐ… แค่นี้พวกเขาก็กลัวกันแย่แล้ว”

Nikita Khrushchev (1962)

ถ้าจะลองเปรียบเทียบ “วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” กับ “วิกฤตสงครามยูเครน” แล้ว เราอาจจะต้องเริ่มต้นในการทำความเข้าใจกับปัญหา “วิกฤตความสัมพันธ์ของรัฐมหาอำนาจ” ที่เกิดขึ้นในตอนกลางเดือนตุลาคม 1962 เพราะการเรียนรู้ถึงวิกฤตในครั้งนั้น อาจจะเป็นเครื่องช่วยทางความคิดในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ในปัจจุบันได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม บริบทของปัญหาในยุคสงครามเย็นอาจจะแตกต่างกับปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยการเรียนรู้เรื่องราวในอดีตจะทำให้เกิดมุมมองเปรียบเทียบในการพิจารณาถึงความตึงเครียดปัจจุบัน แม้วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาจะเดินทางมาเป็นระยะเวลา 60 ปีในท่ามกลางสถานการณ์สงครามยูเครนในปี 2022

นอกจากนี้ การเปรียบเทียบดังกล่าวยังเกิดจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย (Sergei Lavrov) ที่กล่าวถึงวิกฤตการณ์จรวดว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยเตือนความทรงจำของผู้นำสหรัฐ เนื่องจากวิกฤตในปี 1962 อาจเทียบเคียงได้กับสถานการณ์สงครามปัจจุบันด้วย

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองหันกลับมามองวิกฤตนิวเคลียร์เมื่อ 60 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นมุมมองสำหรับวิกฤตนิวเคลียร์ปัจจุบัน

 

เรื่องตลกที่ไม่ตลก!

วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาอาจจะเริ่มต้นที่บัลแกเรีย… ในขณะที่ประธานาธิบดีครุสชอฟกำลังเดินเล่นบนชายหาดที่วาร์นา (Varna) ประเทศบัลแกเรีย ซึ่งเป็นชายหาดที่อยู่ติดกับทะเลดำ เมื่อเขาหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมามองไปในทะเล หลายคนอาจจะบอกว่า เราจะไม่เห็นอะไรเลย นอกจากพื้นน้ำของทะเลดำ

แต่ผู้นำรัสเซียกลับบอกว่า เขาเห็นขีปนาวุธแบบ “จูปิเตอร์” ของสหรัฐที่ตุรเคีย และขีปนาวุธนี้กำลังเล็งเป้าหมายการโจมตีไปที่บ้านพักฤดูร้อนของเขา

เรื่องตลกเช่นนี้ในบริบทของยุคสงครามเย็นย่อมไม่ใช่เรื่องตลกอย่างที่คิด (หนังสือบางเล่มอาจจะกล่าวว่า เรื่องเริ่มต้นที่บ้านพักฤดูร้อนของผู้นำโซเวียตที่ริมชายฝั่งทะเลดำ)

ผู้ฟังอาจจะรู้สึกว่าผู้นำโซเวียตกำลัง “เล่นมุขตลก” กับประเด็นในการเมืองโลก แต่ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของอเมริกันในตุรเคียไม่ใช่เรื่องตลกอย่างแน่นอน เนื่องจากในมุมมองด้านความมั่นคงของสหภาพโซเวียตนั้น ขีปนาวุธดังกล่าวเป็นภัยคุกคามโดยตรง เพราะสามารถเปิดการโจมตีเป้าหมายในดินแดนของโซเวียตได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที

ครุสชอฟรู้ดีในทางภูมิรัฐศาสตร์ว่าเมื่อมองทอดยาวออกไปในทะเลดำนั้น ทะเลอีกด้านหนึ่งจะบรรจบกับชายหาดของตุรเคีย และที่ตุรเคียมีขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐประจำการอยู่ ขีปนาวุธของสหรัฐอยู่ห่างจากเป้าหมายในสหภาพโซเวียตเพียงแค่เอื้อม อันมีนัยว่าหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐสามารถถล่มคีฟ (เมืองหลวงของยูเครนปัจจุบัน) มินสค์ (เมืองหลวงของเบลารุสปัจจุบัน) และมอสโก (เมืองหลวงของรัสเซียปัจจุบัน) ได้ในระยะเวลาเป็นนาที ซึ่งทำให้ผู้นำมอสโกกังวลกับภัยคุกคามเช่นนี้อย่างมาก

ความคิดคำนึงจากชายหาดที่วาร์นาทำให้ประธานาธิบดีครุสชอฟมองว่า ถ้าเช่นนั้น สหภาพโซเวียตก็น่าจะตอบโต้ด้วยการนำเอาขีปนาวุธของตนไปติดตั้งให้ใกล้กับดินแดนของสหรัฐบ้าง (เช่นที่สหรัฐมีฐานยิงในตุรเคีย)

ดังที่เขากล่าวติดตลกว่า “ทำไมเราไม่โยนตัวเม่นไปที่กางเกงของลุงแซมบ้างล่ะ?”

หรือเขากล่าวว่า ผู้นำอเมริกันควรจะต้อง “ลิ้มรสยา” ที่โซเวียตต้องได้รับรสมาแล้ว ด้วยการติดตั้งขีปนาวุธที่เล็งเป้าหมายสหรัฐ

ดังนั้น หากพิจารณาถึงที่ตั้งภูมิรัฐศาสตร์ของฐานยิงขีปนาวุธที่มีความใกล้กับสหรัฐแล้ว ย่อมไม่มีที่ไหนเหมาะสมเท่ากับประเทศคิวบา ที่ประกาศตัวเป็น “รัฐสังคมนิยม” หลังจากความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีบาติสตาในวันที่ 1 มกราคม 1959 อันเป็นปีใหม่ที่เปิด “ศักราชใหม่” ของการเมืองคิวบา และส่งผลกระทบด้านความมั่นคงอย่างมีนัยสำคัญกับภูมิภาคละตินอเมริกา

การสร้างสังคมนิยมคิวบาถูกต่อต้านจากรัฐบาลอเมริกันอย่างมาก แต่ก็กลายเป็นโอกาสอย่างดีสำหรับการขยายอิทธิพลของโซเวียตในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “เขตอิทธิพล” ของสังคมนิยมโซเวียตในภูมิภาคนี้

ขณะเดียวกันก็ทำให้การปฏิวัติคิวบาเป็นตัวแบบของการปฏิวัติในภูมิภาคด้วย

 

บุกหลังบ้านอเมริกัน!

หลังความสำเร็จของ “การปฏิวัติคิวบา” แล้ว ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ประกาศถึงทิศทางการเมืองที่ชัดเจนในการพาประเทศไปบนเส้นทางสังคมนิยม การนำเอาขีปนาวุธโซเวียตเข้ามาติดตั้งที่คิวบา จึงไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการโจมตีจากสหรัฐ ซึ่งมีนโยบายในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น หากยังช่วยในการสร้าง “สมดุลทางยุทธศาสตร์” ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจ (strategic nuclear balance)

แน่นอนว่าความคิดเช่นนี้แหวกจากกระแสเดิมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโซเวียตจะไม่นำเอาขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปประจำการไว้นอกดินแดนตน

ครุสชอฟเริ่มปรึกษากับกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิด และนำเสนอแก่ “สภาสูงสุดโซเวียต” (the Presidium) ซึ่งมีความเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการตามแผนนี้ ซึ่งหากสามารถทำการขนย้ายและติดตั้งขีปนาวุธนี้ได้อย่างปิดลับแล้ว แม้สหรัฐจะตรวจพบในภายหลัง และเปิดการโจมตีฐานยิงเหล่านี้ แต่ก็จะยังมีขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งที่เหลือรอดจากการถูกโจมตี ซึ่งจะทำให้โซเวียตสามารถ “โจมตีตอบโต้” ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear retaliation) และทำลายเป้าหมายที่เป็นเมืองสำคัญของสหรัฐได้ โดยเฉพาะการโจมตีวอชิงตันที่เป็นเมืองหลวง และนิวยอร์กที่เป็นเมืองหลักในภาคตะวันออก

ผู้นำโซเวียตหวังว่า แผนการติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่คิวบาจะเป็นไปตามคาด ด้วยการขนส่งและติดตั้งฐานยิงแบบที่เป็นความลับสูงสุด

และเมื่อขีปนาวุธเข้าประจำการพร้อมใช้ในทางยุทธการแล้ว ผู้นำอเมริกันจะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องยอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ เหมือนเช่นที่โซเวียตอยู่ภายใต้แรงกดดันของขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐในตุรเคีย

ดังที่ครุสชอฟยอมรับว่า ขีปนาวุธที่ตุรเคียได้สร้างความกลัวให้กับผู้นำโซเวียต

ชุดความคิดทางยุทธศาสตร์ของครุสชอฟคือ การติดตั้งขีปนาวุธของโซเวียตในคิวบาจะเป็นดังการสร้างเงื่อนไขเดียวกันกับขีปนาวุธของอเมริกาในตุรเคียที่กระทำกับโซเวียต

และถ้าทำได้สำเร็จจริงด้วยการติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้ (SRBM) และพิสัยกลาง (MRBM) ก็จะทำให้เกิดสภาวะของ “ความเท่าเทียมทางด้านนิวเคลียร์” (nuclear parity) ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต เนื่องจากในความเป็นจริงของขีดความสามารถของอาวุธนิวเคลียร์นั้น โซเวียตยังเป็นรองสหรัฐ

ฉะนั้น การติดตั้งขีปนาวุธแบบเอสเอส-4 (SS-4) และเอสเอส-5 (SS-5) ที่คิวบา คือคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาดุลยภาพนิวเคลียร์ของโซเวียต

คงต้องยอมรับว่า แผนการ “บุกหลังบ้านอเมริกัน” ด้วยการติดตั้งขีปนาวุธโซเวียตในภูมิภาคทะเลแคริบเบียนเช่นนี้ เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องทำการปิดลับให้ได้จนถึงช่วงที่ติดตั้งขีปนาวุธสำเร็จ และพร้อมที่จะใช้งานได้จริงในทางยุทธการ

 

เกมพนันบนความเสี่ยง!

หากมองในมุมของคิวบา จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นนั้น ผู้นำคิวบาเองไม่เห็นด้วยกับแผนการณ์ของโซเวียต เพราะการยอมรับความคิดของครุสชอฟจะทำให้คิวบากลายเป็น “ฐานยิงขีปนาวุธ” ไปโดยปริยาย อีกทั้งหากปัญหาความขัดแย้งในประเด็นการติดตั้งขีปนาวุธระหว่างสหรัฐกับโซเวียตขยายตัวเป็นสงครามแล้ว คิวบาจะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของสหรัฐอย่างแน่นอน อันจะทำให้คิวบากลายเป็น “เหยื่อ” ของสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสองรัฐมหาอำนาจใหญ่

แต่ในอีกด้าน คาสโตรเชื่อด้วยจุดยืนของชาวสังคมนิยมว่า การติดตั้งขีปนาวุธโซเวียตในคิวบาจะทำให้ดุลยภาพทางยุทธศาสตร์เอียงมาทางฝ่ายสังคมนิยม และจะเป็นผลดีกับโลกสังคมนิยมด้วย อันทำให้ผู้นำคิวบายอมรับเงื่อนไขของครุสชอฟ

ในที่สุดผู้นำคิวบาอนุมัติการเดินทางเยือนของคณะผู้แทนทางทหารไปมอสโก

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 1962 เรือสินค้าโซเวียตจำนวนถึง 65 ลำเดินทางไปคิวบา และในจำนวนนี้ 10 ลำเป็นเรือขนสิ่งอุปกรณ์ทางทหาร

ต่อมาในเดือนกันยายน ทีมติดตั้งอุปกรณ์การยิงขีปนาวุธเดินทางเพื่อเตรียมจัดตั้งฐานยิงเดินทางมาถึงคิวบา

พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นฐานยิงขีปนาวุธคือ San Cristobal ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของคิวบา และจากฐานยิงนี้ ขีปนาวุธจะเล็งเป้าหมายไปยังเมืองสำคัญของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม คาสโตรต้องการให้ประกาศอย่างเปิดเผยถึงการก่อตั้งฐานยิงขีปนาวุธโซเวียตในประเทศตน เพื่อเป็นเครื่องมือในการ “ป้องปราม” การโจมตีของสหรัฐ

แต่ผู้นำโซเวียตยังคงต้องการให้เป็นเรื่องลับ จนแม้กระทั่งเอกอัครราชทูตโซเวียตประจำกรุงวอชิงตัน และทูตถาวรประจำสหประชาชาติเองก็ไม่ได้รับทราบการติดตั้งนี้ เพราะครุสชอฟต้องการให้เรื่องนี้เป็นความลับสูงสุด

ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐ (CIA) จะไม่รับรู้เรื่องนี้ รายงานจากสายลับของอเมริกันในคิวบามากกว่า 500 ชิ้นถูกส่งมา แต่เจ้าหน้าที่อเมริกันไม่เชื่อ เพราะคิดว่าผู้นำโซเวียตจะไม่กล้าเล่นเสี่ยงด้วยการนำเอาขีปนาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งที่คิวบา…

แน่นอนว่า เกมนี้เสี่ยงอย่างยิ่ง แต่ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่า ในมุมมองของประธานาธิบดีครุสชอฟนั้น ขีปนาวุธที่คิวบาเป็นเกมการพนันที่เสี่ยงอย่างมาก แต่เกมนี้อาจให้ผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์ได้

ฉะนั้น ผู้นำโซเวียตพร้อมแล้วที่จะเล่นเกมเสี่ยง แต่เกมครั้งนี้มี “สงครามนิวเคลียร์” เป็นเดิมพัน เพราะถ้าเกมเดินไปข้างหน้าและไม่สามารถควบคุมได้แล้ว อาจจะนำไปสู่สภาวะของ “การเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์” (nuclear confrontation)

ซึ่งหากเกมถูก “ยกระดับ” (escalation) ขึ้นบนเงื่อนไขของความพร้อมรบทางทหารของสองรัฐมหาอำนาจแล้ว เกมนี้อาจจบลงด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้กันภายใต้ทฤษฎี “การโจมตีครั้งแรก” (first strike) และ “การโจมตีครั้งที่สอง” (second strike)

บทเรียนสำคัญที่เห็นได้จาก “วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” เมื่อ 60 ปีที่แล้วคือ การเมืองระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เป็น “เกมพนัน” ซึ่งผู้นำของรัฐมหาอำนาจเล่นนั้น มีความเสี่ยงในตัวเองอย่างมาก และไม่มีหลักประกันว่าเกมจะจบอย่างที่รัฐผู้เล่นคาดหวัง ที่แทบไม่ต่างจากเกม “Russian Roulette”

แน่นอนว่า เกมอาจจะพลิกได้… เกมในกระดานใหญ่ของการเมืองโลกพลิกกลับได้เสมอ ดังที่เราจะเห็นได้จากการเดินเกมของสองผู้นำในวิกฤตนี้!