ฝ่ายอักษะกับไทย ในมหาอุทกภัยครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ฝ่ายอักษะกับไทย

ในมหาอุทกภัยครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

 

“จักพัดยี่ปุ่นช่วยไทย 5 ล้านเยนเป็นของช่วยเหลือ”

(สรีกรุง, 3 พฤศจิกายน 2485)

 

บริบทของการเมืองระหว่างประเทศ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

บริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปและเอเชียหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จวบถึงทศวรรษ 2470 นั้น ลัทธิทหารในญี่ปุ่นเฟื่องฟูอันนำไปสู่การขยายดินแดนในเอเชียและเริ่มต้นปลุกกระแสขับไล่มหาอำนาจผิวขาวออกจากเอเชียเพื่อให้เอเชียปกครองโดยชาวเอเชียเอง (Pan Asia) (ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2551, 13-20)

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทยเมื่อปี 2475 ผนวกกับกระแสชาตินิยม (Nationalism) ที่ก่อตัวขึ้นในไทยมีผลกระทบให้การต่างประเทศของไทยหลัง 2475 เปลี่ยนแปลงแนวทางที่เคยโอนอ่อนตามมหาอำนาจตะวันตกมาเป็นการรักษาความเป็นกลาง

ต่อมาไทยเปลี่ยนแปลงแนวทางด้านต่างประเทศมาสู่การเลือกข้าง ด้วยการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านทัพไปยังพม่า อินเดีย และมลายาของอังกฤษ (8 ธันวาคม 2484) และติดตามด้วยการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ (25 มกราคม 2485) ในท้ายที่สุด (โยชิฮารุ โยชิกาวา, 2525; กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร, 2532)

ต่อมาไทยได้กลายเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะที่ร่วมมือกันทางด้านการทหารระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อต้านและต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศหลักในฝ่ายอักษะประกอบด้วยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

น้ำท่วมใหญ่พระนคร 2485 และโปสเตอร์เยาวชนแห่งวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา

ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น-เยอรมนี

โดยลำดับแล้ว การต่างประเทศของไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนจากเคยโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจตะวันตกตามแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การรักษาความอิสระในการตัดสินด้วยการรักษาความเป็นกลาง (2475-2484) ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจที่เริ่มปะทุตัวขึ้นในยุโรป ไทยหันมาสัมพันธ์แนบแน่นใกล้ชิดกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งระบอบเก่า

สำหรับความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี เริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ด้วยการเสด็จเยือนเยอรมนีถึง 2 ครั้ง (2440, 2450) แต่เมื่อไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยการประกาศสงครามกับเยอรมนี ทำให้ความสัมพันธ์หยุดชงัก

ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างกันฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากกรมพระยานครสวรรค์วรพินิต อดีตนักเรียนทหารจากเยอรมนี ทรงขึ้นมีตำแหน่งสำคัญทางการทหาร ทรงปรับปรุงกองทัพไทยให้เป็นตามแนวทางกองทัพเยอรมัน จึงมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

และเมื่อไทยเกิดการปฏิวัติ 2475 เยอรมนีมิได้ตัดความสัมพันธ์ แต่ยังคงดำเนินความสัมพันธ์ไปตามปกติ พร้อมกับการก้าวขึ้นมามีอำนาจของคณะราษฎร พวกเขาในระดับนำหลายคนจบการศึกษาการทหารมาจากเยอรมนี เช่น พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ยังคงสืบทอดความนิยมเยอรมันต่อไป (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (บก.), ม.ป.ท., 2558, หน้า 21-27; คัททิยากร ศศิรามาศ, 2556, 50-60)

แม้นในเวลาต่อมารัฐบาลไทยหลังปฏิวัติจะดำเนินการด้านต่างประเทศที่รักษาความเป็นกลาง ด้วยการรักษาระยะห่างออกจากอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ไทยยังให้ความสนใจในเยอรมนี ด้วยเหตุที่ผ่านมาเยอรมนีไม่เคยเอาเปรียบไทย

ประกอบกับกระแสความคิดชาตินิยมไทยที่ไม่พอใจอังกฤษและฝรั่งเศสที่กระทำต่อไทยในอดีต มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีเริ่มถูกถักทอความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

อันเห็นได้จากปรากฏพระราชสาส์นอวยพรวันเกิดให้กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ฟิห์เรอร์ และนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมันของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2482 ที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุ ความว่า “His Excellency the Fuhrer and Chancellor of the German Reich, Berlin for best wish and best health Aditya Dibabha President Council Regent”

พลันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อเช้าตรู่ของ 8 ธันวาคม 2484 ทหารญี่ปุ่นปะทะกับทหารไทยและยุวชนก่อนรัฐบาลจะมีคำสั่งหยุดยิง ญี่ปุ่นกดดันให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่าอินเดียและมาลายาของอังกฤษซึ่งรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.ยินยอม และมีการทำสนธิสัญญาทหารระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และด้วยสนธิสัญญาเบอร์ลิน-โรม-โตเกียว

เมื่อไทยลงนามเป็นพันธมิตรสงครามร่วมกับญี่ปุ่น หมายรวมถึงการเป็นพันธมิตรในกลุ่มอักษะไปด้วยเช่นกัน

น้ำท่วมพระนคร 2485

ญี่ปุ่น พันธมิตรอักษะ

ให้ความช่วยเหลือ 5 ล้านเยน

เมื่อข่าวมหาอุทกภัยของไทยที่น้ำเหนือไหลบ่าลงมาท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางและพระนครตั้งแต่เดือนกันยายนสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ไร่นาและกิจการค้าของคนไทยได้แพร่สะพัดออกไปในหมู่พันธมิตรฝ่ายอักษะ ได้ปรากฏหลักฐานในข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์และข้อเขียนของจอมพล ป. ที่กล่าวถึงการแสดงความเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งการส่งความช่วยเหลือมาให้ไทยอันเป็นเรื่องราวที่ตกหล่นหายไปจากประวัติศาสตร์ไทยในครั้งนั้น

รัฐบาลไทยได้รับโทรเลขจากอุลริช ฟรีดรีช วิลเฮ็ล์ม โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ (Ulrich Friedrich Wilhelm Joachim von Ribbentrop) รัฐมนตรีต่างประเทศ มหาอาณาจักรไรซ์ แสดงความห่วงใยในมหาอุทกภัยในไทย

ส่วนญี่ปุ่นในฐานะประเทศพันธมิตรใกล้ชิดกับไทยและเป็นมหามิตรในวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจที่ไทยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยบุคคลสำคัญของญี่ปุ่นโทรเลขมาแสดงความห่วงใย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นนั้นยังส่งเงินและสิ่งของมาช่วยเหลือครั้งนี้เป็นมูลค่า 5 ล้านเยน (สรีกรุง, 30 ตุลาคม 2485)

ดังข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์สรีกรุงว่า “จักพัดยี่ปุ่นช่วยไทย 5 ล้านเยนเป็นของช่วยเหลือ” (สรีกรุง, 3 พฤศจิกายน 2485)

ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2485 จอมพล ป.กล่าวถึงความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นว่า “พูดถึงการช่วยอุทกภัยจากต่างประเทส ฉันไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็ดพระจักรพัดแห่งประเทสยี่ปุ่นที่พระราชทานของเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านเย็นแก่ผู้ต้องอุทกภัย” นอกจากสิ่งของที่ส่งจากโตเกียวแล้ว กองทัพยี่ปุ่น ภาคใต้ยังส่งของมาช่วยไทยบรรเทาทุกข์น้ำท่วมอีก 1 ล้านเย็น (สามัคคีไทย, 168)

อีกทั้งจอมพล ป.ยังบันทึกความช่วยเหลือไทยยามน้ำท่วมจากอิตาลีครั้งนั้นว่า “ฉันมีโอกาสได้เห็นท่านกรอลลา อัคราชทูตอิตาเลียน…นำสาส์นสแดงเสียใจและเห็นอกเห็นใจชาติในการต้องอุทกภัยมากคราวนี้ พร้อมนำเงินของคณะฟาสซิสในกรุงเทพฯ ได้เรี่ยไรเงิน เปนเงิน 2 พันบาท” ท่านมาที่ทำเนียบด้วยรถบรรทุก โดยเอาเก้าอี้หวายวางไว้บนรถ นั่งตากแดดตากลมมาตลอดทาง แม้นคนอิตาเลียนในไทยมีจำนวนน้อย แต่มากน้ำใจให้กับชาวไทย (สามัคคีไทย, 167)

สารแสดงความเสียใจ และการให้ความช่วยเหลือเมื่อไทยเผชิญหน้ากับปัญหามหาอุทกภัย จากเหล่าพันธมิตรฝ่ายอักษะ เป็นหลักฐานร่วมสมัยแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้มีความกระตือรือร้นมากที่สุดในการให้ความช่วยเหลือไทย เนื่องจากไทยเป็นพันธมิตรทางการทหารที่สำคัญของวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาในครั้งนั้น

สมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโตะ แห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น และโยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ รัฐมนตรีแห่งมหาอาณาจักรไรซ์
ทหารญี่ปุ่นติดโปสเตอร์พันธมิตรทางการทหารไทย-ญี่ปุ่น
วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา (เครดิตภาพ : reddit.com) จากภาพการร่วมวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาเวียนตามเข็มนาฬิกา ญี่ปุ่นให้อาวุธ จีนให้แร่เงิน พม่าให้น้ำมัน-ข้าว อินโดนีเซียให้น้ำมัน-ยาง ฟิลิปปินส์ให้ใยกัญชง-ทองแดง มลายาให้ยาง-ทองแดง เวียดนามให้ข้าว ไทยให้ช้าง-ข้าว และแมนจูเลียให้ถ่านหิน
โปสเตอร์พันธมิตร เบอร์ลิน-โรม-โตเกียว และวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา
จอมพล ป. ผู้นำไทยสมัยสงคราม และโปสเตอร์พันธมิตรทางการทหารไทย-ญี่ปุ่น