ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
เหตุรุนแรงในพื้นที่ไฟใต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็น่าคิดว่า ปฏิบัติการระดับคาร์บอมบ์นั้น ได้เงียบหายไปนานพอสมควร จู่ๆ กลับมาเกิดอีก โดยลงมือในพื้นที่สำคัญมีความหมาย คือ แฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส ลงมือกลางวันแสกๆ ในใจกลางเมืองเลยทีเดียว
ส่งผลให้อาคารที่พักพังพินาศ ทำให้ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เท่ากับเป็นการประกาศยกระดับความรุนแรง และถล่มเป้าหมายเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง
เป็นคำถามถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาไฟใต้ของรัฐบาล เอาแค่ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกฯ มา 8 ปี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาไฟใต้ให้ได้ผลอย่างชัดเจน
ไปๆ มาๆ เพิ่มขีดความรุนแรงขึ้นไปอีกด้วยการใช้คาร์บอมบ์
พอจะวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกฯ ที่มาจากกองทัพ ย่อมต้องเชื่อมั่นในแนวทางการทหารนำการเมือง
ไม่เรียนรู้บทเรียนจากปัญหาความขัดแย้งทางความคิดอุดมการณ์ที่เกิดเป็นสงครามหรือการก่อการร้ายในทั่วโลก ล้วนพบว่า ทางออกคือการใช้การเมืองนำการทหาร เพราะถ้ายิ่งปราบ อีกฝ่ายจะยิ่งโต
สงครามที่เกี่ยวกับความเชื่อความคิด ต้องจบลงที่โต๊ะเจรจาทั้งสิ้น
ในบ้านเราเอง จริงๆ ก็เคยมีบทเรียนจากสงครามพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี 2508 จนถึงปี 2525 ช่วงแรกรัฐบาลโถมกำลังทหารเข้ารุกรบ ผลก็คือ สงครามยิ่งขยายตัว ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งเติบโต
จนสุดท้ายในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยแนวคิดของกลุ่มทหารมันสมอง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นำมาสู่แนวทางการเมืองนำการทหาร ใช้คำสั่ง 66/2523 เข้ายุติไฟสงครามจนสำเร็จ
แต่ในปัญหาไฟใต้ ดูเหมือนกองทัพจะไม่เคยเรียนรู้จากหนทางการเมืองนำการทหาร
อีกทั้งนโยบายจากส่วนกลาง ยึดแนวทางชาตินิยม แนวคิดอนุรักษนิยมการเมือง ไม่ยอมรับว่าคนในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่ มีความต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม คิดแต่จะกดอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นให้อยู่ภายใต้ความเป็นชาติไทย
จึงไม่ยินยอมใช้แนวทางสันติวิธี ใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร ใช้การพูดคุยเจรจา ไม่ยอมปรับเปลี่ยนสภาพสังคมให้เคารพในความต่างด้านเชื้อชาติศาสนา
เน้นแต่ใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุม ก็เลยทำให้ไฟใต้ลุกโชนเป็นระยะๆ ไม่เคยสงบ
จนกลายเป็นการกลับมาอีกครั้งของคาร์บอมบ์!
แน่นอนว่า ทุกๆ รัฐบาลใช้สายตาชาตินิยมรัฐไทย ในการมองปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่หะยีสุหลง พยายามยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ยอมรับความต่างด้านภาษา วัฒนธรรม ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วกลายเป็นกบฏถูกจับกุมคุมขัง พอปล่อยออกมาก็ส่งเจ้าหน้าที่ตามมาอุ้มฆ่าอีก
จึงเป็นชนวนที่ทำให้กลุ่มคนหัวรุนแรงในพื้นที่ หันมาใช้การก่อการร้ายเพื่อต่อสู้และตอบโต้
ไฟใต้จึงลุกโชนและซาลงไปเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยจบสิ้น
จนยุคทักษิณ ชินวัตร ไปโหมใช้การปราบปราม ทำให้ไฟใต้ลุกโชนครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2547 มาถึงยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ยอมรับความผิดพลาดในยุคทักษิณ เดินหน้านโยบายดับไฟใต้ด้วยการเมืองนำการทหารอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปิดโต๊ะเจรจา
การเจรจาเกิดขึ้นหลายรอบ มีความคืบหน้า และสามารถตกลงกันได้ในบางระดับ
เช่น ให้หยุดการใช้คาร์บอมบ์ หยุดการก่อเหตุในชุมชนหรือในพื้นที่ที่มีชาวบ้านทั่วไป การปฏิบัติการต้องไม่ทำให้เป้าหมายเปราะบาง เช่น เด็กและสตรี ได้รับผลกระทบ เหล่านี้เป็นต้น
แต่เมื่อเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2557 จากนั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปฏิเสธแนวทางเจรจาไม่ได้ แต่ลดระดับลงเป็นการคุยลับ ซึ่งไม่มีใครรู้ถึงความคืบหน้า พร้อมกับในทางปฏิบัติ ปฏิบัติการใช้ทหารตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมเป็นไปอย่างเข้มข้น
จนเรียกได้ว่ากลับมาเป็นยุคการทหารนำการเมือง
เพระแน่นอนว่า หากเจรจาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ลงเอยสุดท้ายจะต้องยอมรับการจัดระบบสังคมและการปกครองที่มีลักษณะพิเศษ คือ เปิดกว้างด้านภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา
ซึ่งเป็นแนวทางที่ฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาด
ดังนั้น เมื่อหันมาปราบ ก็เหมือนราดน้ำลงในกองไฟ
จนกระทั่งล่าสุดเกิดคาร์บอมบ์ในพื้นที่ของหน่วยงานตำรวจ เป็นการยกระดับความรุนแรง
ย่อมส่งผลสร้างความหวาดผวาให้กับประชาชนทั่วไป เพราะไม่รู้ว่าคาร์บอมบ์จะมาอีกครั้งเมื่อไหร่ และมาโผล่ที่ไหนอีกหรือไม่!?
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวในทางการเมืองระยะนี้ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนหมดอายุสภาปัจจุบัน เป็นช่วงเตรียมเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ พร้อมๆ กันก็เป็นที่แน่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาแล้ว 8 ปี ก็ยังไม่ยอมเลิก
มีวาระเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญได้ถึงปี 2568 หรือเมื่อมีเลือกตั้งใหม่ ก็จะมีอายุการเป็นนายกฯ ได้แค่ 2 ปี แต่ก็ยังจะเดินถนนสายการเมืองต่อ โดยเตรียมย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ของเครือข่าย กปปส.
โดยพรรคใหม่แนวทางขวาสุดนี้ มีความเชื่อมั่นว่าจะยึดฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ได้จำนวนมาก เพราะกระแสนิยม พล.อ.ประยุทธ์ สูงที่สุดอยู่ในภาคใต้ เนื่องจากเป็นภาคที่ต่อต้านฝ่ายทักษิณอย่างสุดตัวไม่เสื่อมคลาย
กระแส พล.อ.ประยุทธ์นายกฯ ขวัญใจคนใต้ จะเป็นนายกฯ ต่อในสมัยหน้ากำลังคึกคักสุดขีด!!
แต่เมื่อเกิดเหตุคาร์บอมบ์ บ่งบอกความรุนแรง ไฟใต้ยังลุกโชน ก็น่าคิดว่านายกฯ ประยุทธ์ขวัญใจคนใต้ กลับไม่สามารถแสดงฝีมือในการดับไฟใต้ได้เลย ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ขวัญใจคนใต้ได้จริงหรือไม่
ที่แน่ๆ คือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคนในพื้นที่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยความมั่นคงมีอำนาจพิเศษ ทำให้ขัดแย้งกับคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง และเป็นเหตุทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบ สามารถเคลื่อนไหวก่อเหตุได้บ่อยๆ
เพราะมวลชนในพื้นที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง ด้วยมีข้อขัดแย้งจากอำนาจพิเศษของหน่วยความมั่นคง
การเลือกตั้งในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ จะมอง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยสายตาเช่นไร
นายกฯ ที่เป็นอดีตผู้นำทหาร และตลอด 8 ปีของยุคประยุทธ์ เน้นการทหารมากกว่าใช้การเมืองนำในการแก้ไฟใต้
ที่สำคัญคือไม่ได้ทำให้ไฟใต้ซาลงไป
เช่นนี้แล้วจะเป็นนายกฯ ขวัญใจคนใต้ได้หรือ!?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022