เกมยื้ออยู่ยาว จากศาลรัฐธรรมนูญ ถึงวุฒิสภา เลือกตั้งรอไปก่อน นะจ๊ะ?

การเลือกตั้ง ปี 2566 จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับตัวแปรมากมาย เป็นกระบวนการถ่วงเวลา ทุลักทุเล ซับซ้อนเงื่อน อย่างไม่น่าเชื่อ อาจเป็นเพราะความที่ลุงบางคนอยากอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด

ชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (22 พฤศจิกายน) เรื่องการอยู่ครบเทอมของรัฐบาล ในเดือนมีนาคม 2566 ไม่มีการยุบสภาในเร็วๆ วันนี้อย่างแน่นอน เมื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดขึ้นว่า “ก็ไม่มีใครอยากเสียตังค์เร็วหรอก” คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั้นๆ แต่ได้ใจความก็คือ “งั้นก็อยู่กันไป ยันมีนาคมปีหน้า”

ระหว่างนี้ นายกฯ ประยุทธ์เริ่มออกเดินสาย ปล่อยข่าวดี งดให้สัมภาษณ์การเมือง โปรยยิ้มไปทั่วเมือง จากบางกะปิ สู่เพชรบูรณ์ KICK OFF มาตรการช่วยเหลือ-ยกระดับรายได้ชาวนา

นี่อาจเป็นการเดินเกมเพื่อสะสมแต้มคะแนนนิยม จากปีกอนุรักษนิยม

นอกจากสัญญาณจากทำเนียบรัฐบาลที่ปักธงอยู่ยาวแล้ว การเลือกตั้งจะช้าหรือเร็ว ยังแขวนไว้กับกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่วัดดวงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ประเด็นแรก 9 ตุลาการจะต้องตัดสิน คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…. (ซึ่งเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรคการเมือง) ที่พิจารณากันในวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพึงมี หาร 500 มาสู่สูตร “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ศาลนัดพิจารณาในวันที่ 30 พฤศจิกายน

ผลของคำวินิจฉัยประเด็นแรก เป็นข่าวดีตามคาดหมาย นั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ชี้ว่า กฎหมายพรรคการเมืองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

แนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนจะเข้าใจธรรมชาติของพรรคการเมืองตามความเป็นจริง แนวคำตัดสินจึงผ่อนคลาย ไม่ยึดหลักการไพรมารีโหวตอย่างเคร่งครัด ผลของคำตัดสินทำให้พรรคการเมืองทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องตบตา แสร้งทำไพรมารีโหวตแบบปลอมๆ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย วิเคราะห์ว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการผ่อนคลายให้กับพรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

1. ค่าสมัครสมาชิกพรรค จาก 200 เหลือ 20 บาทต่อปี จากตลอดชีพ 2,000 บาท เหลือ 200 บาท

2. ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แค่จังหวัดละ 1 คน โดยมีสมาชิกจังหวัดละ 100 คนก็พอ

3. การทำการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ Primary vote จังหวัดหนึ่งมีกี่เขต ทำที่เขตใดเขตหนึ่งก็พอ โดยมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน

4. ผลการทำ primary เมื่อส่งกรรมการบริหารพรรค จะตัดสินใจอย่างไร เหมือนหรือไม่เหมือน primary ก็ได้ ถือเป็นที่สุด

อดีต กกต.เชื่อว่า มติศาลรัฐธรรมนูญ เข้าทางลุงเป็นอย่างยิ่ง

เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคที่มีข่าวว่าลุงจะย้ายไปปักหลัก เพิ่งจัดตั้งเมื่อ 31 มีนาคม 2564 มีสมาชิก 11,553 คน สาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 9 คน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ พรรคของลุงจะต้องมีตัวแทนพรรคระดับจังหวัดในทุกเขตที่จะส่งผู้สมัคร ต้องหาสมาชิกในแต่ละเขตอย่างน้อย 100 คน และจัดประชุมทำ primary vote ระดับเขต โดยมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน

เมื่อผลคำตัดสินออกมาแบบผ่อนคลาย พรรคใหม่และพรรคของลุงก็ลดขั้นตอนไปได้เยอะมาก

แต่ที่ต้องลุ้นมากเป็นพิเศษ อยู่ที่ประเด็นที่สอง คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพึงมี หาร 500 มาสู่สูตร “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ศาลนัดพิจารณาในวันที่ 30 พฤศจิกายน

อดีต กกต.สมชัยวิเคราะห์ว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีความหมายต่อนักการเมืองมาก เพราะส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบต่อพรรคการเมือง ถ้าผ่านศาลรัฐธรรมนูญ พรรคใหญ่จะได้เปรียบสูงมาก ได้ทั้ง ส.ส.เขตและได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกเต็มๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายรัฐบาล แนวคิดไม่ให้ผ่านก็อาจจะมีสูง

และมีเหตุผลที่พอจะชี้แจงได้ เพราะตัวรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข แก้ไขไม่ครบทุกมาตรา ยังมีคำว่า ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ในมาตรา 93 และ 94 ซึ่งอาจยกเป็นข้ออ้างให้ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้

“ถ้ามองในเชิงเหตุผลทางการเมืองและกฎหมายคิดว่าโอกาสไม่ผ่านสูง” สมชัยกล่าว

ดังนั้น ทางออกจะมีได้ 4 ทาง

1. เสนอกฎหมายเข้ามาใหม่โดยเร็ว ฝ่ายรัฐบาลอาจเตรียมพร้อมไว้แล้ว ในฐานะที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา อาจจะเสนอพิจารณา 3 วาระรวดได้หรือไม่

2. ถ้ามีเหตุยุบสภา การออกกฎหมายอาจจะทำไม่ได้ คณะรัฐมนตรีอาจออกพระราชกำหนดเพื่อเป็นกรอบให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง

3. ให้ กกต.ออกคำสั่ง ประกาศ ในการเลือกตั้ง แต่คิดว่า กกต.คงไม่ทำวิธีนี้

และ 4. ยอมกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปฉบับดั้งเดิม 2560 ก่อนการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งหมด

นักการเมือง นักเลือกตั้ง ยังต้องลุ้นระทึก คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ปลายเดือน 30 พฤศจิกายน เพราะถ้ากฎหมายเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งก็ต้องทอดยาวออกไป นี่เป็นเกมเตะถ่วงที่ซ่อนเงื่อน

เพจไอลอร์ ตั้งข้อสังเกต เกมถ่วงเวลาของรัฐบาล ในบทสรุปที่ว่า “เลือกตั้งยังไม่ได้! กฎหมายลูกยังไม่มา ดึงเกมช้าให้ซับซ้อน”

นอกจากเกมซื้อเวลา เพื่ออยู่ต่อให้นานที่สุด แล้วการจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังถูกถ่วงเวลา จากวุฒิสมาชิก เหมือนเทคนิคที่วางไว้อย่างดี

21 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุม ส.ว.ได้ลงมติตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติของ ส.ส. ที่เสนอให้ ครม.ทำประชามติเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ญัตติที่ ส.ส.เสนอมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอ

การตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาญัตติดังกล่าว จึงเป็นการ “ถ่วงเวลา” อีกครั้งของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนอย่างแท้จริง

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.เขตบางแค พรรคก้าวไกล ผู้เสนอญัตติดังกล่าว กล่าวว่า การที่ ส.ว.ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา จะดำเนินไปด้วยความตรงไปตรงมา พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันตามที่ได้เสนอไว้ อย่าได้ขอเวลาขยายกรอบการพิจารณาออกไป ลากเกมเตะถ่วง ตามที่หลายๆ คนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในที่ประชุม

กลเกมเหล่านี้ถูกออกแบบมาอย่างดี ทั้งการอยู่ในอำนาจไปให้นานที่สุด จนถึงการเตะถ่วงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างเป็นระบบ