APEC 2022 จบ…แต่สลายม็อบไม่จบ คฝ.ถูกตั้งคำถามเกินกว่าเหตุ? สะเทือนสิทธิเสรีภาพประชาชน

ปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แม้ในมุมรัฐบาลบอกว่า จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม

แต่หลังฉากเหตุเผชิญหน้าระหว่างตำรวจ กับกลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC2022’ ที่ถนนดินสอ กรุงเทพมหานคร เมื่อ 18 พฤศจิกายน ลุกลามบานปลาย

แน่นอนงานนี้ตำรวจตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้ง

ย้อนไปสถานการณ์วันนั้น ระหว่างผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเดินเท้าจากลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.ไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือ 3 เรียกร้องถึง 21 ผู้นำประเทศเข้าร่วม

1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกนโยบาย BCG

2. พล.อ.ประยุทธ์ยุติบทบาทเป็นประธานการประชุมเอเปค

และ 3. พล.อ.ประยุทธ์ต้องยุบสภา เปิดให้เลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ขบวนมาถึงหัวมุมถนนดินสอ มีการตั้งแนวกั้นห้ามผ่าน จนลุกลามกลายเป็นเหตุปะทะ ตำรวจได้สลายการชุมนม บางช่วงได้ใช้กระสุนยาง

มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 ราย อาทิ นายพายุ อายุ 28 ปี ตาขวาบอดสนิท ช่างภาพข่าวหญิง รอยเตอร์ เศษแก้วกระเด็นเข้าตา และนักข่าวพลเมือง The Isaan Record และผู้สื่อข่าว The Matter ถูกทำร้ายร่างกาย ขณะไลฟ์สด ทั้งที่สวมปลอกแขนและยืนยันตัวเป็นสื่อมวลชน มีเจ้าหน้าที่พูดขึ้นว่า “พวกกูเนี่ยของจริง มึงจำไว้” ส่วนตำรวจบาดเจ็บ 15 นาย

ต่อมามีการจับตัวผู้ชุมนุมไป 25 คน ไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง จนประกาศยุติการชุมนุมแล้วไปรวมที่ สน.ทุ่งสองห้องเพื่อกดดัน

ในที่สุดตำรวจทยอยปล่อยตัว 25 คน เป็นชาย 21 คน หญิง 4 คน ในวงเงินประกันคนละ 20,000 บาท หลังแจ้งข้อกล่าวหาความผิดอาญามาตรา 215, 216 และความผิดในข้อหาอื่นๆ อาทิ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นต้น ภายใต้เงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุมและห้ามประกาศเชิญชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมมั่วสุมหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

การสลายการชุมนุมดังกล่าวมีเสียงวิจารณ์ ตั้งคำถามว่ากระทำเกินกว่าเหตุ ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายอานนท์ นำภา พร้อมแกนนำกลุ่มราษฎร ได้นำหลักฐานเป็นภาพการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ภาพบาดเจ็บผู้ชุมนุม แจ้งความ สน.สำราญราษฎร์ ให้ดำเนินคดีตำรวจตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงผู้บังคับบัญชา ที่ใช้กำลังเข้าทำร้ายผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน

ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจร (รอง ผอ.กอร.รปภ.จร.) การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ตำรวจทำไปตามหลักสากล มีการแจ้งเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนแล้ว แต่ยังพบมีการฝ่าฝืนพยายามเคลื่อนขบวนออกนอกสถานที่ที่ไม่ได้ขออนุญาตไว้ จึงจำเป็นต้องเข้าสกัดให้ผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ ผลจากการปฏิบัติหน้าที่มีตำรวจบาดเจ็บ 15 นาย โดย 1 นายอาการสาหัส ขณะนี้กำลังตรวจสอบคลิป ภาพเหตุการณ์ชุมนุมที่ถนนดินสอที่มีผู้บาดเจ็บ พร้อมยืนยันให้ความเป็นธรรมผู้บาดเจ็บทุกคน และหากผลการตรวจสอบพบว่า ตำรวจปฏิบัติความรุนแรงจริงต้องมีบทลงโทษตามขั้นตอน ส่วนการเยียวยาสื่อมวลชนบาดเจ็บเป็นไปตามมาตรการ

สอดคล้องกับ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. ในฐานะโฆษก อร. แถลงว่า กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมเรื่องการห้ามเคลื่อนขบวน ทั้งๆ ที่ตำรวจได้แจ้งเตือนเป็นระยะแล้ว แต่ผู้ชุมนุมก็ฝ่าฝืน ขว้างปาสิ่งของ ทำลายรถกระบะตำรวจเสียหาย และต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กำลังเข้าจับกุมผู้กระทำความผิด ผู้ชุมนุมก็ยังไม่หยุด มีการวางเพลิงบนรถตำรวจด้วย ทำให้ต้องดำเนินการตามยุทธวิธี

ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์จะหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาตรวจสอบและเสนอมาตรการเหมาะสมป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อไป

เมื่อ 22 พฤศจิกายน ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้เรียกตัวแทนจาก ตร. มาไต่สวนกรณีนี้ ถือว่าละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลเมื่อ 10 สิงหาคม 2564 หรือไม่

ระบุว่า นับแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา คฝ.ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมาย นับแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง กว่า 65 ราย แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า คฝ.ถูกตรวจสอบ หรือดำเนินการทางวินัยใดๆ แม้คดีนี้จะมีการฟ้องศาลเพื่อขอให้ใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการกระทำ คฝ. รวมทั้งตรวจสอบการควบคุมดูแลสั่งการผู้บังคับบัญชา ตลอดจนนโยบาย ตร. แต่ปัญหาการใช้ความรุนแรง คฝ.ต่อประชาชนและสื่อมวลชนก็ไม่ได้ถูกปรับปรุงแก้ไข ยังคงมีพฤติกรรมกระทำความผิดซ้ำซาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้ชุมนุม สื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ.อย่างจริงจังทั้งจากผู้บังคับบัญชาและจากนโยบาย

ภายหลังการปฏิบัติหน้าที่ มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาแถลงว่ามีความจำเป็นต้องใช้กำลัง และสื่อมวลชนต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้กระทั่งกล่าวโทษสื่อมวลชนว่าไม่อยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ เป็นต้น โดยไม่เคยแสดงการขอโทษ หรือแถลงมาตรการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมผู้ใต้บังคับบัญชา และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับประชาชนและสื่อมวลชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชา

โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ คฝ.ที่ใช้กำลังทำร้ายประชาชน หรือข้อมูลคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ คฝ.ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยถูกแถลงให้ปรากฏต่อสาธารณชนจากผู้มีอำนาจบังคับบัญชา

การยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวแทน ตร.มาไต่สวนในครั้งนี้ ภาคีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยปรับปรุงพฤติกรรมการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตำรวจ คฝ. และผู้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมสนับสนุน ให้ท้ายการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ใต้บังคับบัญชาจนก่อให้เกิดพฤติกรรมใช้ความรุนแรงปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา

สังคมอารยะเมื่อประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ฟ้องร้องคดี ศาลจะวินิจฉัยฝ่ายใดถูกผิด

แต่ก่อนถึงวันพิพากษา สาธารณชนติดตามข่าวสารวันนี้มีคำตัดสินในใจอยู่แล้ว