‘พรรคป้อม-พรรคตู่’ ‘3 ป.’ แยกทาง สะเทือนกองทัพ วัดพลัง ชิงเก้าอี้ จับตา ‘หยอย-ปั้น-ชาย’ จ่อชิงปลัด กห.

พี่น้อง 3 ป. ที่เคยสร้างตำนาน อำนาจที่แข็งแกร่งยาวนานจากในกองทัพ จนถึงมาคุมอำนาจรัฐบาล โลดแล่นบนถนนการเมือง กำลังถูกจับตามองว่าจะใช้กลยุทธ์แยกกันเดิน รวมกันตี หรือจะตีกันเอง ในที่สุด

หลังบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น้องเล็กของ “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” ตัดสินใจที่จะแยกทางแยกพรรค ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตนเองได้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งขึ้นมาแบบเงียบๆ

แม้ฝ่ายสนับสนุนของทั้ง 2 ป. จะยืนยันว่าแม้จะแยกทางกันเดิน แยกพรรคกันอยู่ แต่ไม่ได้แตกแยก หรือเป็นศัตรูกัน แต่เป็นการบริหารจัดการคนรอบกาย ที่มีความขัดแย้งกันเองใหม่ และใช้กลยุทธ์ใหม่

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่ได้ให้คำตอบว่าจะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตนเองอย่างไร ตามที่ได้สัญญาไว้ว่าหลังเสร็จประชุมเอเปคเสียก่อนก็ตาม

แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามแค่เพียงว่า “พิจารณาอยู่” เมื่อนักข่าวถามถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เสมือนเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่ง

3ป

แม้จะไม่ได้ขัดแย้งแตกแยก แค่แยกทางกันเดิน แยกกันสู้ในสนามรบการเมือง แต่ก็พร้อมที่จะร่วมรัฐบาลกันหลังการเลือกตั้งก็ตาม

แต่โอกาสที่พี่น้อง 3 ป.จะยิ่งขัดแย้งกันก็มีโอกาสสูงขึ้นจากความห่างเหินและการแยกพรรคแยกทางเดิน โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รอง เป็นกุนซือคนสำคัญเคียงข้าง

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีน้องๆ ทหารเก่าที่อยู่ในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ และทีมงานส่วนตัว เป็นกำลังหลัก โดยเฉพาะเตรียมทหารรุ่น 20 ในสายของบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกลาโหมลูกรัก ที่เปรียบเสมือนเลขาฯ ส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร

รวมถึงบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. บิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายแท้ๆ ที่ว่ากันว่าเป็นมือประสานทุกขั้ว และบิ๊กปุ้ม พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายอีกคน ที่เป็นมือประสานในสายสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

และเชื่อกันว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์แยกพรรคไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยจะกลับมาอยู่พรรคพลังประชารัฐกับ พล.อ.ประวิตร แม้จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐที่แสดงปฏิกิริยาต่อต้าน ร.อ.ธรรมนัส และปล่อยข่าวว่าจะลาออก ย้ายพรรคกันจำนวนไม่น้อยก็ตาม

ดังนั้น จึงทำให้ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ถูกจับตามองว่า พรรคใครจะเหนือกว่ากัน และหากพรรคพลังประชารัฐไม่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นจุดขายแล้ว จะไปรอดหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อแยกพรรคไปแล้ว จะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากกว่า 25 ส.ส.หรือไม่ เพราะหากได้จำนวนไม่ถึง ก็เท่ากับจบชีวิตทางการเมืองไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องรอบคอบและวางแผนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าถ้าแยกทางออกมาแล้วจะไปรอด จึงอาจต้องมีกลยุทธ์ในการหน่วงเวลาเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการประกาศตัวลงสู่สนามการเมือง

ด้วยความที่ถูกมองเป็น “สายมู” จึงทำให้จับตามองกันว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเลือกดูฤกษ์ยามโฉลกต่างๆ เพื่อเดินหน้าทางการเมือง

จึงทำให้วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ หรืออาจมีการส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้าพรรค

แต่ที่สุดก็ไม่มีความเคลื่อนไหว ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค

แม้จะไม่ใช่ 21/11/22 หรือ 22/11/22 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังถูกจับตามองว่าหากตัดสินใจ ดูฤกษ์ยามก็ต้องเกี่ยวข้องกับเลขโฉลกคือเลข 1 และเลข 2 ในอนาคต

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ทหารเก่า ที่ห้อยพระเต็มคอ แถมมีเคล็ดในการสวมแหวน เครื่องประดับ และเครื่องรางของขลัง เรื่องของตัวเลข จึงไม่อาจมองข้าม!!

1 และ 2 เป็นเลขโฉลก ที่ไม่เคยมีหมอดูคนไหนทำนายทายทัก แต่เป็นการสังเกตของสื่อมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในกองทัพมานานแล้ว และยิ่งชัดหลังการรัฐประหาร

พล.อ.ประยุทธ์เกิด 21 มีนาคม 2497 เป็นเตรียมทหารรุ่น 12 หน่วยต้นกำเนิด : ร.21 รอ. ทหารเสือราชินี เติบโตใน ร.21 พัน 2 รอ. พล.ร.2 รอ. จนเป็น ผบ.ร.21 พัน 2 รอ. จนเป็นผู้การกรม ผบ.ร.21 รอ. ผบ.พล.ร.2 รอ. แม่ทัพภาคที่ 1 และเป็น “ทบ.1” แถมวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ไปตรงกับวันเสียชีวิตของผู้พันณรงค์เดช พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดข อดีต ผบ.ร.21 พัน 2 รอ. ที่บิ๊กตู่รักและเคารพนับถือมากด้วย

ขณะที่ สนช. ลงมติเลือกเป็นนายกฯ 21 สิงหาคม 2557 ตั้งรัฐบาล คสช. กลายเป็น “สร.1” นรม : นายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ ก็ออก “ค่านิยม 12 ประการ”

1 กุมภาพันธ์ 2562 : นายอุตตม สาวนายน ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้าทำเนียบ เชิญ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ

และที่กำลังถูกจับตามองคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ เตรียมขยับโดยนายพีระพันธุ์ ลูกทหาร ที่เกิด 21 กุมภาพันธ์ 2502 จะส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค รวมไทยสร้างชาติ วันใด

มีการมองว่าที่ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ดึงจังหวะ ดึงเกมออกไปก่อนเนื่องจากเห็นว่ากระแสความนิยมตนเองดีขึ้นหลังจัดประชุมเอเปคสำเร็จจึงระบุว่า “ขออยู่ในห้วงบรรยากาศแห่งความสุขก่อน” จึงยังไม่ตอบเรื่องอนาคตทางการเมือง

เพราะรู้ว่าประกาศเมื่อใดก็คือการลั่นระฆังรบ และการเมืองก็จะเข้มข้นขึ้นทันที

การแยกพรรคแยกทางเดินของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อนักการเมืองและ ส.ส.ที่จะต้องเลือกข้างย้ายพรรค แต่ยังส่งผลต่อน้องๆ ในกองทัพ ที่เป็นสาย 3 ป.ไม่น้อย ที่ดูเหมือนจะต้องเลือกข้างเลือกฝ่ายให้ชัดเจน ว่าจะเข้าบ้านป่ารอยต่อฯ หรือบ้าน ร.1 รอ.

ที่สำคัญคือส่งผลให้มีการวัดพลังกันเองในกองทัพในการชิงตำแหน่งในอนาคตอันใกล้ ระหว่างทหารสายบิ๊กตู่ กับทหารสายบิ๊กป้อม จากที่เคยเป็นเพื่อนพี่น้องร่วมแผงอำนาจ 3 ป.ด้วยกันมา

จึงเริ่มมีบรรยากาศของการเบียดแข่งของแคนดิเดตที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ ที่จะเป็นการผ่องถ่ายอำนาจจากเตรียมทหาร 21 และ 22 ไปสู่เตรียมทหาร 23 และเตรียมทหาร 24

ในจังหวะที่บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ และบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. จะเกษียณราชการพร้อมกันพอดี 30 กันยายน 2565

ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นการแข่งระหว่างบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนหนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด วงศ์เทวัญคอแดง กับบิ๊กจ่อย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร ทหารคอเขียวที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 แม้ว่า พล.อ.ทรงวิทย์จะจบจากนายร้อยทหารบก VMi สหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่เทียบเท่า ตท.24

ขณะที่เก้าอี้ ผบ.ทบ. บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. สายตรงบิ๊กตู่ ก็ชิงกับบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 23 กัน แม้จะเป็นสายตรงบิ๊กป้อม แต่ก็ยังเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน

พลโท วสุ เจียมสุข

ส่วนปลัดกลาโหม ที่แม้จะเกษียณในกันยายน 2568 แต่ในกองทัพก็เริ่มมีการวางตัวปลัดกลาโหมคนต่อไป ที่จะมารับไม้ต่อจากบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ กันแล้ว โดยเฉพาะในหมู่เพื่อน ตท.24

แม้ในสาย ทบ.จะหนุนบิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ เสนาธิการทหารบก ที่เติบโตมาในสายกรมยุทธการทหารบกสายบุ๋น ให้เตรียมข้ามไปเป็นปลัดกลาโหมต่อ เพราะมีอายุราชการถึงกันยายน 2570 ก็ตาม

แต่ที่กลาโหมก็มีแรงหนุน “คนใน” อย่างบิ๊กปั้น พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.กห.) ตท.24 อีกคน ขึ้นเป็นปลัดกลาโหม

นอกจากความรู้ความสามารถในสายบุ๋นแล้ว ยังเป็นเพื่อนสนิทของ พล.อ.สนิธชนกอีกด้วย จึงดึงกันขึ้นมาเป็ย ผอ.สนผ.กห. ที่เปรียบเสมือนเป็นเซ็นเตอร์การขับเคลื่อนงานกลาโหม ทั้งเป็นแม่บ้านกลาโหม และเป็นมันสมองของงานกลาโหม

พลเอก ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา

เพราะหากมองตามโครงสร้างกองทัพ แต่ละเหล่าทัพจะมี 5 เสือ ท็อปไฟว์ มี ผบ.เหล่าทัพ, รอง ผบ., ผู้ช่วย ผบ. และเสนาธิการ แต่กลาโหมไม่มีเสนาธิการ แต่ ผอ.สนผ.กห. ทำหน้าที่เสมือนเสนาธิการกลาโหมก็ว่าได้

พล.อ.ไพบูลย์ก็ถือเป็นครีมของ ตท.24 อีกคนหนึ่ง และเป็นเพื่อนรัก พล.อ.สนิธชนกด้วย

นอกจากที่ ตท.24 จะชิงชัยเก้าอี้ปลัดกลาโหมกันแล้ว ยังมีแคนดิเดตอีกคน อย่างบิ๊กชาย พล.ท.วสุ เจียมสุข ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) จาก ตท.25 ที่รู้กันดีว่าเป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะถูกส่งมาชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหมด้วยอีกคน

โดยคาดว่า จะขยับจาก ผบ.นรด. จาก ทบ. ข้ามมาอยู่กลาโหม ติดยศพลเอกในโยกย้ายครั้งหน้า เพื่อเตรียมขยับขึ้นรองปลัดกลาโหม จ่อชิงปลัดกลาโหม ในโยกย้ายกันยายน 2568 พอดี

พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์

และถือเป็นแคนดิเดตที่ไม่อาจมองข้าม เพราะนอกจากจะเป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์แล้วก็ถือว่าเป็นนายทหารที่เคยเติบโตมาในสายบูรพาพยัคฆ์ ร.12 รอ. มากับ พล.อ.ประวิตรเช่นกัน

ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ ตท.24 ชิงกันเอง และชิงกับ ตท.25 เท่านั้น แต่ยังเป็นการวัดพลังระหว่างสายตรงบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ กับสายตรง พล.อ.ประยุทธ์เลยทีเดียว เพราะ พล.อ.สนิธชนกก็ได้ชื่อว่าเป็นสายตรงบ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร ขณะที่ พล.ท.วสุเป็นน้องรัก พล.อ.ประยุทธ์ และเคยเป็นทีมตึกไทยคู่ฟ้ามาก่อน และถือเป็นแกนนำ ตท.25 ที่เป็นความหวังของรุ่น

เมื่อ 3 ป. 3 ลุง แตกกันเป็น 2 ขั้ว 2 พรรค จึงย่อมส่งผลต่อขั้วอำนาจในกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเมืองเข้มข้นรุนแรงขนาดไหน ในกองทัพจะเพิ่มทวีเป็นสองเท่าเลยทีเดียว