ทำไมรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดีกับทุกคน มากกว่าสวัสดิการพุ่งเป้า “เฉพาะคนจน”

เมื่อพูดถึงคำว่า “นโยบายสาธารณะ” ก็มักจะมีโจทย์ใหญ่อยู่เสมอว่า นโยบายใดเป็นเรื่องเร่งด่วน นโยบายใดเป็นเรื่องสำคัญ ใช้เงินส่วนนี้ไปแล้วได้อะไรกลับคืนมา

หรือหากจะสรุปง่ายๆ อะไรคือนโยบายที่ “ฉลาดที่สุด” ซึ่งเป็นคำที่แปลกมากแต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจชอบโยนมาให้ประชาชนคิดตามและคล้อยตามว่า นโยบายที่ฉลาดที่สุดหน้าตาเป็นอย่างไร

ผู้มีอำนาจบางกลุ่มอาจสรุปง่ายๆ ว่า “ฉลาดที่สุด” คือนโยบายที่ใช้เงินน้อยที่สุด และแก้ไขความขัดแย้งได้มากที่สุด หรือคนพอใจมากที่สุด หรือจะให้ดีก็อาจเป็นนโยบายที่ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรเลยก็ได้

ผมยกตัวอย่าง เช่น หากในห้องมีอาหารอยู่มากมายและมีคนอยู่ในห้อง 10 คน และมีคนที่อยู่นอกห้องที่หิวโหย 100 คน อาหารนี้เพียงพอแม้สำหรับคน 1,000 คน ไม่ได้เดือดร้อนขาดแคลนแต่อย่างใด

หากคุณคิดแบบนโยบายที่ “ฉลาดที่สุด” ประหยัดทรัพยากรที่สุด คุณอาจโยนเศษเนื้อเศษอาหารให้คนที่หิวที่สุด หรือจ้างคนที่แข็งแรงที่สุดที่อยู่ข้างนอกด้วยอาหารของคุณ เพื่อป้องกันไม่ให้คนหิวโหยพังประตูเข้ามา

หรืออาจจะกล่อมให้พวกคนที่อยู่ข้างนอกสยบยอมต่อชะตากรรมว่าความหิวและความจนเป็นชะตากรรม จากชาติปางก่อนไม่อาจแก้ไขได้ เราอาจไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่มากมายนัก ซึ่งอาจทำให้ความโกรธแค้นภายนอกเงียบสงบได้

แต่มันดูน่าตลกว่า นโยบายที่ “ฉลาด” กลับดู “โง่” ขึ้นมาทันที ในเมื่อคุณสามารถต่อโต๊ะอาหารให้ยาวขึ้นและเรียกคน 100 คนเข้ามากินอาหารในห้องด้วย และอาหารก็เพียงพอสำหรับทุกคน

 

ผมเคยถามประโยคนี้ในห้องเรียน ซึ่งก็มีทั้งคนที่เลือกจะเปิดประตูห้อง และคนที่จะหาทางกันคนข้างนอกห้องไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ซึ่งกลไกก็มีตั้งแต่การประดิษฐ์เครื่องมือพิสูจน์ความจน หรือจ้างคนมาทำประตูให้แข็งแรงขึ้น หรือหานักศาสนามาเทศน์เรื่องกฎแห่งกรรม หรือสร้างองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายคนข้างนอกห้องว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่คู่ควรกับอาหารที่อยู่ในห้อง ฯลฯ

แต่คำอธิบายข้างต้นก็เป็นเรื่องราวของคนส่วนน้อยเท่านั้น นักศึกษาส่วนมากเลือกที่จะอธิบายอีกทางว่าการเปิดประตูให้คนข้างนอกเข้ามาใช้ทรัพยากรร่วมกันตามความจำเป็น เป็นแนวทางที่ง่ายกว่า และฉลาดกว่ามากนัก

“ตามโจทย์ที่อาจารย์ให้ อาจารย์บอกเพียงแค่พวกเขาหิว ไม่ได้บอกว่าพวกเขาอันตราย มนุษย์ทุกคนเคยหิวกันทั้งนั้น ความหิวไม่ได้ทำให้พวกเขาอันตราย ความหิวที่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการตอบสนอง”

“ถ้าเราออกแบบการพิสูจน์ว่าใครหิวที่สุด และควรได้สวัสดิการ ควรได้อาหาร ก็จะมีคนที่ต้องการแล้วไม่ได้อยู่ดี ระบบนี้จะมีปัญหาเพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครหิวที่สุด ใครกำลังจะตาย หรือถ้าวางเงื่อนไขอีกว่า ใครได้รับสวัสดิการแล้วต้องทำตัวอย่างไร ต้องทำตัวเป็นคนดี ทำตามเงื่อนไขของผู้ให้ มันไม่มีเหตุผลอะไรเบื้องหลัง นอกจากเก็บเราไว้ให้เป็นหนี้บุญคุณเท่านั้น”

“ต่อให้เราล็อกประตู หรือจ้างคนรักษาความปลอดภัยที่แข็งแรงแน่นหนาขนาดไหน แต่ถ้าข้างนอกยังเต็มไปด้วยผู้หิวโหย ประตูและล็อกก็อาจกันผู้หิวโหยไม่ได้”

นอกจากลักษณะเรื่องความเป็นมนุษย์ที่มนุษย์สามารถรู้สึกว่า การนำเหตุผลของชนชั้นนำในการวางเงื่อนไขว่าอะไรคือนโยบายที่สมเหตุสมผล มันเป็นเพียงแต่เหตุผลเฉพาะกลุ่ม เป็นนวัตกรรมนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อสถานะของบางกลุ่มมากกว่าการแก้ไขปัญหาของคนทั้งสังคม ที่หายใจร่วมกัน สัมพันธ์กับชีวิตร่วมกันในมิติต่างๆ เราไม่ได้อยู่กันแยกขาดปราศจากความสัมพันธ์กันขนาดนั้น

นอกจากนี้แม้แต่ในแง่ประสิทธิภาพที่การจัดสวัสดิการแบบสงเคราะห์มักจะอ้างว่า เป็นการแก้ไขที่ประหยัดทรัพยากร ตรงจุด และมุ่งเป้าเฉพาะไปยังคนที่ต้องการ

ในความเป็นจริงแล้วก็ยังพบว่านโยบายการพุ่งเป้าไปที่คนจน หรือสนับสนุนเฉพาะกลุ่มก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก

 

ประการแรก การจัดสวัสดิการแบบเฉพาะกลุ่มหรือพุ่งเป้า สร้างระบบการพิสูจน์ที่สิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือระบบ เพื่อใช้ในการคัดกรอง อันส่งผลให้แทนที่งบประมาณจะถูกส่งตรงไปที่คนที่มีความต้องการกลับหมดไปกับการจ้างเจ้าหน้าที่ ค่าเดินทาง หรือจ้างคนพัฒนาระบบเพื่อคัดกรอง

ดังเช่นในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลจ้างพนักงานพิทักษ์สิทธิ์จำนวนมาก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบว่าประชาชนที่ไม่ตรงกับเกณฑ์การจัดสวัสดิการของรัฐมีใครบ้าง และแม้สิทธิประโยชน์จะไม่ได้มากมายอะไร ก็ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างคนเพื่อตรวจสอบ

เช่นเดียวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ก็เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างทนายความติดตามเงินกู้นับพันล้านบาท

 

ประการที่สอง สวัสดิการแบบสงเคราะห์หรือเฉพาะกลุ่ม ยิ่งมีเกณฑ์ที่เข้มงวดมากเท่าไร ยิ่งเป็นการกันกลุ่มที่มีความต้องการที่สุดออกไป ยิ่งเงื่อนไขซับซ้อนยิ่งทำให้กลุ่มคนที่รายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้

ดังเช่นปัจจุบันการรับรองสิทธิการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องนำคู่สมรสมายืนยันลักษณะความยากจนของตนเองเพื่อรับสิทธิสวัสดิการ

หรือการที่ผู้ได้รับสวัสดิการอื่นของรัฐแม้จะน้อยนิด เช่น แม้แต่ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐที่มีรายได้น้อยไม่กี่พันบาทต่อเดือน ก็ถูกตัดสิทธินี้เพียงเพราะเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างรัฐ

 

ประการที่สาม สวัสดิการแบบพุ่งเป้ามักมีลักษณะชั่วคราว ปริมาณน้อย ทำให้ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ ผู้ที่ได้รับสวัสดิการเหมือนใช้ชีวิตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ขนาดใหญ่ ที่ติดตามชีวิตอยู่ตลอดเวลา พบว่าในตัวเงินหรือตัวสวัสดิการที่เท่ากัน การให้สิทธิเฉพาะคนจนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้น้อยกว่า การให้สิทธิสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐาน

ดังตัวอย่างสำคัญจากการเกิดขึ้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้คนดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น รักษาโรคพื้นฐานได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งที่ใช้ระบบการรักษาพยาบาลแบบสงเคราะห์อนาถาที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยปฏิเสธที่จะหาหมอในช่วงเริ่มแรกของอาการป่วยไข้

 

จากคำอธิบายทั้งหมดนี้จึงเป็นการยืนยันถึงหลักการพื้นฐานว่า การออกแบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในฐานะสิทธิพื้นฐานของประชาชน จึงนับเป็นแนวนโยบายที่สมเหตุสมผลต่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สามารถลดความขัดแย้ง และแก้ไขปัญหาระยะยาวได้มากกว่าระบบสงเคราะห์ที่ประเทศไทยเราคุ้นเคย

และแน่นอนว่านับเป็นนโยบายที่ฉลาดมากกว่านโยบายพุ่งเป้าที่เน้นการโยนเศษเนื้อข้ามกำแพงหรือสร้างกลไกการพิสูจน์ความจน ที่นอกจากไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ยังลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

และอย่าลืมว่า ประเทศนี้มีทรัพยากรล้นเหลือสำหรับทุกคน สำคัญว่าเราจะก่อกำแพงสูงหรือเพิ่มโต๊ะกินข้าวเท่านั้นเอง