เคล็ดลับการทูตภารตะ… ที่ยักษ์ใหญ่ต้องเกรงใจ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ผมเรียกแนวทางนี้ว่า “การทูตภารตะ”

เป็นแนวทางที่รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนเรนทรา โมดี ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้หลายประเทศทึ่งที่เขาสามารถจับมือกับคู่กรณีระหว่างมหาอำนาจได้อย่างแนบเนียน

ทั้งอเมริกาและรัสเซียต่างก็เกรงใจอินเดีย

จีนซึ่งมีข้อพิพาทชายแดนกับอินเดียมายาวนานก็จำต้องเก็บความหงุดหงิดเอาไว้เพื่อสานสัมพันธ์กับอินเดียเมื่อรัสเซียกลายเป็น “สหายร่วม” ในกรณีสงครามยูเครน

เมื่อรัสเซียหยุดขายก๊าซและน้ำมันให้ยุโรปตะวันตก อินเดียกับจีนก็ได้ซื้อพลังงานจากรัสเซีย

ในราคา “มิตรภาพ” ด้วยซ้ำ

โดยที่สหรัฐอเมริกาไม่กล้าโวยวายใส่อินเดียแต่อย่างใด

อินเดียสามารถรักษา “จุดยืนความเป็นกลาง” ได้อย่างไร คือคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ

ไทยเรายังต้องอิจฉาอินเดียเพราะเราก็อยากจะเป็นที่เกรงอกเกรงใจของยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่กำลังพันตูกันอยู่

แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มากเมื่อทั้งฝั่งตะวันตกและรัสเซียกับจีนกระซิบเราอย่าให้เข้าใกล้วอชิงตันมากนัก

ถามว่านิวเดลี “กังวล” ต่อการที่ประธานาธิบดีปูตินส่งทหารเข้ายูเครนไหม

คำตอบก็คือกังวลแน่นอน

แต่ก็ไม่ออกมาประณามรัสเซียในที่ประชุมสหประชาชาติ

นั่นไม่ได้แปลว่าอินเดียหุบปากเงียบ ไม่แสดงจุดยืนของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์

นายกฯ โมดีเจอปูตินที่อุซเบกิสถานเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาระหว่างการประชุมสุดยอดของกลุ่ม Shanghai Cooperation Organization (SCO) และพูดต่อหน้าว่า

“นี่ไม่ใช่ยุคสมัยของการทำสงคราม”

แทนที่ปูตินจะแสดงออกซึ่งความไม่พอใจที่ผู้นำอินเดียพูดซึ่งหน้าอย่างนี้ ผู้นำรัสเซียกลับแสดงความเกรงอกเกรงใจด้วยการบอกว่าเขาเข้าใจในความกังวลของอินเดีย

และรับปากว่าจะรายงานความคืบหน้าในการพยายามจะยุติสงครามยูเครนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

โมดีสามารถแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าอินเดียไม่เห็นพ้องกับสงคราม แต่ไม่จำเป็นต้องประณามรัสเซีย…ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันว่ายุคนี้สมัยนี้ไม่ควรจะมีสงครามอีกแล้ว

ปูตินไม่เพียงแต่ต้องรับฟังอินเดียเท่านั้น ยังเสนอขายน้ำมันและก๊าซราคาพิเศษให้อินเดียอีกด้วย

เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

การเจรจาหยุดยิงได้เริ่มขึ้นแล้ว และสหประชาชาติได้ระดมเงิน

ทันทีที่เกิดสงครามในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ในการประชุมฉุกเฉินครั้งที่ 11 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนในทันที และถอนกำลังทหารทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข

อินเดียและจีนเลือกที่จะงดออกเสียงอีกครั้ง

จีนอ้าง “ประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของวิกฤตในปัจจุบัน” และ “หลักการของความมั่นคงที่แบ่งแยกไม่ได้”

ซึ่งหมายถึงการขยายตัวทางทิศตะวันออกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)

และวิกฤตที่คล้ายกันในสนามหลังบ้านของตนเอง

ในทางกลับกัน “คำอธิบายการลงคะแนนเสียง” ของอินเดียกล่าวถึง “สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด”

อินเดียระบุว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศคือการอพยพชาวอินเดียที่ตกค้างอยู่ในบริเวณที่มีการสู้รบ

แต่ในเวลาเดียวกัน อินเดียได้เน้นว่าก็ยังมีความ “ความมุ่งมั่นในหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และการเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกรัฐ”

และส่งอุปกรณ์บรรเทาทุกข์และเวชภัณฑ์ไปยังยูเครนด้วยในเวลาเดียวกัน

 

แน่นอนว่านักวิเคราะห์ข้างนอกมองว่า “ท่าทีระมัดระวัง” ของอินเดียนั้นย่อมจะถูกตีความได้ว่าเป็นการสนับสนุนรัสเซียโดยปริยาย

แต่คำอธิบายของอินเดียก็คือท่าทีแข็งกระด้างและกร้าวของตะวันตกต่อการรุกคืบทางทหารของรัสเซียนั้นรังแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

อินเดียตอกย้ำถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์และการที่ยุโรปจะต้องหาทางออกโดยไม่ทำให้รัสเซียรู้สึกถูกโดดเดี่ยวหรือกำลังถูกภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน

คำถามของเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกมีหลายข้อ เช่น ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียเป็นการทดสอบนโยบายต่างประเทศของอินเดียที่ปรับตัวได้จริงหรือ?

อะไรคือความยุ่งยากสำหรับอินเดียในการดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในยุคสมัยนี้?

หากอินเดียเดินหน้าในแนวทางนี้ จะส่งผลกระทบต่อความพยายามของอินเดียในการมีส่วนร่วมกับภูมิภาค “ยูเรเซีย” หรือไม่?

อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ ท่าทีของอินเดียเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการผนึกกำลังที่เพิ่มขึ้นกับตะวันตกหรือไม่?

อินเดียเป็นสมาชิกของ Quad หรือ “จตุภาคี” ที่มีสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเป็นสมาชิกอยู่ในการจัดระเบียบความมั่นคงของย่าน Indo-Pacific อยู่ด้วยมิใช่หรือ?

 

หากมองให้ลึก อีกด้านหนึ่งอินเดียมีความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์พิเศษและมีสิทธิพิเศษ” กับรัสเซียไม่ใช่น้อย

นั่นครอบคลุมความเข้าใจทางการเมือง ความร่วมมือด้านการป้องกันที่แข็งแกร่ง หุ้นส่วนด้านอวกาศ และความสัมพันธ์ด้านพลังงาน

ต้องไม่ลืมว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศย้อนกลับไปถึงยุคสงครามเย็นด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1970 อันเป็นปีที่อินเดียลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ 20 ปีกับสหภาพโซเวียต (ทั้งๆ ที่อินเดียจะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือ Non-Aligned Movement, NAM)

ความจริงอีกข้อหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือสหภาพโซเวียตเคยส่งอาวุธให้อินเดียในการทำสงครามปากีสถาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารจากสหรัฐตลอดหลายปีที่ผ่านมา

รัสเซียได้จัดหาเรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบินขับไล่ และแม้กระทั่งความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนให้อินเดีย

การค้าระหว่างรัสเซียมีมูลค่าเพียง 8.1 พันล้านดอลลาร์ (เมษายน 2020 ถึงมีนาคม 2021)

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐก็ต้องถือว่าไม่สูงนัก

หรือแม้แต่กับสหภาพยุโรป อินเดียก็มีการซื้อขายมากกว่า

แต่ความสัมพันธ์ด้านการป้องกัน (และพลังงาน) ของอินเดียกับรัสเซียมีความสำคัญที่ไม่อาจจะมองข้ามได้

รัสเซียยังเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้อินเดีย

โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 49% ของการนำเข้าอาวุธของอินเดียในช่วงปี 2016-2020

ในปี 2018 อินเดียได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อจัดซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย ซึ่งทำให้สหรัฐชี้ว่าข้อตกลงนี้เข้าข่ายการคว่ำบาตรภายใต้กฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act (CAATSA) ของวอชิงตัน

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การคว่ำบาตรรัสเซียในปัจจุบันของตะวันตกและสถานการณ์เลวร้ายในยูเครนย่อมจะส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของยูเครนและรัสเซีย

นั่นหมายความว่าจะต้องส่งผลกระทบต่ออินเดีย…ไม่เพียงแต่ต่อโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ของอินเดียกับรัสเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อตกลง เช่น สัญญาป้องกันขีปนาวุธร่อนแบบ BrahMos มูลค่า 375 ล้านดอลลาร์เมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างอินเดียกับฟิลิปปินส์

เพราะข้อตกลงนี้ต้องใช้ส่วนประกอบที่สำคัญจากรัสเซีย

อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความสัมพันธ์ของอินเดียกับรัสเซียและสหรัฐและจีนนั้นมีความลุ่มลึกมากกว่าที่คิด

จากที่เป็นแกนนำของ “กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ในยุคสงครามเย็น อินเดียปรับกลยุทธ์เป็น “นโยบายฝักใฝ่ทุกฝ่าย” อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

(สัปดาห์หน้า : “วิถีอินเดียในภาวะโลกรวน”)