ถอดรหัส “สวนดอกไม้” ในคำปราศรัยของ “สี จิ้นผิง” ในงานเอเปค | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(Photo by Handout / Thai Government / AFP)

“…เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สวนดอกไม้หลังบ้านของใคร ไม่ควรเป็นพื้นที่แข่งขันของประเทศมหาอำนาจ ประชาชนและยุคสมัยของเราจะไม่ยอมให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่…”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังได้กล่าวอีกว่า

“…เราควรเดินตามการพัฒนาอย่างสันติ เส้นทางของการเปิดกว้างและมีส่วนร่วม และเส้นทางแห่งความสามัคคี…ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เสนอ 6 แนวทางตามแนวทางนี้ ได้แก่ เร่งรัดพื้นฐานเพื่อพัฒนาสันติภาพ พยายามให้บรรลุความเชื่อมโยงในมาตรฐานที่สูงขึ้น สร้างเสถียรภาพไม่กีดขวางห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทาน และสนับสนุนยกระดับเศรษฐกิจ…”

คำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เพื่อการประชุม APEC CEO Summit ที่กรุงเทพฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

คำแปลภาษาอังกฤษอย่างคร่าวๆ จากเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในบริบทโลก

ความจริงแล้ว คำแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่อที่ประชุม APEC CEO Summit ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน ทันทีที่ท่านประธานาธิบดีเดินทางจากที่ประชุม G 20 ที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย มากรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาละเอียด มีประเด็นสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ย่อมมีความสำคัญและมีความหมายอย่างมาก

ข้อความข้างต้น เป็นเพียงหยิบยกบางประเด็นขึ้นมา เพื่อให้การวิเคราะห์ทำได้ไม่ยากต่อความเข้าใจของตัวผมเองเท่านั้น หาได้มีเจตนาลดทอนสาระและความสำคัญของคำแถลงข้างต้น

เราควรมองอะไรได้บ้างจากคำแถลงนี้

เบื้องต้น ประการแรก แถลงการณ์ของประธานาธิบดีสี คล้ายๆ จะล้อไปกับเป้าหมายหลักของเจ้าภาพคือประเทศไทยผู้จัดการประชุมเอเปค คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) – BCG

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสีกำลังก้าวเข้าสู่การบูรณาการที่กว้างขวางมากกว่าเดิมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ในฐานะที่จีนมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้อยู่แล้วในด้านเป็นตลาดใหญ่ เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ คนจีนเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของภูมิภาค ดังนั้น ประธานาธิบดีสีจึงเสนอให้เปิดอีกครั้ง (re open) บูรณาการอีกครั้ง (re integration) โดยที่จีนเสนอกลไกการพัฒนาด้วยดิจิทัลไลเซชั่น และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจของโลก ที่มากกว่าเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

ที่สำคัญ ในขณะที่ประเทศเจ้าภาพผู้จัด APEC อย่างไทยหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด ที่จะให้การประชุมเอเปคเป็นเวทีพูดคุย เจรจาทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม หลายประเทศก็ผลักดันประเด็นวาระการเมืองระดับทวิภาคีและพหุภาคีเข้าสู่การเจรจากัน

ดังนั้น คำแถลงของประธานาธิบดีสีจึงเน้นว่า เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สวนดอกไม้หลังบ้านของใคร ไม่ควรเป็นพื้นที่แข่งขันของชาติมหาอำนาจ ประชาชนและยุคสมัยของเราจะไม่ยอมให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่

อันหมายถึง สหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีสีท่านไม่ได้เอ่ยชื่อออกมา

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสียังได้ชี้ให้เห็นในแถลงการณ์ของเขาว่า

“…แนวคิดสงครามเย็น การครองความเป็นใหญ่ เอกภาคีและอนุรักษนิยม ได้กลับมาฟื้นตัวอีก พฤติกรรมที่บ่อนทำลายกฎระเบียบสากลและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจหนุนหลังการปะทะกันในภูมิภาค…เป็นความท้าทายต่อสันติภาพและการพัฒนาของเอเชีย-แปซิฟิก…”

นี่เป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ในเอเชีย-แปซิฟิกที่ประธานาธิบดีสีนำเสนอต่อที่ประชุมของนักธุรกิจสำคัญของภูมิภาคเลยทีเดียว ไม่ต้องรอให้เข้าสู่ที่ประชุมในระดับผู้นำ ซึ่งจะเป็นวงประชุมในวันถัดมา

ระหว่างที่คำแถลงนี้มุ่งสู่ประเด็นหลัก คือ สงครามเย็นใหม่ (New Cold War) อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นท่าทีของจีนที่ดูแล้วอ่อนลง หลังจากที่จีนใช้นโยบายต่างประเทศแนวแข็งกร้าวและท่าทีแนวเหยี่ยว (Hawkist) สืบเนื่องจากประเด็นวิกฤตการณ์ไต้หวัน หลังจากการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา นางแนนซี เพโลซี

Photo by Noel Celis / AFP)

จีนในมิติใหม่

สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณา เราไม่ควรมองจีนอย่างที่เราคุ้นเคย ได้แก่ ต้นแบบของสังคมนิยมแนวทางเหมา (Maoism)

จีนเองก้าวสู่ระบบทุนนิยมและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว จีนทะยานสู่การเป็น ตลาดโลก เป็นโรงงานของโลก เป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี

จีนได้ปรับเปลี่ยนเป็นมหาอำนาจทางการทหารทั้งในแง่กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ จนจีนเริ่มเป็นผู้ส่งออกด้านอาวุธ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติของจีนยังได้เน้นผลประโยชน์แห่งชาติหลัก คือ ความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร โดยที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์หลักของจีน อาจรวมไปถึงด้านการเมืองการทหารอีกด้วย

เราควรวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึง การทูตหมาป่า (Wolf Diplomacy) ของรัฐบาลจีน ว่าเป็นแนวทางการทูตเชิงรุก มีกลไก และมีเป้าหมายเชิงการทหารและความมั่นคงอย่างไร

(Photo by Diego Azubel / POOL / AFP)

จีน-ไทยในยุคสี จิ้นผิง

จีนในมุมมองใหม่กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว เลิกมองจีนในมุมมองเก่าได้แล้ว

มุมมองเดิม ได้แก่ จีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นของไทย จีนเป็นประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของไทย ไทยกับจีนเป็นพี่น้องกัน

แต่จีนเป็นผู้ค้าอาวุธอันดับ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่จีนอาจเพิ่มสถานะของผู้ค้าอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่รัสเซียเริ่มสูญเสียสถานะผู้ค้าอาวุธอันดับหนึ่งของภูมิภาค เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้บั่นทอนชื่อเสียงด้านประสิทธิภาพของอาวุธรัสเซีย

อีกทั้งการผลิตอาวุธในรัสเซียต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์บางส่วนเพื่อผลิตอาวุธ เนื่องจากรัสเซียถูกแซงก์ชั่นจากชาติมหาอำนาจตะวันตก

มีคำถามจากเพื่อนๆ ชาวจีนตรงมาที่ผมว่า ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากจีนในการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ บ้าง ผมได้ตอบอย่างเศร้าๆ ว่า ได้น้อยกว่าที่คิดมาก

ประการแรก ผมคิดว่าเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เป็น คาถา ของผู้นำไทย ที่ท่องบ่นตลอดเวลาเพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านโมเดลทางเศรษฐกิจ

ในความเป็นจริง เศรษฐกิจชีวภาพเพิ่งก่อตัวในระบบเศรษฐกิจไทย เราจะเห็นได้ว่ามีเพียงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ที่เริ่มกระจาย (Diversify) ธุรกิจหลักของตนไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ

ส่วนเศรษฐกิจสีเขียว ในหลักการนั้นดี แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยถูกแรงกดดันจากชาติเศรษฐกิจใหญ่ในโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งจากการประชุม COP 26 ที่สหราชอาณาจักร และ COP 27 ที่อียิปต์ในขณะนี้ แรงกดดันที่อาจมีผลต่อข้อจำกัดทางการค้าในภาคเกษตรกรรมที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง

รัฐบาลไทยจึงท่องคาถากันยกใหญ่ว่าจะลดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เท่าไร ในปีไหนบ้าง แต่ในเวลาเดียวกันภาครัฐกลับมีนโยบายสนับสนุนการปลูกป่าของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อนำมาใช้เป็นคาร์บอนเครดิต อันยังถกเถียงได้ต่อไปอีกว่า บุกรุกป่า ได้รับชื่อเสียง แล้วยังได้รับแรงจูงใจจากภาครัฐที่เป็นงบประมาณให้ด้วย

คาถา ที่ผู้นำไทยท่องแล้วท่องอีกนี้ สะกดใครไม่ได้ทั้งนั้น เพราะผู้นำไทยไม่เคยเข้าใจสถานภาพที่เป็นจริงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเลย หลังจากยุคกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (New Industrialized Countries-NICs) ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่ไทยท่องคาถา ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย 555 ไทยได้เป็นแมวขี้โรคแห่งเอเชียไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 และไม่ต้องเผชิญภาวะวิกฤตพลังงานเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็อยู่นอกห่วงโซ่อุปทาน การผลิตต่างๆ ของโลก ไม่ว่าชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ไทยเคยส่งออกให้จีนและอาเซียน

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยลงทุนด้านเทคโนโลยีน้อยมาก จึงยังคงส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศเหมือนเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ยังส่งแรงงานออกไปตะวันออกกลาง ไต้หวัน เกาหลีใต้ เหมือนเมื่อต้นทศวรรษที่ 1970 ระบบเศรษฐกิจไทยจึงไม่เคยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเลขสองหลักอีกเลยหลังปี 1987

ประการที่สอง เรายังคงส่งข้าวขายในต่างประเทศ แล้วเราใช้ข้าวเป็น Soft Power ใส่จานกระดาษให้ผู้นำเอเปครับประทาน พร้อมชื่นชมมวยไทย ผ้าไทย แล้วผู้นำไทยบอกแก่ชาวโลกว่า ไทยมีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

ลองหันไปดูนอกงานเลี้ยง คนไทยยากจนและอดอยากเต็มบ้านตอนนี้ พอจะมีผลไม้ ทุเรียน เงาะ ลำไย พอขายให้กับจีนได้บ้าง ล้งจีนก็มาพร้อมกับบ่อน ผับ ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าออนไลน์ สีเทาจนไม่รู้จะต้องทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-จีนไปทำไม เพราะเสรีมากๆ อยู่แล้ว

ผู้นำไทย ท่องคาถา ด้วยโลกทรรศน์เก่าๆ เห่องานเลี้ยง ชอบอวด เศรษฐกิจไทยจึงไม่ไปไหน เราจึงเสนอ เศรษฐกิจอนาคต ที่ไม่รู้ว่าเราจะไปถึงเมื่อไร