เอเปค…เส้นทางสายไหม และทุนจีนสีเทา (2) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

เอเปค…เส้นทางสายไหม และทุนจีนสีเทา (1)

คลองไทยจะได้ขุดหรือไม่ยังไม่รู้ แต่จีนก็ได้มาสร้างท่าเรือน้ำลึกไว้ในอ่าวไทย อยู่ในพื้นที่จังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา และยังมีโครงการจะทำเศรษฐกิจพิเศษดาราสาคร ที่เกาะกง ชายแดนไทยใกล้จังหวัดตราด

ที่มีทั้งสนามบินและท่าเรือน้ำลึกซึ่งสามารถขยายให้ใหญ่กว่าท่าเรือแหลมฉบังของไทย (ซึ่งทางอเมริกามองว่าจีนอาจจะปรับใช้ทั้งสนามบินและท่าเทียบเรือในการทหารได้)

ถ้ามีการขุดคลองไทยจริงโครงการดาราสาครก็จะเป็นประโยชน์ ที่จะเป็นจุดเชื่อมการค้า ก่อนจะวิ่งข้ามอ่าวไทยผ่านคลองที่จะขุดและไปออกทะเลอันดามัน จากนั้นก็สามารถมุ่งตรงไปแอฟริกา อินเดีย หรือตะวันออกกลางและผ่านไปยุโรปได้ทันที

มองในเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารจะมีประโยชน์ถ้าหากมีคลองไทยขุดขึ้นเพราะเครื่องบินจากดาราสาครสามารถบินขึ้นคุ้มกันเรือที่ผ่านเส้นทางนี้จากอ่าวไทยจนถึงทะเลอันดามันภายในไม่กี่นาที

แต่ถ้าคลองไทยไม่ได้ขุดท่าเรือน้ำลึกที่จะทำการค้าขายเฉพาะกัมพูชาก็ไม่คุ้มค่า ก็คล้ายๆ กับรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งจากจีนมาจนถึงประเทศลาวมาหยุดที่สถานีเวียงจันทน์ ถ้าไม่ได้ต่อเข้าไทยและไปสิงคโปร์ ประโยชน์ก็ใช้น้อยมากเพราะลาวมีพลเมืองเพียงไม่กี่ล้าน น้อยกว่ากัมพูชาเสียอีก

แต่โครงการดาราสาครยังดำเนินการต่อ แสดงว่าจีนมีความมั่นใจว่า โอกาสจะเกิดคลองไทยยังมีในอนาคต

คลองไทยเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทั้งทางการค้าและการทหารในยามที่ไม่มีสงครามจะเป็นประโยชน์กับประเทศที่มีการส่งออกและนำเข้าขนาดใหญ่คือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ข้อถกเถียงกันเรื่องคลองไทยนั้น รายงานของรัฐสภามีเอกสารที่เป็นคำชี้แจงของอดีตประธานสมาคมเจ้าของเรือไทยว่า สมมุติเรือวิ่งผ่านช่องแคบมะละกาตามปกติระยะทาง 1,550 Nautical Miles ใช้ความเร็ว 19 Knot เวลาเดินเรือ 3 วัน 9 ชั่วโมง 35 นาที ส่วนเรือที่วิ่งผ่านคลองไทยระยะทางจะสั้นลงเหลือ 1,257 Nautical Miles แต่ความเร็วที่ใช้ได้คือ 9 Knot เพราะต้องวิ่งในคลอง เวลาเดินเรือ 3 วัน 4 ชั่วโมง 28 นาที ซึ่งมีความแตกต่างกับการวิ่งผ่านช่องแคบมะละกาเพียง 5 ชั่วโมง ไม่ใช่ 5 วันหรือ 2 วัน ดังนั้น จากตัวอย่างนี้การที่เรือวิ่งผ่านช่องแคบมะละกาจึงแทบไม่มีความแตกต่างกับการวิ่งผ่านคลองไทย

ทีมวิเคราะห์มองว่าความสำคัญของคลองไทยไม่ได้อยู่ที่ว่าจะย่นระยะเวลาลงมามากน้อยเท่าใด แต่มันจะเป็นการเพิ่มเส้นทางสำรองถ้าเกิดปัญหาในช่องแคบมะละกา และในยามปกติก็จะช่วยระบายความหนาแน่นของเรือจากแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียซึ่งจะต้องขนทั้งสินค้าสำเร็จรูปวัตถุดิบและพลังงาน

มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่จีนและญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น ถ้าจะลงทุนต้องคิดให้ดี

 

ตัวอย่างการลงทุน
โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว

โครงการรถไฟสายจีน-ลาว มีมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) จีนรับผิดชอบภาระทางการเงิน 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนที่เหลือลาวรับผิดชอบ

แต่โครงการที่มีมูลค่าการลงทุน ราว 1/3 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ลาวติดกับดักหนี้สิน เพราะเงินทุน 60% เป็นเงินกู้จากธนาคารเอ็กซิมแบงก์ของจีน ซึ่งลาวก็ต้องรับภาระหนี้สิน 38,000 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือ 40% จีนหามาไม่ยาก แต่ลาวต้องหาอีก 2.5 หมื่นล้านบาทมีงบประมาณไม่พอ สุดท้ายก็ต้องกู้จากธนาคารของจีนอีก 17,000 ล้านบาท

สภาพจริงคือลาว คงไม่มีตัวเงินให้กับจีน แต่จะใช้สินแร่ในประเทศแทนเงินกู้ เพราะสินแร่เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ลาวนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับการลงทุนในโครงการนี้

ผลกระทบอีกเรื่องคือการยึดครองที่ดินของนักลงทุนชาวจีนในลาว ซึ่งตั้งแต่โครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้น มีการหลั่งไหลของนักลงทุนชาวจีนที่เริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ในการทำธุรกิจตามแนวรถไฟโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆ เจ้าของที่ดินหรืออาคารต่างเลือกที่จะทำธุรกิจกับนักลงทุนชาวจีนมากกว่ากับคนลาวในพื้นที่ เพราะนักธุรกิจชาวจีนมีเงินลงทุนที่สูงกว่าและทำสัญญาในการเช่าพื้นที่ทำธุรกิจในระยะเวลาที่ยาวกว่า

ถ้าคิดจะขุดคลองไทย การต่อรองทางผลประโยชน์ และสร้างความสมดุลของอำนาจจากต่างประเทศ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่เงินลงทุน

จีนมีท่าเรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญบนเส้นทางสายไหมถ้าจะใช้ผ่านคลองไทย หลายจุด เช่น ท่าเรือ Gwadar ที่ปากีสถาน ซึ่งมีชายแดนอีกด้านหนึ่งติดประเทศจีน ท่าเรือ Hambantota ที่ศรีลังกา ท่าเรือ Djibouti ซึ่งตั้งอยู่ปากทะเลแดงเป็นจุดสำคัญในการควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันของทุกประเทศ และเส้นทางทะเลแดงไปยังคลองสุเอซที่จะไปออกยุโรป นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือ Mombasa ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญดั้งเดิมตั้งอยู่ในประเทศเคนยาแอฟริกา

ท่าเรือนั้นจะใช้คนเดียวหรือแบ่งกันใช้ก็ได้แต่ถ้าเป็น…คลองเส้นทางลัด…จำเป็นจะต้องแบ่งกันใช้ให้คนทั้งโลกได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

 

การไหลออกไปต่างประเทศของคนจีน

ที่จริงมีชาวจีนจำนวนหนึ่งมาแล้ว มาเงียบๆ ก่อนเส้นทางรถไฟจะมาถึง คนจีนที่ทรหด ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า กำลังไหลลงสู่ตอนใต้ เข้าสู่ทุกประเทศ ทั้งพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และประเทศแถบทะเลจีนใต้

จากคนจีน 1,400 ล้านคน ไหลลงมาแค่ 0.1% ก็เท่ากับ 1.4 ล้านคน มาทั้งในรูปทุนใหญ่ เป็นบริษัทมีเทคโนโลยีสูง และทุนเล็ก เป็นพ่อค้าวาณิชแต่สามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนได้

วันนี้พวกเขาเหมือนทหารที่มีอาวุธ มีเสบียงพร้อม มีความอดทน แข็งแกร่ง คาดว่าในระยะเวลาไม่กี่ปี จะสามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเบียดขับคนท้องถิ่น ขึ้นมาควบคุมการค้า

แต่ทุนจีนสีเทาจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเส้นทางสายไหม เพราะไม่มีชาติไหนอยากให้กลายเป็นเส้นทางโจร

ในเมื่อสี จิ้นผิง ก็รังเกียจขยะและเชื้อโรคที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมจีน

ประเทศอื่นก็ไม่ต้องการรับเอาสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ เพราะแต่ละประเทศก็มีมากพออยู่แล้ว

การประชุมเอเปคจบลงไปแล้ว ไม่ว่าประชาชนจะรู้หรือไม่ว่า BCG คืออะไร แต่การลงนามในข้อตกลงต่างๆ และแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะไม่มีผลต่อยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ ความขัดแย้งของมหาอำนาจและการแย่งชิงผลประโยชน์ทั้งประเทศใหญ่ประเทศเล็ก จบการประชุมก็ถือเป็นการจบพิธีกรรมระหว่างประเทศ

การยิงผู้ประท้วงจนตาบอดได้แสดงให้ชาวต่างชาติเห็นว่าเรื่องการใช้อำนาจรัฐกดขี่ผู้เห็นต่างในประเทศไทยเป็นเรื่องปกติจริงๆ

ถ้าไม่มีการต่อต้าน จนเกิดการยกเลิกมติ ครม.เรื่องขายที่ดิน 1 ไร่ให้ต่างชาติ งานนี้จะเป็นการโฆษณาขายที่ดินจัดสรรระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุด และครั้งนี้มีโอกาสจะขายได้พอสมควร จะวิเคราะห์ให้ฟังว่าไปเกี่ยวข้องกับทุนสีต่างๆ อย่างไรในตอนต่อไป