การเมืองร้อน หลัง APEC จับตา Turning Point คำวินิจฉัยศาล รธน.ต่อ กม.ลูก 2 ฉบับ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ฉับพลันที่การประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 สิ้นสุดลง การเมืองในสภาที่เคยพักรบเนื่องจากไม่มีการประชุมในช่วงดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาที่ถือโอกาสพักผ่อนหรือใช้โอกาสการเป็นกรรมาธิการเดินทางไปศึกษาดูงานสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศก็เริ่มกลับมาสู่การทำหน้าที่ตามปกติ บรรดาข่าวการเมืองก็กลับมาคึกคักขึ้น

คำถามเกี่ยวกับการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คำถามเกี่ยวกับการสมัครเข้าสังกัดพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำถามเกี่ยวกับการยุบสภาหรือจะอยู่จนครบวาระเริ่มดังขึ้น สร้างความร้อนทางการเมืองและยังจะทวีความร้อนยิ่งขึ้นยิ่งเข้าใกล้การครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

แต่จุดเปลี่ยน หรือ Turning Point ที่สำคัญทางการเมืองอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แต่ละแบบของคำวินิจฉัย ย่อมหมายถึงหน้าตาของการเมืองไทยที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

สี่แบบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ตัวแบบจำลองของการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถผสมผสานรูปแบบการตัดสินใจออกมาในรูปแบบตารางได้ 4 รูปแบบ (ตามภาพ)

สถานการณ์ A คือสถานการณ์ที่ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เป็น Best Case Scenario ดังนั้น การเดินหน้าสู่การเลือกตั้งจึงไม่มีปัญหาอุปสรรคใด เป็นไปตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยมีกติกาของการดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองที่ผ่อนคลาย สรรหาผู้สมัครเขตและบัญชีรายชื่อแบบพอเป็นพิธี

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรสองใบ ผู้ได้คะแนนมากสุดในเขตเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากบัตรใบที่สองในสัดส่วนร้อยละที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้คะแนนรวมจากประชาชนแบบคู่ขนานหรือที่เรียกว่าหารร้อย

ในสถานการณ์นี้ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ จะมีความได้เปรียบเพราะจะได้ ส.ส.ทั้งระบบเขตและยังมากินสัดส่วนใน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย มีการคาดการณ์ว่าโอกาสที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่พรรคเดียวจะได้ ส.ส.ทั้งสองประเภทรวมกันได้ถึง 200 ที่นั่งขึ้นไป

พรรคขนาดกลางจะได้ที่นั่งน้อยลง ส่วนพรรคเล็ก พรรคจิ๋วเตรียมสูญพันธุ์

สถานการณ์ B คือสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น มีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. นั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ในกรณีนี้เท่ากับเป็นการบอกว่า กระบวนการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้นไม่อาจแก้ไขกระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบผ่อนคลายได้ พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครในเขตใดได้ต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตนั้นๆ และต้องมีกระบวนการทำการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) ที่เข้มข้น

ในขณะที่วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.นั้นไม่มีสิ่งใดขัด สามารถเดินหน้าเลือกตั้งแบบบัตรสองใบและนับคะแนนแบบคู่ขนานได้

ในสถานการณ์นี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และพรรคการเมืองเก่า เพราะมีการจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตต่างๆ ได้ครบถ้วนมากกว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเผยแพร่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ระบุถึงพรรคการเมืองที่ตัวแทนประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้ง ที่สามารถส่งผู้สมัครในระดับกว้างขวางเกือบทั่วประเทศ จะมีเพียงไม่กี่พรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ มี 317 ตัวแทน พรรคเพื่อไทย 311 ตัวแทน พรรคเสรีรวมไทย 287 ตัวแทน พรรคพลังประชารัฐ 264 ตัวแทน พรรคก้าวไกล 213 ตัวแทน พรรคภูมิใจไทย 209 ตัวแทน

ในขณะที่พรรคอื่นๆ ที่เหลือจะมีตัวแทนประจำจังหวัดที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้ง ในระดับหลักหน่วย หลักสิบ ถึงไม่เกิน 100 คนทั้งสิ้น

สถานการณ์ C เป็นสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ในกรณีนี้ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองจะผ่อนคลายขึ้น เปิดโอกาสให้พรรคเล็กขยายตัวในด้านการหาสมาชิกและการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.เขต

ในขณะเดียวกัน สูตรหารร้อย ที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคเล็กจะไม่สามารถนำมาใช้ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจนำไปสู่การย้อนกลับไปใช้สูตรบัตรสองใบ แต่คำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีก่อนคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.ในระดับเขตมาก จะได้ ส.ส.บัญชีรายน้อยลง พรรคกลาง พรรคเล็ก พรรคปัดเศษ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น

แต่ยังไม่มากเท่ากับการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 เนื่องจากจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงจาก 150 เหลือ 100 คน

สถานการณ์ D เป็น Worst Case Scenario คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสองฉบับนั้นขัดหรือแย้ง หรือมีกระบวนการได้มาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในด้าน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรสามารถกลับไปใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ตามเดิม เพียงแต่อาจสร้างความยากลำบากแก่พรรคการเมืองเพิ่มขึ้นบ้างโดยเฉพาะพรรคที่ตั้งใหม่หรือพรรคขนาดเล็ก

แต่กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 นั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้งได้ เนื่องจากฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว มีจำนวน ส.ส.เขต 350 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ที่กำหนดบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ และให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

สถานการณ์ C และ D จึงเป็นสถานการณ์มุมอับที่หากสภาผู้แทนอยู่จนครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 หรือนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นก่อนครบวาระ จะไม่มีกฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการเลือกตั้งได้ ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่า อาจมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าการจัดทำกฎหมายใหม่จะแล้วเสร็จ

การคาดการณ์ในกรณีดังกล่าวนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดการเลือกตั้งทั้งกรณีครบวาระชัดเจนว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน และไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันในกรณียุบสภาเป็นที่ชัดเจน

หากเกิดกรณีที่ยังไม่มีกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ที่คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง และรัฐสภาจะต้องหาวิธีการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมายใหม่โดยเร็วเข้าสู่สภา หรือการออกพระราชกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี หรือการออกคำสั่ง ประกาศ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้มีกติกาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขไปแล้ว

หรือไปไกลขนาดยูเทิร์น กลับไปใช้แก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบ เพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว เปลี่ยนจำนวน ส.ส.เขตกลับเป็น 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 150 คน และคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีแบบจัดสรรปันส่วนผสม เหมือนกับการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562

ใครจะบอกน่าเกลียด กลับไปกลับมา โลเล ไม่มีหลักการ

เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง เพื่อการครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน เขากลับไปกลับมาหลายรอบแล้วครับ