ฟุตบอลโลกกับอาชญากรรม | คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ในบางประเทศ ช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง เพราะโจรหรืออาชญากรก็หยุดปล้น หยุดก่ออาชญากรรมเพื่อเชียร์ฟุตบอลโลก

ขณะเดียวกันผู้คนก็รีบกลับบ้านเพื่อไปเชียร์ฟุตบอลโลก ไม่ได้อยู่นอกบ้านซึ่งมีโอกาสก่อเรื่องวุ่นวายมากขึ้น

 

ประเทศอุรุกวัย มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า ช่วงฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ อาชญากรรมในอุรุกวัยลดลงจริงๆ

ในเกมนัดสำคัญที่ทีมชาติอุรุกวัย หรือทีมดังๆ ลงแข่งขัน อาชญากรรมการปล้นบ้านเรือนและอาชญากรรมบนท้องถนนในเมืองมอนเตวิเดโอ (Montevideo) เมืองหลวงของอุรุกวัย ลดลงถึง 15%

แต่ในการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตร ไม่มีผลต่อการลดลงของอาชญากรรมแต่อย่างใด

ส่วนที่ประเทศเคนยา แม้ทีมชาติจะไม่ได้ลงแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 แต่ตำรวจในเมืองคิซูมู (Kisumu) เมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเคนยา ก็รายงานว่าช่วงฟุตบอลโลก อัตราอาชญากรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่มักก่ออาชญากรรมมีกิจกรรมทำ นั่นคือ การเชียร์ฟุตบอลโลก ไม่ออกมาหาเรื่องก่ออาชญากรรมตามท้องถนน

กีฬานัดสำคัญๆ มีผลต่ออัตราการก่ออาชญากรรมในประเทศ

ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในชั่วโมงที่แมนนี่ ปาเกียว ขึ้นชก อัตราการก่ออาชญากรรมในฟิลิปปินส์แทบจะเป็น 0% เพราะทั้งคนร้ายและคนดีนั่งอยู่หน้าจอทีวีเชียร์แมนนี่ ปาเกียว

เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL ชิงแชมป์ Super Bowl ซึ่งสำหรับคนอเมริกันมีความยิ่งใหญ่เหมือนการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบชิงชนะเลิศ

ทุกปีมีคนอเมริกันกว่า 100 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ ชมการถ่ายทอดสด Super Bowl

โดยช่วงถ่ายทอดสดการแข่งขัน Super Bowl พบว่า อัตราการก่ออาชญากรรมในเมืองชิคาโกลดลงถึง 25%

 

แต่แม้นว่านอกบ้านอาชญากรรมจะลดลง แต่ในบ้าน การเชียร์ฟุตบอลโลกอย่างทุ่มใจเชียร์มากเกินไป คนเชียร์อาจตายได้

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านๆ มามักจะมีรายงานผู้ป่วยโดยอาการหัวใจวายเพิ่มขึ้นในช่วงฟุตบอลโลก รวมถึงมีเหตุการณ์ความรุนแรงภายในครัวเรือนในอัตราที่สูงขึ้น เหตุผลก็เพราะการเชียร์บอลโลกทำให้อารมณ์ของเราแปรปรวนได้แทบทุกนาที และหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม

มีงานศึกษาที่ลงในวารสาร The New England Journal of Medicine ศึกษาวิเคราะห์ระดับการทำงานของหัวใจของแฟนฟุตบอลชาวเยอรมัน ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2006 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ

พบว่า วันที่ทีมชาติเยอรมนีลงแข่งขัน จะมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจากอาการหัวใจวายและหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 2.66 เท่า โดยมีโอกาสเกิดกับผู้ชาย 3.26 เท่า และเกิดขึ้นกับผู้หญิง 1.8 เท่า

สาเหตุนอกจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว การแข่งขันฟุตบอลโลกยังกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในกลุ่มแฟนฟุตบอลได้ไม่ว่าทีมจะแพ้หรือชนะก็ตาม

 

จากการศึกษาของ ดร.สจ๊วต เคอร์บี (Dr.Stuart Kirby) นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ (Lancaster University) ประเทศอังกฤษ

พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงมากในประเทศอังกฤษและเวลส์ช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2002, 2006 และ 2010 โดยความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ทีมชาติอังกฤษแพ้เท่านั้น

เวลาทีมชาติอังกฤษแพ้การแข่งขัน เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 38%

ส่วนในวันที่ทีมชาติอังกฤษชนะการแข่งขัน เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังสูงกว่าปกติถึง 26%

ชนะก็ก่อเหตุรุนแรงในบ้านในครอบครัว แพ้ก็อาละวาดลูกเมีย พิจารณาจากวัฒนธรรมการเชียร์บอลของคนอังกฤษ การเล่นพนันฟุตบอล และการดื่มเบียร์ดื่มเหล้าไปด้วยเชียร์บอลไปด้วย น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ