ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
ฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 หรือ FIFA World Cup 2022 ที่กาตาร์นับเป็นครั้งแรกที่มหกรรมลูกหนังรายการนี้มาบรรเลงเพลงแข้งรอบสุดท้ายในภูมิภาคอาหรับ
แต่สำหรับประเทศไทย ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดแบบใจหายใจคว่ำที่สุด คือกว่าจะบรรลุผลแน่ชัดก็ปาเข้ามาถึงช่วงสามวันสุดท้ายก่อนนัดเปิดสนาม ด้วยราคาสูงลิ่วแพงที่สุดในอาเซียน และทำให้ไม่เหลือเวลาสำหรับโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมทางการตลาดล่วงหน้าได้อย่างที่ผ่านมาในอดีต
ผลสรุปการเจรจาต่อรองอย่างสุดระทึกครั้งนี้ยุติลงเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565 ด้วยตัวเลขที่รวมภาษีแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท จากการลงขันร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชน
ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้ประชาชนได้ดูฟรีเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำตามกฎ Must Have และ Must Carry ของ กสทช. ผสมเข้ากับเหตุผลทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
สำหรับวัยรุ่นยุคปัจจุบันที่คุ้นเคยกับการเสพคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทางออนไลน์ที่หลากหลายคงฉงนใจอยู่ไม่น้อยว่าเหตุใดจึงต้องมีกฎทำนองนี้
นั่นเป็นเพราะพวกเขาได้เกิดและเติบโตมาในโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลไปแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับโลกอนาล็อกก็เท่ากับว่าปัจจุบันคือ “โลกใหม่” ส่วนสมัยอะนาล็อกคือ “โลกเก่า”
โลกเก่าดังกล่าวอาจเรียกว่า “ยุคทีวี” ซึ่งกินเวลาประมาณหกสิบปี โดยมี “โทรทัศน์” เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารภาพและเสียงต่อสาธารณชน
หากย้อนกลับไปมอง ณ จุดเริ่มต้น จะเห็นว่าสถานีโทรทัศน์แห่งแรกเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปลายทศวรรษที่ 2490 นี่เอง
จากหมุดหมายแรกคือการเปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ใน “วันชาติ” 24 มิถุนายน 2498 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิดการแพร่ภาพออกอากาศครั้งนั้นด้วยตัวเอง
หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่านมาราวห้าสิบปี โทรทัศน์ซึ่งเดิมเป็นสิ่งแปลกใหม่ได้กลายเป็นของที่ทุกบ้านต้องมี และเป็นช่องทางหลักในการรับข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานของครัวเรือนทั่วประเทศ
ตลอดช่วงเวลาห้าสิบกว่าปีนี้สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ทำหน้าที่ทั้งบริการข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมความคิดกับกล่อมเกลาสังคม ด้วยการถ่ายทอดอุดมการณ์รัฐและกระแสสังคมลงไปสู่สำนึกของผู้คนแบบน้ำหยดลงหิน
ในที่สุดก็บังเกิดประชาชนที่มีโลกทัศน์ร่วมกันจำนวนมากตามทิศทางของรัฐ
การคลอดกฎ Must Have และ Must Carry ออกมา จึงไม่ได้โผล่ลอยๆ แบบไร้รากฐาน แต่คือผลบั้นปลายของโลกทัศน์ที่ผู้คนมีอยู่ร่วมกันเป็นอันมากในขณะนั้น
และถึงแม้ว่ากฎดังกล่าวจะผ่านการเลียนแบบมาจากต่างประเทศด้วยก็ตาม แต่เมื่อผ่านบริบทของสังคมไทยก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามฐานความคิดความเชื่อของผู้ออกกฎซึ่งเป็นคนไทยอยู่ดี
เมื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยแล้วเป็นอย่างไรนั้น ได้มีการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียดในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ “ศักดิพัฒน์ ธานี” ในปี 2559 ซึ่งพิจารณาเรื่องนี้เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสิงคโปร์
ได้บทสรุปว่ากฎ Must Have และ Must Carry แม้จะมีอยู่ในประเทศดังกล่าวก็จริง แต่ไม่ได้มีปัญหาทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติแบบในไทย
โดยกฎของต่างประเทศสอดคล้องไปกับหลักการพื้นฐานด้านสิทธิทางการเมือง กฎหมาย และการค้า ในขณะที่ของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาที่เป็นเหตุผลสำคัญสำหรับพิจารณาในบทความนี้ คือ
1. สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
2. สิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการของเอกชน
3. การป้องการการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการบางราย
และ 4. การละเมิดลิขสิทธิ์
หนึ่ง กฎ Must Have และ Must Carry ต้องมีพื้นฐานมาจากการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หมายถึงข้อมูลบางอย่างเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องทั่วไปที่ใครก็ย่อมมีสิทธิ์รู้ เช่น พิธีการสำคัญของชาติ ข้อมูลความรู้พื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องทราบ ซึ่งสมัยก่อนเนื้อหาพวกนี้ออกอากาศในฐานะ “รวมการเฉพาะกิจ” แต่ไม่ใช่เอาเนื้อหาเฉพาะกลุ่มหรือเนื้อหาเชิงพาณิชย์มาใช้กับกฎนี้ด้วย
ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2533 มีละครโทรทัศน์ช่อง 7 เรื่องคู่กรรม นำแสดงโดยเบิร์ด ธงไชย กับกวาง กมลชนก ได้รับความนิยมสูงมาก ทำเรตติ้งไปถึง 40 คือมีคนในประเทศเกือบครึ่งที่ดูละครเรื่องนี้ ในความเป็นจริงต้องเกินครึ่งค่อนประเทศด้วยซ้ำ เพราะในสมัยนั้นคนต้องดูละครผ่านโทรทัศน์เท่านั้น และโทรทัศน์ 1 เครื่องอาจดูกันหลายคน บางพื้นที่ซึ่งมีเครื่องโทรทัศน์น้อย เพื่อนบ้านก็จะขอเข้ามาดูด้วย แต่เนื่องจากเรตติ้งนั้นวัดจากเสาสัญญาณตามบ้านที่มีโทรทัศน์อยู่ ดังนั้น จึงทำให้ยอดผู้ชมในความเป็นจริงสูงกว่าเรตติ้งที่ออกมามาก
แต่อย่างไรก็ตาม การที่มีเรตติ้งสูง ได้รับความนิยมมาก และให้ความสุขแก่ผู้คนมหาศาลก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหานั้นต้องเป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เพราะละครนั้นเป็นความบันเทิงที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต และจะสร้างความสุขแก่ผู้คนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน
สื่อบันเทิงจึงเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เรื่องทั่วไป เมื่อไม่ใช่เรื่องทั่วไป จึงไม่ใช่ธุระกงการอะไรของรัฐที่จะเอาภาษีจากประชาชนทุกคนมาดำเนินการถ่ายทอดละครให้คนทั้งประเทศดูด้วย
หากเป็นในโลกยุคปัจจุบัน ละครเรื่องไหนอยู่ในแพลตฟอร์มใด ประชาชนก็ต้องขวนขวายหาช่องทางดูเอาเอง ส่วนจะเสียเงินหรือไม่ก็สุดแท้แต่
แล้วฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ไม่มีทีมชาติไทยลงแข่งขันนั้นเป็นข้อมูลข่าวสารทั่วไปหรือไม่
คำตอบคือ “ไม่”
แน่นอนว่าแฟนบอลย่อมอยากดู แต่คนที่ไม่ใช่แฟนบอลก็คงไม่สนใจ ถ้ายึดหลักว่าฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมยอดฮิตแล้วต้องบังคับถ่ายทอดสดให้ดูฟรี ด้วยหลักคิดแบบนี้เห็นทีอีกหน่อยก็คงต้องเอาภาษีของทุกคนไปซื้อลิขสิทธิ์ K-Pop มาถ่ายทอดด้วย
ดังนั้น ฟุตบอลโลกที่ไม่มีทีมชาติไทยลงแข่งจึงไม่เข้าข่ายการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารทั่วไปให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
สอง เอกชนย่อมสามารถประกอบการค้าได้อย่างเสรีและเป็นธรรม
เมื่อเอกชนเข้าซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่กีฬามาเป็นของตัวเองได้ เขาย่อมมีอิสระในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ตอบแทนให้สมกับที่ลงทุนไปแล้ว
ในกรณีที่นักกีฬาไทยทำการแข่งขันและลงแข่งขันในนามประเทศชาติ การออกกฎนี้มาใช้ครอบคลุมจึงมีน้ำหนักฟังได้
แต่สำหรับฟุตบอลโลกนั้นการนำกฎนี้มาบังคับใช้กับเอกชนจะยุติธรรมได้อย่างไร
หากทำอย่างนี้กับผู้ถือสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้ ก็ทำอย่างนี้กับผู้ถือสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้เช่นกัน เมื่อผู้ถือสิทธิ์ไม่มีโอกาสใช้สิทธิ์ของตนได้ตามสมควร
ท้ายที่สุดจึงไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจซื้อสิทธิ์เพื่อเอาเงินมาทิ้งเล่นๆ
สาม กฎนี้ไม่ได้ป้องกันการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการบางรายแต่อย่างใด
เพราะใครถือลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกก็ไม่ได้มีผลกระทบกับผู้ประกอบการรายอื่นมากนัก
ซ้ำร้ายยิ่งทำให้ฟรีทีวีเดิมที่ได้เปรียบอยู่แล้วยิ่งได้เปรียบไปอีก
เพราะแค่นิ่งรอเป็นเสือนอนกินก็มีคอนเทนต์มาให้ผู้ชมดูฟรีโดยที่ตัวเองไม่ต้องควักงบผลิตหรือซื้อลิขสิทธิ์อะไรเลย
สี่ กฎนี้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยความที่ขอบเขตของมันกว้างขวางเกินพอดี ประกอบกับสังคมปัจจุบันที่เป็นโลกยุคดิจิทัลเต็มตัว ซึ่งผู้คนแทบไม่ได้ดูโทรทัศน์กันแล้ว แต่มีช่องทางในการเสพคอนเทนต์ต่างๆ อย่างท่วมท้นในอินเตอร์เน็ต
อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อก็แตกต่างหลากหลายไปตามกลุ่มต่างๆ อย่างมาก จึงมองไม่เห็นความสมเหตุสมผลของการบังคับใช้กฎนี้อีกต่อไป โดยเฉพาะยิ่งฟุตบอลโลก
แล้วเหตุใดกฎที่ดูไม่ยุติธรรมและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของตลาดเอาเสียเลย ถึงได้เกิดขึ้นและใช้อยู่นานนมขนาดนี้
ก็เป็นเพราะมันคลอดออกมาจาก “โลกทัศน์ยุคเก่า” โลกยุคทีวีที่ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างถูกผูกขาดจากสถานีโทรทัศน์ผ่านเครื่องทีวี โดยมีรัฐคอยเป็นทวารบาลยืนควบคุมกำกับอยู่ทุกเมื่อ
ไม่เพียงเท่านั้น โลกเก่านี้ยังมีคณะกรรมการต่างๆ จากองค์กรอิสระมากมายตามรัฐธรรมนูญที่ถือกำเนิดในยุคอะนาล็อกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีโลกทัศน์คล้ายกัน ว่ายไหลไปตามกระแสสังคมเดียวกัน อันอาจมีอคติต่อกลุ่มทุนหนึ่ง กลุ่มการเมืองหนึ่ง หรือวิถีชีวิตแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง
เมื่อสังคมไทยดำเนินมาสู่ช่วงทศวรรษ 2550-2560 ทัศนคติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ เหล่านี้ก็แสดงตัวออกมาผ่านการออกกฎเกณฑ์ ส่งผลให้กฎระเบียบที่ควรจะต้องเป็นเรื่องทั่วไป กลับกลายเป็นเรื่องจำเพาะเจาะจงลงมา และเป็นระเบิดเวลาที่คาราคาซังมาถึงทุกวันนี้
การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้จึงเกิดเสียงคัดค้านสารพัดอย่างจากหลายองค์กร อาทิ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคก้าวไกล สมาคมทีวีดิจิทัล ฯลฯ
พร้อมกับทิ้งเงื่อนปมปัญหาต่างๆ เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบภาครัฐถูกประเภทหรือไม่ ความคุ้มค่าของงบประมาณ ราคาที่สูงเกินไป ธรรมาภิบาลในองค์กร ปัญหาทางกฎหมายอื่นๆ ปัญหาทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดสรรเวลาการถ่ายทอดสด เป็นต้น
ดังนั้น กฎนี้ถึงอย่างไรก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงแน่ๆ แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ที่สุด ต้องไม่แก้แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ควรสังคายนาให้ทั่วทั้งองคาพยพที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจากยุคอะนาล็อกด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022