เยสโนโอเคแต๊งกิ้วนะจ๊ะ | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา

 

เยสโนโอเคแต๊งกิ้วนะจ๊ะ

 

EF Education First หรืออีเอฟ เปิดเผยผลดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ประจำปี 2563 จากการสำรวจผู้ใหญ่จำนวน 2.2 ล้าน ทั่วโลกใน 100 ประเทศและภูมิภาค พบว่า เนเธอร์แลนด์ คว้าอันดับ 1 คะแนนสูงสุด 652 คะแนน เป็นประเทศที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษสูงที่สุด รองลงมาคือ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์, ออสเตรีย, โปรตุเกส, เยอรมนี, เบลเยียม และสิงคโปร์

ภูมิภาคเอเชีย 10 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ (10), ฟิลิปปินส์ (27), มาเลเซีย (30), เกาหลีใต้ (32), ฮ่องกงจีน (33), ประเทศจีน (38), มาเก๊าประเทศจีน (45), อินเดีย (50)

ส่วนประเทศไทย ได้ 419 คะแนน อยู่อันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความความเชี่ยวชาญทางภาษาอังกฤษระดับต่ำมาก ก่อนหน้านี้ในปี 2562 ประเทศไทยเคยอยู่อับดับที่ 74 ปีนี้ตกมาในลำดับที่ 78

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/137341#&gid=null&pid=3

เป็นเรื่องน่าตกใจที่ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยโดยรวมแย่มากและอยู่อันดับเกือบรั้งท้ายของโลก หากดูอันดับทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยก็จะเห็นว่าอยู่ในลำดับที่ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่?

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

ก่อนที่เราจะอภิปรายว่าทำไมทักษะภาษาอังกฤษคนไทยแย่ เราต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า ในประเทศไทยมีคนไทยที่ใช้ภาษษอังกฤษได้อย่างดีเลิศ ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าเจ้าของภาษาอยู่ไม่น้อย แต่คนเหล่านั้นไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรๆ

เหตุที่พวกเขาใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะพวกเขาเป็นกลุ่ม “ชนชั้นนำ” ของสังคมไทย ที่ได้รับการศึกษาในระบบแบบแผนที่สามัญชนคนไทยทั่วไปไม่มีโอกาสจะได้รับ น่าจะเป็นโอกาสของการเรียนโรงเรียนอินเตอร์ การได้ไปใช้ชีวิตหรือเรียนที่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเด็ก ชนชั้นนำผู้ร่ำรวยในประเทศไทยสามารถมีบ้าน มีคฤหาสน์ที่ประเทศอังกฤษ และอื่นๆ เพื่อรองรับการศึกษาของลูกหลานตนเอง หรือมีเครือข่ายของเหล่าชนชั้นนำด้วยกันที่จะ “รับฝาก” ลูกหลานของกันและกันไปดูแล

ระบบการศึกษาเช่นนี้เป็นระบบที่เหมือนกับประเทศอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 ที่ตระกูล ครอบครัวของชนชั้นนำพื้นเมือง พ่อค้า ข้าราชการอาณานิคม จะได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศอาณานิคมหรือประเทศแม่ และมีโลกมีสังคม มีวัฒนธรรมมีภาษาของกลุ่ม “ชนชั้นนำภายใต้อาณานิคม” แยกออกไป เป็นโลกคู่ขนานกับชาวพื้นเมืองที่มักเป็นแค่คนรับใช้

อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 20 ประเทศอาณานิคมเหล่านั้นทยอยได้รับเอกราช ประกาศเอกราช สิ่งที่ประเทศเอกราชทำคือ เร่งพัฒนาการศึกษาของคนพื้นเมืองให้ได้คุณภาพทัดเทียม หรือใกล้เคียงกับของเหล่าชนชั้นนำในยุคอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่อินเดีย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเราแต่ไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเราคือ การนำเอาอักษรโรมันมาใช้กับภาษาของตน ไม่ว่าจะเป็นภาษาเวียดนาม มาเลย์ อินโดนีเซีย

ดังเราจะเห็นว่า ภาษาเหล่านั้นเขียนด้วยตัวอักษรโรมัน ไม่ได้ใช้อักระ “พื้นเมือง” แบบ ไทย ลาว หรือพม่า

เหตุที่เลือกใช้อักษรโรมันก็คือทำให้ภาษาง่ายต่อการเรียน และเข้าถึงคนหมู่มากให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะกว้างขวางได้

และประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เร่งให้คนของตนใช้ภาษาอังกฤษให้มากที่สุด ทั้งยังกำหนดให้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาราชการด้วย

 

พัฒนาการของไทยต่างออกไป

ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศในบริบทของไทยและประวัติศาสตร์ของเรามันเป็น “สมบัติ” เฉพาะที่ชนชั้นนำหวงเอาไว้ เพราะมันคือเครื่องหมายแสดงถึงชนชั้น วัฒนธรรม ความรู้ ที่ “เหนือ” กว่าชาวพื้นเมือง ปล่อยให้พวกไพร่ อ่าน พูด เขียนภาษาอังกฤษ ได้เหมือนชนชั้นนำแล้ว ชนชั้นนำจะเหลือเหตุผลอะไรไปกดหัวไพร่ไว้แล้วปกครอง จึงต้องให้โง่ๆ เซ่อๆ เด๋อๆ ด๋า แล้ว มีชนชั้นนำเก๋อยู่ไม่กี่คน

ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์สังคมเช่นนี้ทำให้ด้านหนึ่งภาษาอังกฤษถูกมองว่าเป็น “ของสูง” ของเกินเอื้อม คือบางสิ่งบางอย่างที่ปลกแยกจากชนชั้นนำของเรา ใครก็ตามที่ไม่ใช่ “ชนชั้นที่ถูกต้อง” หากพูดภาษาอังกฤษด้วยบุคลิกของ “ภาษาอังกฤษ” จะถูกมองว่า “ดัดจริต”

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามอธิบายด้วยความโง่และอวดดีตามประสาชาวสยามในกะลา ว่าเหตุที่เราไม่พูดภาษาอังกฤษปร๋อ เหมือนคนสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ก็เพราะ “เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร” เราภูมิใจในภาษาไทย อันเก่าแก่ของเรา

(ด้วยเหตุนี้เราจึงยังดันทุรังใช้เลขไทยในหนังสือราชการมาจนถึงทุกวันนี้)

 

สถานะอันอิหลักอิเหลื่อของภาษาอังกฤษจากประวัติศาสตร์การเมืองสังคมของไทยนี่แหละที่ส่งผลต่อการออกแบบการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยและคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

และเมื่อฉันเขียนว่า เด็กไทย คนไทย โปรดระลึกว่า ฉันไม่รวม เด็กโรงเรียนอินเตอร์ และชนชั้นนำ ครอบครัวผู้มั่งคั่งที่เข้าถึงการศึกษาของระบบประเทศเจ้าอาณานิคมได้

หลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษของไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เรียนเพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการสื่อสาร แต่ถูกออกแบบมาเพื่อ “คัดแยก” คนออกเป็น ชั้นๆ เช่น เด็กที่ท่องศัพท์เก่ง ท่องประโยค ไวยากรณ์ได้ สอบได้คะแนนเยอะ ก็สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ จบไปเป็นใหญ่เป็นโต แต่เอาภาษาอังกฤษไปใช้งานจริงไม่ได้ หนังสือภาษาอังกฤษก็ไม่อ่าน พูดก็ไม่ได้ ป้ำๆ เป๋อๆ เหมือนเดิม นายกฯ เราจบโรงเรียนนายร้อยฯ ทักษะภาษาอังกฤษก็เยสโนโอเคแต๊งกิ้ว

ส่วนคนที่ท่องไม่เก่ง ก็บอกว่า ภาษาอังกฤษมันคือของสูง มันเกินเอื้อมสำหรับคนห่วยๆ อย่างเรา ที่สำคัญ เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครไง ก็เลยยิ้มสยามไปเรื่อยๆ เวลาเจอภาษาอังกฤษ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความกลัวว่า พูดภาษาอังกฤษแล้วจะดูดัดจริต ดูวัลลาบี พูดผิดพูดถูกก็โดนหัวเราะเยาะอีก

สืบเนื่องมาจากทักษะภาษาอังกฤษมีไว้แยกชนชั้นของคน คนไทยมีแนวโน้มจะหัวเราะเยาะ หรือดูถูกคนที่พยายามจะพูดภาษาอังกฤษแล้วพูดผิดๆ ถูกๆ ในหมู่คนไทยมีภาวะการเหยียดสำเนียงภาษาอังกฤษ เสียยิ่งกว่าประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษา “ถิ่น” หรือภาษาราชการเสียอีก

 

เราจะยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของไทยได้ เราต้องเริ่มต้นลบปมด้อย และการกดเหยียดทางชนชั้นด้วยมรดกอาณานิคมนี้ออกไปให้ได้เสียก่อน

จากนั้นออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ด้วยมายด์เซ็ตใหม่ว่า

“ภาษาอังกฤษง่ายกว่าภาษาไทย” เพราะนี่คือความจริง พยัญชนะน้อยกว่า สระน้อยกว่า วรรณยุกต์ไม่มี ตัวสะกดก็ง่ายกว่า คำว่า museum กับพิพิทธภัณฑ์ อันไหน สะกดง่ายกว่ากัน เอาดีๆ?

ระบบการเรียน การสอนภาษาอังกฤษ พัฒนามาจนเป็นระบบลงตัวกว่าภาษาไทยมาก

รูปประโยค ไวยากรณ์ ภาษาอังกฤษ ชัดเจน ตกผลึก มีตรรกะ มีเครื่องหมายวรรคตอน ที่ทิศทาง มีลำดับเวลาที่ชัดเจน ไม่สับสน ดังนั้น เด็กไทยทุกคนควรถูกสอนว่า ภาษาอังกฤษง่ายกว่าภาษาไทย

เมื่อเริ่มต้นทัศนคติที่เป็นมิตร เราก็เริ่มให้เด็กไทย ใช้ภาษาอังกฤษในการพูด ฟัง อ่าน ก่อนการเขียนได้เลย และเรียนรู้มันในฐานะเครื่องมือสื่อสาร ไม่ใช่เครื่องมือแสดง “ชนชั้น” หรือความเหนือกว่า

เราต้องสามารถพูดภาษาไทยและอังกฤษปนกันไปมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ที่สำคัญ เราออกเสียงภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องมีสำเนียงแบบไทยได้ และเราต้องตระหนักว่า ภาษาอังกฤษมีหลายร้อยพันสำเนียง-สำเนียงเหมือนฝรั่งไม่สำคัญแต่อ่านออกเสียงทุกคำได้ชัดเจนสำคัญกว่ามาก

นอกจากนี้ เราต้องเรียนภาษาอังกฤษ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือแห่งการสมาทานโลกทัศน์ ตรรกะ เหตุผล ที่พ่วงมากับภาษา เรียนเพื่ออ่าน เพื่อคิด เพื่อให้เรามีเครื่องมือจะวิพากษ์ จะตั้งคำถาม เพื่อเปิดโลกของเราให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรียนภาษาเพื่อให้รู้ “ภาษา” แบบที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือ และเรียนภาษาเพื่อให้รู้จักโลกของภาษานั้นจริงๆ

ทำแบบนี้ได้เมื่อไหร่ ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะเรามองว่านี่ก็คือ “ภาษาของเรา” เช่นกัน

ภาษาอังกฤษคือ ภาษาของเรา!! ไม่ใช่ภาษาของ “ใครอื่น”

ถ้าสร้างมายด์เซ็ตนี้ไม่ได้ ทักษะการใช้ภาษาก็ไม่เกิด