เศรษฐกิจท้ายปีออกอาการ ‘สะบัดร้อนสะบัดหนาว’ ธุรกิจตบเท้าทวงรัฐ ‘เอาไง’ ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้

รูดม่านเป็นที่เรียบร้อย หลังจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค 2022) ครั้งที่ 29 ที่มีผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมหารือในประเด็นต่างๆ ที่ผ่านไปอย่างราบรื่น

ผลการจัดงานเต็มไปด้วยความชื่นมื่น และคาดหวังต่อการต่อยอดการค้าและความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และแฝงด้วยขั้นเชิงทางการเมือง

เฉพาะในแง่เศรษฐกิจ มีทั้งคาดหวังและวาดฝัน!!

ในมุมเตือนกลายๆ สะท้อนจาก ‘นางคริสตาลินา จอร์เจียวา’ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวขณะเข้าร่วมการประชุมเอเปคว่า จากวิกฤตภาวะการเงินที่ตึงตัว สงคราม วิกฤตโควิด วิกฤตเงินเฟ้อ ต่างเป็นปัจจัยถ่วงให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 ขยายตัว 3.2% และลดเหลือ 2.7 % ในปี 2566 ขยายตัวเพียง 2.7%

ทั้งระบุเศรษฐกิจประเทศสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบอย่างน้อย 1 ใน 3 ของกลุ่มประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย นำโดยสหรัฐ จีน และยุโรป ซึ่งหากล้มลงตามคาดการณ์ เลี่ยงไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อถึงการส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม มีมุมมมองต่อเศรษฐกิจบางพื้นแถบอาเซียนว่ายังสดใส ซึ่งในนั้นมีไทย ที่คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2565 ขยายตัว 2.8% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.7% ในปี 2566 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง อีกทั้งยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ดีของจีน

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.2% และปีหน้ากรอบ 3-4% โดยมีโอกาสขยายตัวที่ 3.5% เพราะไทยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวว่าจะแตะ 23.5 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท บนสมมุติฐานจีนออกเดินทางนอกประเทศได้ครึ่งหลัง 2566 เชื่อว่าภาคบริโภคภายในประเทศ ขยายตัว 3% การลงทุนรัฐและเอกชนยังมี ราคาเกษตรยังสูง แต่มูลค่าส่งออก (เหรียญดอลลาร์) ขยายแค่ 1% เงินเฟ้อต่ำกว่าปีนี้หรืออยู่ที่ 2.5-3.5% และกลับมาเกินดุลการค้า

วันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลระบบธนาคารพาณิชย์ความมั่นคงยังคงแข็งแกร่ง เงินกองทุนแน่น 3 ล้านล้านบาท สินเชื่อขยายตัวทั้งอ้างอิงตัวเลขการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2565 ดีกว่าและคาดขยายตัว 4.5%

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

แต่เมื่อสิ้นสุดประชุมเอเปค นักธุรกิจไม่น้อยออกมาแสดงความกังวลถึงสถานการณ์แท้จริงที่ไทยยังต้องเผชิญ และเริ่มออกมาเรียกร้องสิ่งที่ค้างคาไว้ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางกระแสความวุ่นวายทางการเมือง เรียกได้ว่า เกิดน้ำขุ่นอีกครั้ง!!

ในสัปดาห์นี้ยังได้เห็นการออกมาทวงถาม สะกิดเตือน หรือร้องถึงผู้นำประเทศให้เร่งช่วยเหลือและแก้ไข เช่น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยทำ 7 ข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนเกี่ยวของกับปัญหาต้นทุน ของแพง กฎระเบียบใหม่ที่ผิดวัตถุประสงค์

หรือสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ไทย ทวงปลดล็อกเวลาห้ามขายและขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 เพื่อให้สอดคล้องที่รัฐต้องการเพิ่มจำนวนต่างชาติเที่ยวไทย

สมาคมภัตตาคารไทย ร้องรัฐหนุนงบฯ ช่วยซื้ออาหารจานด่วนเพิ่มรายได้พ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น

และอีกหลายกลุ่มก้อนที่เคยยื่นเรื่องร้องรัฐไว้ จะทยอยออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากสงบนิ่งในช่วงการประชุมเอเปค

เมื่อถามความเห็น ‘ชัยชาญ เจริญสุข’ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ว่ามองอย่างไรต่อสถานกาณ์หลังเอเปคและเข้าโค้งสุดท้ายก่อนการเมืองเปลี่ยน

ก็ได้รับคำตอบว่า หลังประสบความสำเร็จจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคแล้ว ก็คาดหวังเรื่องการเจรจาเปิดตลาดการค้าตะวันออกกลาง อย่างซาอุดีอาระเบีย เพราะในอดีตไทยเคยทำการค้าถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังสานสัมพันธ์คาดเงินสะพัดถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นอีกตลาดที่ได้ฟื้นความเชื่อมั่นส่งออกอีกครั้ง อีกทั้งจุดเด่นของอาหารไทย เป็นหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ช่วยดึงดูดและเพิ่มส่งออกมากขึ้น ก็มีส่วนทดแทนตลาดหลัก อาทิ สหรัฐ จีน ยุโรป ที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยสถานการณ์แวดล้อมก็เอื้อส่งออก ตั้งแต่ตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอ ค่าระวางเรือลดลง ปัจจัยหลักลดต้นทุน

เพียงแต่ต้องติดตามปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย จะกระทบส่งออกชะลอตัวลงบ้างในปี 2566

อีกผู้บริหาร ‘วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และเจ้าของธุรกิจอาหารแปรรูป มองว่า ปี 2566 เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มต้นทุนยังสูงขึ้น อาทิ ราคาพลังงาน การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดอกเบี้ยขาขึ้น เหล่านี้จะส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้าแพงในรูปแบบเงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคลดกำลังซื้อลดลงจากรายได้โตไม่ทันรายจ่าย

ปัญหานี้รัฐควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน เช่น คงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า หาสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีให้ฟื้นฟูกิจการหลังประสบปัญหาเป็นเวลานาน

อีกเรื่องที่สำคัญคืออยากให้รัฐมีการโละและปรับปรุงกฎระเบียบ หรือกิโยตินกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ต้องได้รับการอนุญาตทางราชการ ควรลดขั้นตอนทับซ้อนและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ฟากนักวิชาการ ‘ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล’ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ก็ให้มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่า ปี 2566 การส่งออกไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เท่าภาคท่องเที่ยวที่คาดหวังปลายปีต้นปียุโรปหนาวมาก จะหนีเที่ยวเมืองอุ่นๆ อย่างไทย และเป็นกลุ่มนักเที่ยวกระเป๋าหนักใช้จ่าย 5-6 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป บวกกับการเปิดประเทศและใช้จ่ายช่วงเอเปค จะส่งผลต่อจีดีพีไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้ขยาย 4% แต่ก็ทำให้ทั้งปี 2565 ขยายตัวเพียง 2.9% แต่มองปี 2566 ดีขึ้นและขยายตัวได้ 3.2-4.2% ตามการขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยว

มุมมองจาก ‘อัทธ์ พิศาลวานิช’ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจปี 2566 ไทยหนีไม่พ้นสู่เศรษฐกิจถดถอย จากภาคส่งออกแผ่วลง กังวลการผู้บริโภคลดการใช้จ่าย จากราคาสินค้าแพงขึ้นและเงินเฟ้อสูงยังอยู่ ดอกเบี้ยถูกปรับจะสร้างภาระให้กับประชาชนผู้มีหนี้ พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ได้มากนัก เหลือเพียงลุ้นแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยว ที่ปลายปีได้อานิสงส์จากคณะเข้าร่วมงานเอเปค แต่ปีหน้ายังมองตลาดจีนและตัวเลขโควิดระบาด ดังนั้น เศรษฐกิจยังมีโอกาสออกอาการร้อนๆ หนาวๆ อีกปี

เมื่อถามถึงรัฐบาลชุดนี้กำลังเข้าโค้งสุดท้าย จากนักธุรกิจและนักวิชาการ ปรากฏว่า เห็นพ้องตรงกันและมองว่า การเมืองในประเทศที่เริ่มระอุ และถ้าการเมืองยังไม่นิ่ง จะกดดันการไปต่อของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การลงทุน และการใช้จ่าย

โดยต่างมีความหวังว่าหลังได้รัฐบาลใหม่ จะเร่งแก้วิกฤต 3 เรื่อง คือ เร่งหาแหล่งวัตถุดิบต้นทุนต่ำ เร่งสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นรัฐบาลที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ

และไม่ทำให้ประเทศเสียเปรียบจากความขัดแย้งปัญหาภูมิศาสตร์