‘ศาสนาผี’ ส่งขวัญขึ้นฟ้า ต้นทาง ‘ลัทธิเทวราช’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

หัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือชนชั้นนำ ราว 2,500 ปีมาแล้ว เมื่อตายไป ชุมชนต้องมีพิธีกรรมพิเศษหลายขั้นตอนต่างจากความตายของคนทั่วไป เรียกพิธีศพครั้งที่ 2

พิธีศพครั้งที่ 2 หมายถึงศพเน่าที่ถูกฝังครั้งแรกจนเนื้อหนังเปื่อยย่อยสลายเหลือแต่กระดูก จึงขุดกระดูกล้างน้ำทำความสะอาดเพื่อบรรจุภาชนะ แล้วฝังอีกครั้งหนึ่งบริเวณลานกลางบ้านที่เดิมเมื่อฝังครั้งแรกด้วยขั้นตอนพิธีกรรมพิเศษ ได้แก่ ส่งขวัญขึ้นฟ้า, กระดูกถูกรวมเก็บในภาชนะแล้วฝัง, เครื่องมือเครื่องใช้ถูกฝังรวม, “เฮือนแฮ่ว” คร่อมหลุมศพ ดังนี้

นกในพิธีศพอุษาคเนย์ ทําท่าบิน มีลําตัวใหญ่ ปากยาว คอยาว ขายาว มีอายุเก่าสุดเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (จําลองขึ้นใหม่จากลายสลักหน้ากลองทอง) อาจเป็นต้นตอความเชื่อเรื่องนกแสก, นกหัสดีลิงค์?

(1.) ส่งขวัญขึ้นฟ้า หมายถึงหมอขวัญขับลำคำคล้องจองส่งขวัญหัวหน้าเผ่าพันธุ์ขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้า

เพื่อปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนที่ยังมีชีวิตให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

[เป็นต้นตอ “ลัทธิเทวราช” ส่งขวัญขึ้นฟ้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนฟ้าคือผีฟ้า (เป็นความเชื่อพื้นเมือง) แต่เปลี่ยนเป็นรวมกับเทวะบนสวรรค์ที่รับจากอินเดีย ทำให้กษัตริย์ที่สวรรคตเป็นเทวดา หรือเป็นหนึ่งเดียวกับเทวดาบนสวรรค์ เช่น พระวิษณุ]

ส่งขวัญชนชั้นนำ หรือหัวหน้าเผ่าพันธุ์ขึ้นฟ้า เป็นงานใหญ่ของชุมชน มีการละเล่นตีเกราะเคาะไม้, ดีดสีตีเป่า, ร้องรำทำเพลงบอกเล่าความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ ฯลฯ

พิธีกรรมหลังความตาย “งันเฮือนดี” มีสนุกด้วยการละเล่นต่างๆ สอดคล้องกับลายสลักบนหน้ากลองทองมโหระทึก ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปขวัญเป็นแฉกอยู่ตรงกึ่งกลางวงกลมหน้ากลอง มีลายสลักรูปนกอยู่ขอบนอก ส่วนด้านในเป็นรูปการละเล่นหลากหลาย
[จากหน้ากลองทอง (มโหระทึก) พบที่เวียดนาม ในหนังสือ Dong Son Drums in Viet Nam จัดพิมพ์โดย The Viet Nam Social Science Publishing House ค.ศ.1990, pp. 8-9]
[เป็นต้นตอ (1.) มหรสพงานศพของชนชั้นนำทุกวันนี้ มีโขนละคร, ลิเก, ภาพยนตร์, ดนตรีลูกทุ่ง, หมอลำ ฯลฯ และ (2.) แต่งตัวสีสันฉูดฉาด (ชุดดำงานศพเริ่มมีแผ่นดิน ร.5)]

ขวัญชนชั้นนำถูกส่งขึ้นฟ้า เป็นพิธีสำคัญอย่างยิ่งของฝังศพครั้งที่ 2 (ซึ่งไม่พบในอินเดีย) มีกิจกรรมดังนี้

(หนึ่ง) หมอขวัญ หมอแคน ขับลำคำคล้องจอง พรรณนา “สั่งเสียสั่งลา” การพลัดพรากจากคนรอบข้างและถิ่นเคยอยู่อู่เคยนอน ตลอดจน “ชมดง” ตามเส้นทางขึ้นฟ้าต้องผ่านสถานที่ต่างๆ

หมอขวัญหมอแคนล้วนเป็นหญิง 2,500 ปีมาแล้ว นุ่งยาว ปล่อยชายสองข้าง มีเครื่องประดับเป็นขนนกและใบไม้สวมหัว ร่วมกันขับลำคำคล้องจองทำนองง่ายๆ แล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบพิธีทำขวัญสู่โลกหลังความตาย กิริยาฟ้อนของทุกคนมีระเบียบเป็นระบบ ไม่ตัวใครตัวมัน เท่ากับมีแบบแผนยืด-ยุบ สืบเนื่องก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว
[ภาพลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพเมืองดงซอน ริมแม่น้ำซองมา จ.ถั่นหัว เวียดนาม]
[เป็นต้นแบบ “หมอลำ” และการรำพึงรำพันในวรรณกรรม “นิราศ”]

(สอง) ไปทางน้ำ ด้วยความเชื่อว่าระหว่างดิน-ฟ้า มีห้วงน้ำกว้างใหญ่ไพศาลมาก โดยได้จากประสบการณ์เห็นน้ำฝนที่ตกจากฟ้า ดังนั้น ขวัญที่ถูกส่งขึ้นฟ้าต้องไปทางน้ำ

เรือส่งขวัญราว 2,500 ปีมาแล้ว ลายสลักด้านข้างไหสำริดใส่กระดูกคนตาย พบที่เวียดนาม

(สาม) ส่งขวัญด้วยเรือ ขวัญของคนตาย (คือ ผี) จากดินขึ้นฟ้าโดยทางเรือ (รูปร่างคล้ายงู)

โลงไม้คล้ายเรือ (จากถ้ำองบะ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ภาพจากหนังสือ คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559 หน้า 55)

พบโลงไม้คล้ายเรือใส่กระดูกคนตายไว้ในถ้ำ (จ.กาญจนบุรี, จ.แม่ฮ่องสอน) ลักษณะโลงไม้เป็นต้นแบบรางระนาด (เริ่มจากระนาดทุ้ม ต่อมาถึงระนาดเอก)

พบลายเส้นรูปขบวนเรือบนด้านข้างกลองทอง (มโหระทึก) ใช้ประโคมงานศพ [เป็นต้นแบบขบวนเรือพระราชพิธี ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นราชรถ แต่มีเค้าโครงจากเรือ]

โครงกระดูกหมา (แบบเต็มโครงสมบูรณ์) ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบ (เมื่อ พ.ศ.2547) ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี (ภาพจาก อ.สุรพล นาถะพินธุ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

หมานำทางส่งขวัญขึ้นฟ้า ราว 2,500 ปีมาแล้ว [ภาพเขียนที่ถ้ำขาม ภูซําผักหนาม บ้านวังน้ำอุ่น ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ลายเส้นคัดลอกจากหนังสือ ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย (พเยาว์ เข็มนาค เรียบเรียง) กองโบราณคดี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2539]
(สี่) หมานำทาง การส่งขวัญขึ้นฟ้าต้องนำทางโดยหมา เพราะหมาเป็นสัตว์รู้ทาง โดยได้ประสบการณ์จากหมานำทางไปล่าสัตว์ให้มนุษย์

โครงกระดูกหมาพบฝังรวมกับศพมนุษย์ที่บ้านเชียง (จ.อุดรธานี) และบ้านโนนวัด (จ.นครราชสีมา) รวมทั้งมีภาพเขียนรูปหมาบนเพิงผา-ผนังถ้ำ •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ