‘พระนางจามเทวี’ สายเลือดฝ่ายแม่คือแขกจามเมืองรัตนปุระ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ต่อเนื่องกับแนวคิดที่ดิฉันได้นำเสนอมุมมองของ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย สองฉบับที่ผ่านมา ในประเด็นที่ท่านมองว่า “พระนางจามเทวีน่าจะมีสายสัมพันธ์อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐตามพรลิงค์-ศรีวิชัย”

อันที่จริง เคยมีผู้พยายามเชื่อมโยงรัฐทางใต้ให้เข้ามาผูกพันกับพระนางจามเทวีก่อนแล้ว ท่านนี้คือ อาจารย์กิตติ วัฒนะมหาตม์ เป็นรุ่นน้องของดิฉันที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญที่เสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่ม (ล่วงลับไปราวเกือบ 2 ปีแล้ว)

 

ย้อนประเด็น “แขกจาม” กับเมืองรัตนปุระ

อาจารย์กิตติเล่าให้ดิฉันฟังว่า เขามีคุณตาเป็นชาวลำพูน เลี้ยงชีพด้วยวิถีแห่งหมอยาเร่ เดินทางไปทั่วแคว้นแดนสยาม คุณตาชอบเล่าเรื่องมุขปาฐะเกี่ยวกับพระนางจามเทวีในแง่มุมต่างๆ ให้อาจารย์กิตติฟังตั้งแต่ยังเล็ก

บางเรื่องก็สอดคล้อง แต่หลายข้อมูลก็ไม่ปรากฏมีในตำนานฉบับหลวง (กลุ่มมูลสาสนา จามเทวีวงส์ และชินกาลมาลินี)

ทำให้เขามีความฝันอยากมาเก็บข้อมูลเชิงลึกในทุกมิติ ที่เกี่ยวข้องกับ “จามเทวีศึกษา” ในจังหวัดลำพูนและทุกหนแห่งตามเส้นทางเสด็จของพระนางตั้งแต่ปี 2544

จนกระทั่งได้มาพบและแลกเปลี่ยนความคิด ขบปริศนาต่างๆ กับดิฉันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สมัยที่ดิฉันยังทำงานที่นั่น อยู่เนืองๆ

ประเด็นร้อนแรงอันหนึ่งที่อาจารย์กิตติโยนก้อนหินถามทาง (หรือ “โยนระเบิด” ก็ว่าได้) คือ

“พระนางจามเทวีมีเชื้อสายจากรัฐปัตตานี ศรีวิชัย หรือไม่?”

เหตุผลที่อาจารย์กิตตินำเสนอนั้น แตกต่างไปจากข้อสังเกตของ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ที่สนใจเรื่องจารึก แต่อาจารย์กิตติตีความปริศนาคำว่า “จาม” ชื่อของกษัตริย์หญิงลำพูนผู้เดินทางไกล ว่านามนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับ “แขกจาม” ทางกลุ่มผู้ใช้ภาษาตระกูล “ออสโตรเนเชียน” แถบมลายูปัตตานี ได้หรือไม่

เนื่องจากเอกสารในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งร่วมสมัยกับล้านนา (ยุคที่พระโพธิรังสีรจนา จามเทวีวงส์ พงศาวดารหริภุญไชย) ยังคงเรียกชาวมุสลิมที่ขึ้นมาจากทางใต้ว่าเป็น “แขกจาม” กันอยู่

เรื่องราวของชนชาติจามนั้น เรารับรู้กันดีว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเวียดนามตอนกลาง แถวเมืองญาตรัง ดานัง โปนคร ฯลฯ จากนั้นชาวไดเวียตเข้ามายึดครองพื้นที่ ทำให้ประชากรชาวจามที่ยังไม่ถูกกลืนต้องหนีแตกสานซ่านเซ็นและหันไปนับถือศาสนาอิสลาม (จากเดิมนับถือฮินดู ผสมพุทธ) บ้างร่นหนีอพยพมาอยู่แถวมลายู

ด้วยเหตุนี้ ชาวสยามเมื่อ 5 ศตวรรษที่ผ่านมาจวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีภาพจำของชาวจามว่าเป็น “แขกมุสลิม” แต่เพียงถ่ายเดียว ขึ้นชื่อว่าแขกมุสลิมย่อมต้องขึ้นมาจากทางปักษ์ใต้ โดยมองไม่เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งแคว้นจามปาปุระในเวียดนาม (จนกว่าจะมีการศึกษาด้านโบราณคดีอุษาคเนย์อย่างเข้มข้นโดยชาวฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ 5-6 อีลีทสยามจึงเพิ่งรู้ว่าจามคือใคร?)

อาจารย์กิตติจึงโยงคำว่า “จาม” เข้ากับ “แขกจาม” ว่านามนี้เป็นภาพสะท้อนถึงรัฐทางตอนใต้ ในอดีตที่ร่วมสมัยกับทวารวดีเรียกว่า “ศรีวิชัย” มากกว่าจะหมายถึงอาณาจักรจามปาในเวียดนาม

ในเมื่อชาวสยามมองว่า “จาม” คือคนเชื้อสายแขกทางใต้จากปัตตานี มลายู ซึ่งในอดีตคือส่วนหนึ่งของรัฐศรีวิชัย อาจารย์กิตติก็เอาประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับกรณีที่เอกสารบางเล่มระบุว่าพระนางจามเทวีมีสองพระพี่เลี้ยง (ปทุมวดี เกตุวดี) ด้วยเป็นชาว “รัตนปุระ”

รูปปั้นพระนางจามเทวีท่ามกลางสองพระพี่เลี้ยง ปทุมวดี เกตุวดี (ชาวรัตนะปุระ) ที่วัดละโว้ หนองแก๋ว หางดง เชียงใหม่

ใครสร้างเรื่อง “ปทุมวดี-เกษวดี”?

เอกสารพื้นเมืองของทางลำพูนที่เพิ่งค้นพบใหม่ไม่เกิน 5 ทศวรรษมานี้ (ตำนานพระนางจามเทวีฉบับฤๅษีแก้ว) มีที่มาจากไหน? เชื่อถือได้หรือไม่

เรื่องที่มาพออธิบายได้อยู่ แต่เรื่องควรเชื่อได้หรือไม่ได้นั้น ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณผู้อ่านเอง หากจะให้มองข้ามไม่หยิบตำนานฉบับนี้มาเอ่ยถึงบ้างเสียเลยทีเดียวก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก ด้วยเหตุที่ตำนานฉบับนี้ ซึมแทรกอยู่ในการรับรู้ของชาวลำพูนและชาวล้านนานานกว่า 50 ปี

ถูกผลิตซ้ำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กจำนวนมากกว่าแสนเล่ม นำพล็อตไปสร้างภาพยนตร์ ละคร มิรู้กี่เวที จนหลายคนที่ไม่เคยรู้จักตำนานฉบับคลาสสิคหรือฉบับหลวง (กลุ่มจามเทวีวงส์) พลอยคิดว่า เรื่องราวของตำนานฉบับฤๅษีแก้วเป็นเรื่องจริงทั้งหมด

ตำนานฉบับฤๅษีแก้วเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2508-2509 โดยชาวสุโขทัยชื่อ นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ (มาทำงานอยู่แถววัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่) เป็นผู้เรียบเรียง

เขาอธิบายในคำนำของหนังสือชื่อ “พระราชชีวประวัติ พระแม่เจ้าจามะเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย” ว่าตัวเขาเองก็ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าจะมาต้องมาพานพบเหตุการณ์ประหลาด “ด้วยนิมิตเห็นสตรีโบราณ” อะไรแบบนี้

ทำให้นายสุทธวารี (พ.ศ.2508 ขณะนั้นอายุ 46 ปี) จำต้องเดินทางไปตามนิมิตที่เข้าฝันเขา ให้เขาไปพบกับ “ฤๅษีแก้ว” ที่มีอายุ 105 ปีที่ถ้ำแห่งหนึ่งบนดอยขุนตาน (ในหนังสือมิได้บอกว่าคือถ้ำลูกไหน ชื่ออะไร) แต่หลายท่านสันนิษฐานว่า น่าจะหมายถึง “ถ้ำจอมธรรม”

ฤๅษีแก้วเองก็รอคอยเขาอยู่ ฤๅษีแก้วยื่นใบลานเขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนาให้แก่นายสุทธวารีปึกหนึ่ง บอกว่าเป็นพระราชประวัติของพระนางจามเทวีที่ฤๅษีเก็บรักษาไว้นานมากเหลือเกินแล้ว เฝ้ารอคอยบุคคลที่ได้รับอาณัติให้นำไปเปิดเผย ซึ่งตำนานชุดนี้แยกเก็บไว้ตามที่ต่างๆ กระจายอยู่ 5 แห่ง

ฉบับที่ 5 คือฉบับที่ฤๅษีแก้วได้รับสืบทอดและเก็บไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่งบนดอยขุนตาน

เหตุการณ์ครั้งนั้น ฤๅษีแก้วกับ “หนานทา” (ไม่ทราบนามสกุล) ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้อักษรธัมม์ล้านนา ช่วยกันอ่านเอกสารและแปลทีละบรรทัด แล้วให้นายสุทธวารีทำการจดคำแปลเป็นภาษาไทย เขาทั้งสามใช้เวลาทำงานอย่างหนักในถ้ำทึบที่อบอวลด้วยกลิ่นธูปอินเดีย 5 วัน

หลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 9 เมษายน 2508 ฤๅษีแก้วก็เสียชีวิตโดยบอกกับนายสุทธวารีว่าเสร็จสิ้นภารกิจที่ได้นำเรื่องราวของพระนางจามเทวีออกมาเผยแพร่แล้ว

ปัญหาคือ ไม่มีใครมีโอกาสได้เห็น “ใบลานต้นฉบับ” ที่นายสุทธวารีอ้างว่าฤๅษีแก้วเก็บรักษาไว้บนดอยขุนตาน และหลังจากที่นายสุทธวารีจดบันทึกคำแปลเสร็จ ฤๅษีแก้วก็เอาฝังคืนไว้ในถ้ำลึกลับที่ดอยขุนตานตามเดิม นั่นเลย

 

ข้อมูลของนายสุทธวารีระบุว่า “พระนางปทุมวดี” ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงของพระนางจามเทวี เป็นคนเขียนเรื่องราวพระราชประวัติพระนางจามเทวีเมื่อ พ.ศ.1292 จากนั้นมีการคัดลอกสืบต่อๆ กันมา

“สองพระพี่เลี้ยง ปทุมวดี เกษวดี” เป็นชาวรัตนปุระ (ปัตตานี) สตรีสองนางนี้ดูแลพระนางจามเทวีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซ้ำยังร่วมสยุมพร เป็นเทวีซ้าย-ขวา ของเจ้าชายรามราช พร้อมกันกับตอนอภิเษกสมรสให้พระนางจามเทวีอีกด้วย

ในขณะที่ตำนานฉบับคลาสสิค และตำนานพื้นบ้านใบลานตามวัดต่างๆ ไม่ปรากฏชื่อของนางทั้งสองแต่อย่างใด

ยิ่งทำให้อาจารย์กิตติเพิ่มความสงสัยอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีกว่า หากตำนานเรื่องนี้มีส่วนจริงอยู่บ้าง อะไรเป็นมูลเหตุให้ราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ต้องมีพระพี่เลี้ยงเป็นชาวเมือง “รัตนปุระ” (ชื่อเดิมชื่อหนึ่งของเมืองปัตตานี) ด้วยเล่า

ในกรุงละโว้มีนางสนมกำนัลจำนวนตั้งมากมายที่เป็นเชื้อเครือละโว้ (จะเป็นมอญ ขอม ลัวะ อย่างไรก็แล้วแต่) ไฉนต้องจำเพาะเลือกพี่เลี้ยงที่มีพื้นเพเป็นชาวรัตนปุระด้วยเล่า?

อาจารย์กิตติจึงตั้งข้อสันนิษฐานต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เชื้อสายฝ่ายพระราชมารดาของพระนางจามเทวีก็น่าจะเป็นชาวรัตนปุระด้วยกัน หมายถึงพระราชชนนีก็มิใช่ชาวละโว้ แต่เป็นเจ้าหญิงจากทางใต้ที่ถูกส่งตัวขึ้นมาเป็นชายาองค์หนึ่งของกษัตริย์ละโว้ยุคที่ละโว้เรืองอำนาจ

พระราชชนนีจึงได้นำเอาลูกหลานเครือญาติจากรัตนปุระขึ้นตามมาปรนนิบัติรับใช้ด้วย และสองราชนารีชาวรัตนปุระ (นางปทุมวดี นางเกษวดี) นี่เอง ที่คอยดูแลพระราชธิดานามจามเทวีในราชสำนักละโว้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

จนกระทั่งถึงชั้นลูกคือโอรสแฝดของพระนางจามเทวี คือเจ้ามหันตยศและเจ้าอนันตยศ พระพี่เลี้ยงสองนางก็ยังช่วยดูแลให้อีกคนละองค์

รูปปั้นพระนางจามเทวี กับสองพระพี่เลี้ยง ปทุมวดี-เกตุวดี ที่วัดพระธาตุดอยน้อย ดอยหล่อ เชียงใหม่

นานนับ 20 ปีทีเดียว ประเด็นที่อาจารย์กิตติตั้งคำถามไว้ ว่าบรรพสตรี (สายเลือดฝ่ายแม่) ของพระนางจามเทวี เป็นชาวศรีวิชัยหรือไม่? ยังไม่มีใครสานต่อ

จนกระทั่งเป็นความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ ที่อาจารย์พงศ์เกษมได้หยิบประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหริภุญไชยของพระนางจามเทวีกับอักขระปัลลวะจากรัฐศรีวิชัยว่าอักษรมอญโบราณในหริภุญไชยบางตัวรับอิทธิพลจากทางใต้มาเต็มๆ หวนกลับมานำเสนออีกครั้ง

โดยตั้งเป้าไว้ที่ข้อสมมุติฐานว่า “สายเลือดฝ่ายแม่” ของพระนางจามเทวี ก็น่าจะเป็นคนทางใต้ด้วยกระมัง

บางทีแนวคิดของนักวิชาการทั้งสองท่านนี้อาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” หรือไม่ก็ “คนละเรื่องคนละราวกันเลย” ก็เป็นได้

ท้ายที่สุดนี้ แนวคิดของอาจารย์กิตติ วัฒนะหาตม์ จะถูกหรือจะผิดเรามิอาจทราบได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่ทราบว่าตำนานฉบับฤๅษีแก้วเกิดขึ้นได้อย่างไร คงต้องรอจนกว่าจะมีการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ๆ ในอนาคตเป็นเครื่องพิสูจน์ตัดสิน •