เหรียญรูปเหมือนหลวงรุ่น 2 หลวงปู่ซุน วัดบ้านเสือโก้ก พระเกจิชื่อดังมหาสารคาม

“หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ” หรือ “พระครูสุนทรสาธุกิจ” วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าเรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน

วัตถุมงคลในห้วงที่ยังมีชีวิต จัดสร้างออกมาเพียงไม่กี่รุ่น แต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ซุน”

จัดสร้างรุ่นที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2500 ราคาเช่าหาบูชาสูงแตะถึงหลักหมื่นแล้ว

ต่อมา จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือน รุ่น 2 สร้างปี พ.ศ.2502 ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก

เหรียญหลวงปู่ซุน (หน้า)

สำหรับเหรียญรุ่นปี พ.ศ.2502 คณะศิษย์บ้านเสือโก้กและบ้านสนาม ร่วมจัดสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานฉลองอายุครบรอบ 74 ปี ที่ระลึกผู้ที่มาร่วมงานได้เก็บไว้บูชา

ลักษณะเป็นเหรียญรูปเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนสร้าง 3,000 เหรียญ

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “พระครูสุนทรสาธุกิจ” ด้านล่างสุดเขียนว่า “๒๕๐๒” เป็นปีพุทธศักราชที่จัดสร้าง

เหรียญหลวงปู่ซุน (หลัง)

ด้านหลัง มีลักษณะเรียบ ไม่มีขอบ แกะรูปอักขระยันต์ อ่านว่า “มะ อะ อุ นะ จะ โล สะ นะ” เป็นคาถาตั้งธาตุ

สำหรับเหรียญรุ่นนี้ หลวงปู่ซุนประกอบพิธีปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลานานนับเดือน เป็นที่โจษขานพุทธคุณรอบด้าน

ครั้นเมื่อถึงวันงานมุทิตาสักการะ ก็นำมามอบให้ผู้ที่มาร่วมงานทุกคน รวมทั้งผู้ที่บริจาคทำบุญก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด

จัดเป็นเหรียญดังอีกรุ่นที่ค่อนข้างหายาก และกลายเป็นเหรียญยอดนิยม

 

เกิดในสกุลประสงคุณ เมื่อปี พ.ศ.2429 ที่บ้านเปลือย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เหมือนกับชาวอีสานทั่วไป

ต่อมาครอบครัวของหลวงปู่ได้อพยพย้ายที่ทำมาหากินมาอยู่ที่บ้านเสือโก้ก ในช่วงวัยเยาว์ได้ช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง ยามว่างจากทำไร่ทำนา จะคอยต้อนวัวออกไปเลี้ยงกลางทุ่งนา

เมื่ออายุได้ 18 ปี ในวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเลี้ยงวัวควายตามปกติ ปรากฏว่ากระดิ่งแขวนคอวัวควายหล่นหาย จึงเกิดความกลัวว่าบิดาจะลงโทษ ประกอบกับเป็นคนใฝ่รู้และมีใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

จึงได้ขอร้องบิดาของเพื่อนคนหนึ่ง ให้นำไปบรรพชาที่วัดบ้านเสือโก้ก เพื่อหนีความผิด

ครั้นบิดา-มารดาทราบว่าบุตรชายได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นที่เรียบร้อย ก็มิได้คัดค้านหรือตำหนิแต่อย่างใด อีกทั้งได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีพระอธิการสา เป็นพระอุปัชฌาย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยความขยันขันแข็ง

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ

ด้วยความเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติสวดมนต์เช้าเย็นไม่เคยขาด หลังจากฉันภัตตาหารเพล ก็จะนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานภายในกุฏิ

นอกจากนี้ หลังออกพรรษาทุกปี ท่านจะออกเดินธุดงควัตรไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคอีสาน

รวมทั้งยังได้ไปศึกษาวิทยาคมจากสมเด็จลุน พระเกจิชื่อดังจากประเทศลาว ในด้านอักขระโบราณ ทำให้มีความรู้สามารถเขียนอักษรลาว-ขอม และอักษรไทยอย่างแตกฉาน

ในเวลาต่อมา ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ และปรารถนาวัตถุมงคลตะกรุดโทน และตะกรุดคู่ที่เข้มขลังอย่างล้นหลาม

ยุคสมัยนั้น ราคาเช่าวัตถุมงคลตะกรุดหลวงปู่ซุน 1 ดอก เท่ากับทองคำหนักหนึ่งบาท

อย่างไรก็ดี มักจะพร่ำสอนญาติโยมอยู่ตลอดเวลาว่า “อย่าได้ประมาท และอย่าเบียดเบียนกันแล้วชีวิตจะพานพบแต่สิ่งดีงาม”

 

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักการศึกษา ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านเสือโก้ก ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบดีว่าการบวชเรียนเป็นหนทางหนึ่งของคนยากคนจนชาวอีสาน

ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบ้านเสือโก้ก

พระภิกษุ-สามเณรที่เรียนกับท่านต้องเรียนหนักมาก บางวันเรียนไปจนถึง 3 ทุ่ม ทำให้สำนักเรียนบ้านเสือโก้กยุคนั้น มีชื่อเสียงโด่งดัง

แต่ละปีจะมีภิกษุ-สามเณรมาจำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย จำนวน 100 รูป

พ.ศ.2461 อยู่จำพรรษาที่วัดเสือโก้ก จนถึงปี พ.ศ.2493 ท่านได้มาทำพิธีสรงน้ำที่ซากกู่เทวสถานสมัยขอม ภายในป่าโคกบ้านสนาม สถานที่ตั้งวัดกู่สุนทรารามปัจจุบัน

ชาวบ้านลือว่าในป่าโคกแห่งนี้ ผีดุมาก ไม่มีใครกล้าบุกรุกเข้าไป

มีความตั้งใจสร้างวัดขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากชาวบ้านในการสร้างวัด

ก่อนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2500 วัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม”

นับแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ซุนอยู่จำพรรษาที่วัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม มาโดยตลอด

บั้นปลายชีวิตของหลวงปู่ซุน สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อาพาธบ่อยครั้ง

สุดท้ายมรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2504 สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56

แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่นามยังอยู่ในศรัทธาพุทธศาสนิกชนชาวเมืองสารคามไปตราบนานเท่านาน •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]