“เดือยไก่” ไม้ประดับและยาสมุนไพร แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก

เมื่อกล่าวถึงคำว่า เดือยไก่ ในวงการยาไทยหรือในตำรับยาแผนไทยนั้น จะมี 2 ความหมาย หมายถึงเครื่องยาที่เป็นสัตว์วัตถุ และพืชวัตถุ กล่าวคือ เป็นส่วนของสัตว์ เช่น มาจากส่วนเปลือกหอย และหมายถึงต้นพืชที่เป็นสมุนไพร

จากการศึกษาอย่างละเอียดในใบลานต่างๆ ของทางภาคอีสานพบว่า เมื่อกล่าวถึงเดือยไก่ ที่หมายถึงสัตว์วัตถุ โดยส่วนใหญ่จะบันทึกว่าเป็น “เดือยไก่ป่า”

แต่ถ้ามีการบันทึกว่า “เดือยไก่” ส่วนใหญ่หมายถึงพืชวัตถุ เช่น “ยาตาเปียก (อาการที่มีขี้ตาและน้ำตาออกมาตลอดเวลา) จากหนังสือใบลานวัดมหาชัย จ.มหาสารคาม ในตำรับยาให้เอา เข้าหมิ้นขึ้น ใบส้มป่อย ครั่งดิบ เดือยไก่ป่า น้ำมวกเป็นน้ำ เดือยไก่ ให้ฝนยาฝูงนั้นคุลีกา เข้ากันใส่กระเบื้องเดียวใส่ดีแล”

ในตำรับนี้ปรากฏทั้งเดือยไก่ป่าที่มาจากสัตว์ และเดือยไก่ที่มาจากพืชสมุนไพร

ชาวบ้านทั่วไปในภาคอีสานยังเรียกชื่อ “เดือยไก่” และจำแนกพืชนี้ออกได้ 2 ชนิด คือ ชนิดที่เป็นไม้พุ่ม ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasymaschalon lomentaceum Finet & Gagnep. และชนิดที่เป็น ไม้ยืนต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Madhuca thorelii (Pierre ex Dubard) H.J.Lam

แต่จากการประชุมหมอยาพื้นบ้านพบว่าส่วนใหญ่แล้วใช้เดือยไก่ที่เป็นไม้พุ่มมากกว่าเดือยไก่ที่เป็นไม้ยืนต้น

ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากเดือยไก่ที่เป็นไม้พุ่มมีจำนวนประชากรมากกว่า พบเห็นได้ง่ายกว่า

 

เดือยไก่ที่เป็นไม้พุ่ม มีชื่อทางราชการว่า “โปร่งกิ่ว” มีรายงานว่าทางภาคเหนือเรียกว่า หอมนวล ในภาคอีสานเองมีรายงานว่ามีการเรียกหลายชื่อ เช่น เดือยไก่ ติดต่อ ตีนไก่ เจิงจ๊าบ (เขมร-สุรินทร์) ซึ่งเดือยไก่ ชนิด Dasymaschalon lomentaceum Finet & Gagnep. พบการกระจายอยู่ใน 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม

สำหรับในประเทศไทยพบตามป่าเบญจพรรณทางภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และมีรายงานว่าพบที่ประจวบคีรีขันธ์ด้วย ขึ้นอยู่ที่ระดับความสูง 150-300 เมตร

เดือยไก่ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งจำนวนมาก เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมดำ เนื้อไม้เหนียว

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ปลายใบเรียวทู่ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง

ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกอ่อนสีขาวอมเขียว ดอกบานสีเขียวแกมเหลือง แต่ที่พบในภาคอีสานมีสีชมพูอมแดงด้วย แล้วเมื่อแก่หลุดร่วงลงไปทั้งกรวย

ผลออกเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยเป็นผลสด รูปทรงกระบอกยาว เมล็ดมี 2-5 เมล็ด เรียงชิดติดกัน ผลอ่อนสีเขียวอมขาว ผลแก่สีแดงสด ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ติดผลราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

กลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่จังหวัดสุรินทร์นิยมนำใบของเดือยไก่หรือที่คนเขมรเรียกว่า “เจิงจ๊าบ” มาใช้ประกอบพิธีโจลมะม็วด ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการรักษาโรค

ในตำรับยาพื้นบ้านอีสานใช้รักษาโรคหรืออาการได้หลายประเภท

เช่น โรคล่องแก้ว (โรคผิวหนังชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นวงกลมมีสันนูนเป็นขอบ ในตำรับให้เอาเดือยไก่ ซาซู่เครือ (Capparis zeylanica L.) ฝนทา

ยาแก้พิษไข้หมากไม้ เป็นไข้ ที่มีอาการเจ็บคอ ปวดหัว ร่วมด้วย ให้ใช้ฮากเดือยไก่ ฮากหมาน้อย (Cissampelos pareira L.) Leenh.) ฮากยานาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) ฝนกิน

ยาแก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ให้เอาลำต้นเดือยไก่มาผสมกับลำต้นกันแสง (Xanthophyllum lanceatum (Miq.) J.J.Sm.) และลำต้นพีพ่าย (Elaeocarpus lanceifolius Roxb.) ต้มดื่ม

ยาพวนใน ให้เอา ฮากเหมือดคน (Heliciopsis terminalis (Kurz) Sleumer) เหมือดแอ่ (Memecylon edule Roxb.) มูกน้อย (Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.) มูกใหญ่ (Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don) ฮากเดือยไก่ (Dasymaschalon lomentaceum Finet & Gagnep.) ฮากต้างน้อย (Leea thorelii Gagnep.) ฮากหวดข้าใหญ่ (Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) หวดข้าน้อย (Lepisanthes sp.) ตำแช่ทา เป็นต้น

เดือยไก่นอกจะมีประโยชน์ทางยาแล้ว ผลยังกินได้ และปลูกเป็นไม้ประดับได้อย่างดี เพราะออกดอกตลอดปีและผลมีสีสวยงามและเป็นที่ชื่นชอบของนกด้วย ช่วยเกื้อกูลระบบนิเวศน์

 

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2550 ได้ทำการทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากต้นเดือยไก่มีผลต้านการอักเสบ ระงับปวด และลดไข้

ดังนั้น กล่าวได้เบื้องต้นว่าผลการศึกษานี้ช่วยสนับสนุนการใช้สมุนไพรนี้รักษาอาการปวดจากสาเหตุต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานานชาติ ในปี พ.ศ.2560 พบสารสำคัญตัวใหม่จากต้นเดือยไก่ พบว่าสาร 2 ชนิด คือ รูติน (rutin) และคอวร์ซีตอน (quercetin) ซึ่งเป็นสารที่มีศักยภาพในการเหนี่ยวนำให้เกิดการทำลายเซลล์มะเร็ง (apoptotic death) แบบจำเพาะ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยร่วมระหว่างเกาหลีและกัมพูชาที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากต้นเดือยไก่มีคุณสมบัติในการปกป้องการทำลายเซลล์ตับจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้

เดือยไก่ จึงเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจชนิดหนึ่งที่เราหลงลืม แต่มีคุณประโยชน์ที่หลากหลาย และผู้ที่เดินสำรวจสมุนไพรในป่าธรรมชาติมามากกว่า 40 ปี เตือนว่าพบว่าจำนวนประชากรของเดือยไก่ในธรรมชาติลดลงอย่างมาก

จึงน่าเริ่มช่วยกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์ให้มากขึ้นก่อนสายเกินไป •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org