เทือกเขาแห่งความวิปลาส At the Mountains of Madness (1) | การ์ตูนที่รัก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เอช พี เลิฟคราฟต์ เขียนเรื่องเทือกเขาแห่งความวิปลาสเป็นเรื่องยาวเรื่องแรกนี้ตั้งแต่ปี 1931 แต่ถูกปฏิเสธ กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ก็เป็นปี 1936 เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีความลงตัวและสมบูรณ์มากเรื่องหนึ่ง

เนื้อเรื่องพูดถึงสิ่งมีชีวิตจากกาแล็กซี่อื่นที่มาถึงโลกตั้งแต่โบราณกาลนานแสนนานก่อนยุคใดๆ โดยที่เนื้อเรื่องบางส่วนพาดพิง ดากอน (Dagon) ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกใน ตำนานคธูลู (Cthulhu Mythos), เงาทมิฬเหนืออินสเมาธ์ (The Shadow over Innsmouth) และ เสียงเพรียกจากคธูลู (The Call of Cthulhu) ดังนั้น หากจะว่ากันเรื่องเนื้อหา หนังสือเล่มนี้ก็มีความลงตัวอย่างยิ่ง

อันที่จริงเขาเขียนเทือกเขาแห่งความวิปลาสต้นปี 1931 แต่เขียนเงาทมิฬเหนืออินสเมาธ์เมื่อปลายปี เพื่อขยายความเรื่องการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างดาวจากใต้ทะเล

พูดถึงกลวิธีการเขียน ในขณะที่เรื่องสั้นของเขาหลายเรื่องคล้ายคลึงงานของสตีเฟน คิง ซึ่งที่ถูกต้องคืองานของคิงคล้ายคลึงงานของเขา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาเขียนได้คล้ายคลึงงานหลายชิ้นของอาเธอร์ ซี คลาร์ก หรือพูดให้ถูกต้องคืองานของคลาร์กคล้ายคลึงงานของเขา มีหลายเรื่องที่คลาร์กจะพรรณนาเทคนิคทางวิทยาศาสตร์มากมายก่ายกองแล้วลงรายละเอียดของสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยยืดยาวหลายหน้าก่อนที่จะเข้าเรื่องกันจริงๆ

(ซึ่งอลังการคุ้มค่าอ่านทุกเล่ม)

เรื่องเทือกเขาแห่งความวิปลาสนี้ก็เช่นกัน เลิฟคราฟต์ลงรายละเอียดของการเตรียมการสำรวจแอนตาร์กติกายาวหลายหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิประเทศ หรือรายละเอียดทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองเรือ เครื่องบินสำรวจ ล้อเลื่อนกับสุนัขลากเลื่อน ไปจนถึงเรื่องเครื่องขุดเจาะ ตามด้วยเรื่องชั้นหิน การแบ่งยุคทางธรณีวิทยา และการแบ่งยุคทางบรรพชีวินวิทยา (ซึ่ง นภ ดารารัตน์ นักแปลจากสำนักพิมพ์เวลา ได้ทำเชิงอรรถไว้ให้อย่างยอดเยี่ยม)

สองครั้งที่ผ่านมาได้แนะนำงานกราฟิกโนเวลของเลิฟคราฟต์ที่เขียนโดยนักเขียนตะวันตก ครั้งนี้จะเป็นมังงะของ Gou Tanabe ซึ่งได้เขียนเทือกเขาแห่งความวิปลาสนี้เป็นลายเส้นขาวดำสองเล่มจบ แปลโดย Zack Davisson สำนักพิมพ์ Kadokawa เขาเคยเขียนมังงะจากงานของแม็กซิม กอร์กี้ และอันตัน เชคอฟ กับเขียนงานของเลิฟคราฟต์อีกหนึ่งเล่มชื่อว่า The Hound and Other Stories

สำหรับเทือกเขาแห่งความวิปลาสฉบับมังงะนี้ได้ข้ามรายละเอียดทางเทคนิคและเทคโนโลยีเข้าสู่เนื้อเรื่องอย่างรวดเร็วเหมาะสำหรับท่านที่อยากเริ่มอ่านงานของเลิฟคราฟต์แล้วไม่สามารถอ่านผ่านช่วงแรกๆ ไปได้

อย่างไรก็ตาม ควรหาโอกาสอ่านตัวหนังสือต้นฉบับสักครั้ง ความรู้สึกที่ได้ต่างกันมาก

มังงะเริ่มด้วยคำโปรยจากงานเขียนปี 1847 Ulalume ตามด้วยคำโปรยจากงานเขียนปี 1838 The Narrative of Arthur Gordon Pym of Nantucket ของเอ็ดการ์ อัลลัน โป ซึ่งเล่าเรื่องการสำรวจขั้วโลก เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังสือเรื่องเล่าของอาเธอร์ กอร์ดอน พิม นี้เป็นนวนิยายขนาดยาวเรื่องเดียวของโปด้วยเช่นกัน

มังงะเปิดตัวด้วยตอนที่ศาสตราจารย์ดายเยอร์และนักศึกษาแดนฟอร์ธพร้อมทีมที่เหลือตามรอยการสำรวจของศาสตราจารย์เลคที่หายตัวไป พวกเขาพบซากศพของเลค ลูกทีม และฝูงสุนัขลากเลื่อนที่เสียชีวิตอย่างพิกลพิการระคนสยดสยองกลางกองหิมะ พร้อมด้วยหลักฐานฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตบางอย่างและสัญลักษณ์ดาวห้าแฉกขนาดยักษ์

ถัดจากบริเวณที่ตั้งแคมป์ของเลคคือเทือกเขาสีดำที่มีความสูงกว่าหิมาลัยและเอเวอเรสต์ ตั้งตระหง่านเป็นกำแพงทะมึนขึ้นไปถึงท้องฟ้าของแอนตาร์กติกา

จากนั้นเรื่องจึงย้อนไปที่ตอนเริ่มต้นเมื่อคณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยมิสคาโทนิคมารวมตัวกันที่ท่าเรือ ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กแม้ว่าทีมสำรวจจะเพียบพร้อมด้วยอุปการณ์ครบครันและการวางแผนสำรวจแอนตาร์กติกาตลอดฤดูร้อนอันยาวนานหกเดือนอย่างรัดกุมแต่ก็มิได้เป็นข่าวมากนัก

ทีมสำรวจประกอบด้วยนักธรณีวิทยาดายเยอร์ นักชีววิทยาเลค วิศวกรเครื่องขุดเจาะพีบอดี้ และนักอุตุนิยมวิทยาแอ็ตวูด ที่เหลือเป็นนักบินและนักศึกษาอีก 16 คน เรือสองลำ เครื่องบินห้าลำ พร้อมล้อเลื่อนหิมะและสุนัขขั้วโลกอีก 35 ตัว

เรียกว่าทีมมีแผนการตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่แล้วรุกคืบเข้าสู่แผ่นดินด้านในที่ซึ่งไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน ด้วยเหตุที่เลิฟคราฟต์เขียนงานนี้ตั้งแต่ต้นศตวรรษซึ่งงานสำรวจแอนตาร์กติกามีไม่มากนักเขาจึงสามารถเติมจินตนาการได้เต็มที่

แม้ว่าอะไรที่เลิฟคราฟต์เขียนหลายส่วนจะอ้างอิงได้ มีเชิงอรรถ มีที่มาที่ไป แต่มีหนังสือเล่มหนึ่งที่จะถูกอ้างอิงหลายครั้งตลอดทั้งเรื่องคือ เนโครโนมิคอน (Necronomicon) ของชาวอาหรับ อับดุล อัลฮาซเรด ซึ่งเป็นตำราชั่วร้ายที่เลิฟคราฟต์น่าจะสร้างขึ้นเองเพื่อรองรับเนื้อหาที่จะเกิดขึ้นตามลำดับถัดไป

ด้วยแผนการสำรวจที่รัดกุมและเครื่องขุดเจาะที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ทีมได้เปิดผิวดินแอนตาร์กติกาที่อยู่ใต้น้ำแข็งนับไมล์ออก ระหว่างการสำรวจทางธรณีวิทยาที่น่าพอใจนั้นเอง เลคได้พบแผ่นหินจำนวนหนึ่งที่เขามั่นใจว่าไม่ใช่แร่ธาตุทั่วไปแต่เป็นฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน ดายเยอร์ขอให้เขาทำตามแผนเดิม

แต่เขาดื้อรั้นพาลูกทีมส่วนหนึ่งบินไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อตามรอยฟอสซิลนั้น

ที่นั่นเองที่เขาพบเทือกเขาสีดำและฟอสซิลของสัตว์ทะเลกับสัตว์สี่ขาอีกมากมายซึ่งไม่เคยมีใครรู้จัก เป็นยุคสมัยก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นบนโลกอีกนานแสนนาน ที่น่าตื่นตะลึงที่สุดคือซากขนาดใหญ่ของสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวเป็นปล้อง มีปีก และมีรยางค์ห้าแฉกด้านหนึ่ง เขาพบร่างที่สมบูรณ์จำนวนหนึ่งกับร่างที่แตกหักบางส่วนจำนวนหนึ่ง รวมแล้วมากกว่าสิบตัว!

เมื่อเขารายงานการค้นพบนี้กลับไปที่ศูนย์บัญชาการของดายเยอร์ ดายเยอร์ก็ต้องยอมรับว่าตัวเองคิดผิดที่ห้ามเลคในตอนแรก ดายเยอร์ให้ทีมรายงานการค้นพบอันน่าตื่นตะลึงนี้กลับไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อลงข่าวได้เลย แล้วออกคำสั่งให้เลครอทีมเสริมเดินทางไปหาก่อน

แต่เลคไม่รอช้าและไม่รอคอย เขาเริ่มสำรวจเทือกเขา พบฟอสซิลมากขึ้น เริ่มชำแหละซากชีวิตที่มีดาวห้าแฉกนั้นก่อนจะพบจุดจบทั้งทีม เมื่อดายเยอร์และแดนฟอร์ธพร้อมทีมงานอีกบางส่วนตามมาถึงพวกเขาพบว่ามีลูกทีมหายไปหนึ่งคนกับสุนัขอีกหนึ่งตัว

แม้ว่าหลายคนจะขอเขากลับก่อนแต่ด้วยความตื่นเต้นต่อสิ่งที่เลคค้นพบ และเพราะต้องการช่วยเหลือลูกทีมคนหนึ่งที่หายไป เขากับแดนฟอร์ธเพียงสองคนจึงขึ้นเครื่องบินบินตรงสู่เทือกเขาสีดำที่ตั้งตระหง่านเต็มผืนฟ้าตรงหน้านั้น

จบเล่มหนึ่ง •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์