เชื่อหรือไม่ (2) | ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
A spider is silhouetted against a string of lights in Overland Park, Kan. (Charlie Riedel/AP)

คนไทยเชื่อว่าเสียงสัตว์บางชนิดเป็นลางร้าย ที่ร้ายเพราะเป็นเหตุให้อัปมงคล นอกจากฟังแล้วใจคอไม่ดี ร้อนอกร้อนใจ ยังนำความเดือดร้อนมาให้

“จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) บันทึกเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทยสมัยอยุธยาว่า

“ชาวสยามถือว่าเสียงเห่าหอน หรือเสียงคำรามของพาลมฤค (เช่น เสือ ช้าง แรด หมี กระทิงเถื่อน เป็นต้น) เสียงร้องอันโหยหวนของเนื้อละมั่งกวางทรายและลิงค่างบ่างชะนีนั้นเป็นลางร้าย”

บ่อยครั้งที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” กล่าวถึง ‘เสียงหนูและแมงมุม’ เป็นลางว่าจะเกิดเรื่องหรือเหตุร้าย ก่อนขุนไกร (พ่อขุนแผน) จะไปต้อนควายป่าตามบัญชาของสมเด็จพระพันวษา ที่บ้านเกิดลางร้ายน่าพรั่นพรึง

“ให้มีลางคืนนั้นสนั่นอึง แมงมุมตีอกผึงหาหยุดไม่

สยดสยองพองขนทุกคนไป เย็นยะเยือกจับใจไปทุกยาม”

ไม่ต่างกับตอนที่ขุนแผนจะพรากจากนางลาวทอง ทั้งคู่ได้ยินสารพัดเสียง ตั้งแต่เสียงหนู จิ้งจก ไปจนถึงแมงมุม

“สะกิดเจ้าลาวทองชวนน้องฟัง วังเวงหวั่นหวาดวิเวกใจ

หนูกกจิ้งจกกระเจิงทัก แมงมุมทุ่มทรวงอักหาหยุดไม่

วิปริตผิดนักตระหนักใจ ดังจะบอกเหตุให้ประจักษ์ตา”

เสภาตอนนี้เล่าถึง ‘จิ้งจกกระเจิงทัก’ หรือ ‘จิ้งจกทัก’ ‘กาญจนาคพันธุ์’ ขยายความไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 1 ว่า

“จิ้งจกทักก็คือเสียงที่มันร้อง ซึ่งถือกันว่าเป็นเสียงห้าม ไม่ให้ไปหรือไม่ให้ทำอันใด แม้จนทุกวันนี้ก็ยังมีพูดกันว่า จิ้งจกทักเขายังเชื่อ นี่คนทักแท้ๆ กลับไม่เชื่อ”

ตอนที่ขุนช้างลวงพลายงามไปฆ่าทิ้งในป่า นอกจากลางบอกเหตุ ‘คิ้วกระเหม่นเป็นลางแต่กลางวัน’ นางวันทองยังได้ยินเสียงชวนขนลุก

“พอแมงมุมอุ้มไข่ไต่ตีอก นางผงกเงี่ยฟังดังผึงผึง

ประหลาดลางหมางจิตคิดคะนึง รำลึกถึงลูกชายเจ้าพลายงาม”

ก่อนนางวันทองจะถูกประหารชีวิต นางสะดุ้งตื่นเพราะฝันร้าย ขณะเล่าให้ขุนแผนฟังก็ได้ยินสองเสียงชวนสยอง

“ใต้เตียงเสียงหนูก็กุกกก แมลงมุมทุ่มอกที่ริมฝา

ยิ่งหวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวมรณา ดังวิญญานางจะพรากไปจากกาย”

เสียงสัตว์เหล่านี้เป็นลางว่าจะเกิดเรื่องหรือเหตุร้าย ดังที่ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 1 เล่าไว้

“ผู้ใหญ่เคยบอกว่า ที่เรียก ‘หนูกุก’ นั้นมาจากเสียงที่มันร้องกุกๆ ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินจึงไม่รู้”

เสียงหนูกุก อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน” เล่ม 1 ว่า “เป็นเสียงคล้ายหนูค้นของ แต่ว่าเป็นเสียงร้อง”

 

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ใช่จะมีแต่ “ขุนช้างขุนแผน” ที่กล่าวถึง ‘แมงมุมตีอก’ ในนิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” คืนก่อนที่พระโคบุตรจะถูกนางอำพันมาลาทำเสน่ห์ ขณะพระองค์และนางมณีสาครบรรทมอยู่

“เกิดเป็นลางร้างรักประจักษ์ใจ เผอิญให้เดือดดิ้นในวิญญา

แมลงมุมเฝ้ากระทุ่มทรวงสะท้อน โดยอุดรเดินซ้ายมาฝ่ายขวา”

‘แมงมุม (แมลงมุม) ตีอก’ ในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” และ “โคบุตร” ล้วนเกิดขึ้นภายในห้องนอนทั้งสิ้น สอดคล้องคำทำนายใน “ตำราแมงมุมตีอก” ที่ว่า

“สิทธิการิยะท่านกล่าวทำนาย กลแมงมุมทาย

ตีอกในห้องเรือนตน

จะเกิดวิบัติร้อนรน พลัดกันระเหระหน

หนึ่งข้าจะหนีของหาย

แล้วจักได้คืนทำนาย หนึ่งแมงมุมหมาย

ตีอกอยู่ในที่นอน

ทายว่าจะมอดม้วยมรณ์ บ่ม้วยทุกข์ทร

แลบาดจะเจ็บให้บันดาล”

ความหมายคือ ถ้าแมงมุมตีอกในบ้าน ความวิบัติย่อมเกิดขึ้น เกิดการพลัดพราก ข้าทาสหนี ข้าวของหาย แต่ได้คืน ถ้าแมงมุมตีอกในที่นอน เหตุร้ายมีหนักเบา ตั้งแต่ตาย ทุกข์ทรมาน หรือแค่บาดเจ็บ

 

“สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง” เล่ม 11 เรื่อง ‘แมงมุมตีอก’ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ให้ความกระจ่างเป็นอย่างดี

“แมงมุมตีอก เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นลางหรือสิ่งบอกเหตุลักษณะหนึ่งที่จะบังเกิดในอนาคต ลางลักษณะนี้อาศัยนิมิตที่เกิดจาก ‘แมงมุม’ ชนิดหนึ่ง ตัวใหญ่และขายาวกว่าแมงมุมจับแมลงวัน แมงมุมชนิดดังกล่าวใช้อกของมันตีลงบนพื้น เกิดเสียงพอได้ยินและเป็นที่สังเกตได้

ลางบอกเหตุที่เกิดจากแมงมุมตีอกนี้ เป็นคติอยู่ในหมู่ชนภาคกลางมาแต่โบราณ”

“เด็กคลองบางหลวง เล่ม 1” ยังเล่าถึงตำราและขนาดของแมงมุมว่า

“ในสมัยโบราณมีตำราแมงมุมเหมือนกัน เรียกว่า ‘แมงมุมตีอก’ ซึ่งหมายถึงแมงมุมตัวใหญ่ขนาดลูกมะปราง เขาว่าถ้ามันตีอกมีเสียงบึ่งๆ เป็นลางบอกว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเรือน โบราณถือโชคลางเกี่ยวกับแมงมุมตีอก การตีอกนั้นมันทำอย่างไรไม่ทราบ ไม่เคยเห็นและไม่เคยฟัง ได้ยินแต่ผู้ใหญ่เล่าว่ามีเสียงดังกล่าว”

‘เสียงบึ่งๆ’ กับ ‘เสียงผึงผึง’ ในวรรณคดีใกล้เคียงกันมาก เป็นเสียงของแมงมุมตีอกเช่นเดียวกัน

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเสียงแมงมุมตีอกไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“เรื่องแมงมุมตีอกนี้ พ่อแม่ท่านเคยเล่าให้ฟัง แต่ผมไม่เคยได้ยินเอง แล้วก็คิดว่าจะไม่ได้ยิน เพราะแมงมุมตีอกนั้น คงจะต้องเป็นเสียงเบา แต่ในสมัยก่อนนั้นเวลากลางคืนบ้านเมืองคงจะเงียบสงัด ปราศจากเสียงรถ เสียงวิทยุ เสียงดนตรี และอื่นๆ จึงอาจเกิดมีเสียงในบ้านต่างๆ ให้คนได้ยินได้ มีเสียงชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘แมงมุมตีอก’ ถือกันว่าเป็นลางร้าย”

ยังมีความเห็นเกี่ยวกับสถานที่ตีอกของแมงมุม จากหนังสือ “ความเชื่อคติชาวบ้านอันดับ 5” ของอาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม ชวนให้มองต่างมุม

“แมงมุมตีอก แสดงถึงว่าแมงมุมมีความสำราญและแมงมุมคงจะมีมาก ตามธรรมดาแมงมุมจะอยู่ในที่รกๆ มีหยักไย่มากมาย การที่แมงมุมตีอกในห้องนอน หรือบนที่นอนจนได้ยินชัดเจน ย่อมแสดงว่าบ้านหรือห้องคงรกเต็มที จึงมีแมงมุมมาก เจ้าของบ้านคงไม่ได้ทำความสะอาดกันบ้างเลย”

เอาละซี ‘ลางร้าย’ จ๊ะเอ๋กับ ‘สุขอนามัย’ ภาพห้องนอนตัวละครที่กล่าวมาจึงมิกล้านึก •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร