คุยกับทูต | วิลเฮ็ล์ม ด็องโค บทบาทของนักเขียน-นักการทูตออสเตรีย (2)

“กองทัพเรือออสเตรียเป็นสถาบันสำคัญ มีประวัติการเดินเรือที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1382 แต่ในปัจจุบัน ออสเตรียเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ในอดีตเมืองท่าชื่อตรีเอสเต (Trieste) เป็นส่วนหนึ่งของออสเตรีย จนถึงปี 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง ออสเตรีย-ฮังการีสลายตัวและสูญเสียการเข้าถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนเมืองท่าตรีเอสเตถูกโอนไปเป็นของอิตาลี”

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย มีความสนใจในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับกองทัพเรือ ได้เขียนหนังสือและบทความมากมายในหัวข้อนี้ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการี รวมถึงกองทัพเรือสหรัฐ ญี่ปุ่น และเยอรมนีด้วย

German Military Cargo Ships Produced in Series Programs in Southern Europe 1941-1945

“ผมไม่ได้พูดถึงการเดินเรือในแม่น้ำดานูบหรือในทะเลสาบอัลไพน์ แต่เป็นกองทัพเรือออสเตรียที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในยุโรปปี 1914 ประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และรัสเซีย เท่านั้นที่มีกองทัพเรือที่ใหญ่กว่า ส่วนประเทศนอกยุโรปก็มีเพียงสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ดังนั้น ในปี 1914 กองทัพเรือออสเตรียจึงใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก”

“ในวันนี้ คุณคงไม่คิดว่าออสเตรียเป็นมหาอำนาจทางทะเล คนส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงออสเตรียกับดนตรี, โมสาร์ต (Mozart), สกี, ภูเขา หรือเสียงเพลง หากคุณรู้จักหนังดังเรื่อง มนต์รักเพลงสวรรค์ (The Sound of Music) คุณจะจำได้ว่ามีนายทหารเรือชื่อกัปตันวอนแทรปป์ (Georg von Trapp) ในหนังเรื่องนี้”

“แล้วทำไมกัปตันวอนแทรปป์จึงไปอยู่ที่เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ในเทือกเขาแอลป์ (Alps)”

“Georg von Trapp ตัวละครหลักของ ‘The Sound of Music’ เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ โดยเป็นนายทหารในกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Navy) มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเรือดำน้ำที่ประสบความสำเร็จอย่างมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมา โยกย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ซาลซ์บูร์ก”

A Land Power Goes to Sea

“กองทัพเรือของออสเตรียยังได้สร้างเรือดำน้ำของตัวเอง รวมถึงเรือประจัญบานเดรดนอท (Dreadnought) อันทันสมัยด้วย”

A Brief History of the Austrian Navy

“เรือรบออสเตรียเคยมาเยือนสยามหลายครั้งระหว่างปี 1869 และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1”

“ผมได้ทำงานวิจัยมากมาย และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ เป็นการแก้ไขรายงานและบันทึกเหตุการณ์ของลูกเรือชาวออสเตรียที่เดินทางมากรุงเทพฯ ในศตวรรษที่ 19 ซึ่งบรรยายถึงความประทับใจที่มีต่อกรุงเทพฯ และสยาม”

หนังสือที่เขียนโดยนายวิลเฮ็ล์ม ด็องโค ได้แก่ A Land Power Goes to Sea: Austria’s Naval History 1382-1918; A Brief History of the Austrian Navy; German Military Cargo Ships Produced in Series Programs in Southern Europe 1941-1945; An Austrian View of The Philippines 1858 และอีกหลายเรื่องทั้งในภาษาอังกฤษ และในภาษาเยอรมัน

นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย

นโยบายเป็นกลางของออสเตรีย

ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงและภัยคุกคามอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในขณะที่ออสเตรียก็เป็นชาติสมาชิกอียูและเป็นพันธมิตรกับนาโตในหลายมิติ จึงทำให้ออสเตรียมีนโยบายด้านความมั่นคงที่ผูกติดกับอียูด้วย

เอกอัครราชทูตออสเตรียชี้แจงว่า

“ระหว่างสงครามเย็น ออสเตรียประกาศความเป็นกลางในปี 1955 การประกาศ “ความเป็นกลางไว้เป็นการถาวร” (permanent neutrality) โดยรัฐสภาออสเตรียเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม1955 เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับ Staatsvertrag หรือ “สนธิสัญญาของรัฐที่ลงนามเมื่อปี 1955″ ซึ่งยุติการยึดครองออสเตรียเป็นเวลา 10 ปีโดยมหาอำนาจทั้ง 4 ที่ได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกที่ 26 ตุลาคมเป็นวันชาติของเราเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการประกาศการมีสถานะเป็นกลางอย่างถาวรของออสเตรียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายเป็นสาธารณรัฐออสเตรียในปัจจุบัน”

เมื่ออังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ลงนามในสนธิสัญญา State Treaty of Vienna วันที่ 16 พฤษภาคม 1955 เพื่อรับรองฐานะความเป็นกลางถาวรของออสเตรีย และออสเตรียได้ประกาศความเป็นกลางของประเทศไว้เป็นการถาวรในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1955

จึงทำให้ออสเตรียไม่สามารถร่วมเป็นพันธมิตรทางทหาร หรืออนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนออสเตรียได้

เอกอัครราชทูตออสเตรียและมาดามหยาน ด็องโค

รัฐบาลออสเตรียทุกสมัยจึงยึดถือนโยบายเป็นกลางถาวรเป็นพื้นฐานในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศต่างๆ ในลักษณะที่เรียกกันว่า active neutrality โดยให้ความ ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในปฏิบัติการรักษาสันติภาพตั้งแต่ปี 1960 และร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพยุโรปในกรอบของคณะมนตรียุโรปและองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE)

“ออสเตรียหลุดรอดพ้นจากชะตากรรมของการถูกแบ่งแยกดินแดนออกเป็นตะวันออกและตะวันตกด้วยสนธิสัญญาแห่งรัฐปี 1955 และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นในสถานะความเป็นกลางของออสเตรียมาจนถึงปัจจุบัน”

“ในช่วงสงครามเย็น ความเป็นกลางของเราคือความเป็นกลางทางการทหาร แต่ไม่เคยมีความเป็นกลางทางการเมือง หรือศีลธรรม และไม่ได้อยู่ห่างจากกิจการระหว่างประเทศ การเข้าเป็นชาติสมาชิกของออสเตรียในสหภาพยุโรปปี 1995 ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศและนโยบายยุโรปของเราอย่างมากมาย ทำให้เราสามารถสนับสนุนผลประโยชน์และข้อกังวลของออสเตรียภายในโครงสร้างการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจของสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับในกรอบของนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันของสหภาพยุโรป”

“เราสนับสนุนลัทธิพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพและเคารพในหลักนิติธรรม อันเป็นค่านิยมหลักของนโยบายต่างประเทศของออสเตรียมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และประสบความสำเร็จในการก่อตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สามของสหประชาชาติในกรุงเวียนนา ต่อจากนครนิวยอร์กและเมืองเจนีวา เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงความสมัครใจของเราที่จะเพิ่มความรับผิดชอบในเวทีระหว่างประเทศ”

“ผมต้องการให้ความสำคัญต่อผู้สมัครของเรา ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ในการเลือกตั้งปี 2026 ซึ่งการเจรจาอย่างสร้างสรรค์และการทูตที่เน้นผลในทางปฏิบัติจะยังคงเป็นแนวทางของเราต่อไป”

นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย

ในคำแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา นายอเล็กซานเดอร์ ชาลเลนเบิร์ก (Alexander Schallenberg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ออสเตรีย กล่าวอย่างชัดเจนว่า

“เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สงครามได้กลับเข้าสู่ยุโรป เมื่อรัสเซียโจมตียูเครน ซึ่งเป็นรัฐเอกราชมีอำนาจอธิปไตยอย่างโหดร้าย รัสเซียกำลังพยายามขีดเส้นเขตแดนใหม่โดยใช้รถถังและจรวด ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกไม่เคยเห็นตั้งแต่การรุกรานคูเวตของซัดดัม ฮุสเซน”

“เรากำลังอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เราจึงต้องการระบบพหุภาคีที่ทรงประสิทธิภาพ”

นายวิลเฮ็ล์ม ด็องโค สรุปว่า

“ความเป็นกลางของเราจึงไม่ได้ป้องกันเราจากการเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นและแข็งขันในกิจการระหว่างประเทศเลย” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน (CHANADDA JINAYODHIN)

[email protected]

คุยกับทูต | วิลเฮ็ล์ม ด็องโค บทบาทของนักเขียน-นักการทูตออสเตรีย (1)