การพัฒนาเมืองแบบริบบิ้น | ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง พาไปมองความเป็นมาของถนนพหลโยธิน ที่ต่อจากถนนพญาไท ไปยังสนามบินที่อยู่ทางทิศเหนือ ต่อมากลายเป็นทางหลวงแผ่นดิน ไปยังภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศ

ในอดีต พื้นที่สองฝั่งถนนจะเป็นทุ่งนา ด้วยผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าวเท่านั้น แม้แต่จุดเริ่มต้นถนนตรงปลายถนนพญาไทนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังเป็น สนาม (ยิงปืน) เป้า ไม่มีผู้คนอาศัย

เมื่อถนนพหลโยธินกลายเป็นแกนนำการขยายตัวของเมือง ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน จากอยู่อาศัยริมคลอง มาอยู่อาศัยริมถนน จากเดินเรือ มาขับรถยนต์ จากเรือนไม้ มาเป็นตึกก่ออิฐฉาบปูน

เริ่มจากหน่วยงานราชการ คือ สนามบินและที่ทำการ ที่ต่อมาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และ กองบัญชาการกองทัพอากาศ สถานีเกษตรกลาง ที่ต่อมาเป็นกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรือนจำชั่วคราวลาดยาว ต่อมาเป็นเรือนจำกลางคลองเปรม

ส่งผลให้บริษัท ห้างร้าน โรงงาน โยกย้ายตามมา ด้วยความสะดวกในการเดินทางขนส่ง เกิดเป็นแหล่งงานสำหรับผู้คนทั่วไป

 

แต่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือการเปิดพื้นที่พักอาศัย รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ สำหรับผู้คนอพยพหนีความแออัดในพระนคร และสำหรับผู้คนที่ย้ายภูมิลำเนาจากต่างจังหวัด

เริ่มจากคฤหาสน์ของขุนนางและคหบดี บ้านพักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ย่านสนามเป้า ตามมาด้วยบ้านพักสวัสดิการข้าราชการตำรวจ ย่านอินทามระ มาเป็นบ้านพักข้าราชการและบุคคลทั่วไป ย่านสะพานควายและบางเขน

จากการจัดสรรที่ดิน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในยุคแรก ที่แค่ปรับพื้นที่ ตัดถนน และแบ่งแปลงที่ดิน มาสู่การสร้างบ้านพร้อมอยู่ของโครงการบ้านจัดสรร ตั้งแต่ลาดพร้าว บางเขน ไปจนถึงบางบัว

โดยเฉพาะโครงการเสนานิเวศน์ ที่ประสบความสำเร็จ มีการขยายพื้นที่โครงการออกไปมากมาย

 

เมื่อมีผู้คนอยู่อาศัยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดร้านค้า ตลอดสถานบริการ ที่อยู่ในตึกแถวริมถนน สำหรับผู้คนที่พักอาศัยในพื้นที่ภายในซอย ที่อยู่ในศูนย์การค้าขนาดเล็ก สำหรับคนในพื้นที่ และที่อยู่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว สำหรับผู้คนทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ

ในช่วงเวลาแห่งความนิยมตึกแถว เกิดกระแสการสร้างกำแพงตึกแถว สองข้างถนนพหลโยธิน ที่กลายเป็นแบบแผนการพัฒนาเมืองอื่น จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดต่างๆ ไปจนชายแดน ที่เรียกขานว่า การพัฒนาเมืองแบบริบบิ้น เมื่อชุมชนเรียงรายยาวต่อเนื่องไปตามแนวถนน

ในชั้นเรียนวิชาผังเมือง แบบแผนนี้กลายเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการพัฒนาเมือง ด้วยรูปแบบที่ไม่รวมกลุ่ม และไม่มีขอบเขตชัดเจน ส่งผลให้การจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เป็นไปได้ยาก หรือต้องใช้งบประมาณสูง

ในประเทศตะวันตก แม้เดิมการพัฒนาเมืองในอดีตล้วนเป็นแบบเดียวกันนี้ แต่ในเวลาต่อมามีกฎ ระเบียบ และผังเมือง กำหนดรูปแบบการพัฒนาเมืองแบบกลุ่มอย่างเข้มข้น บรรดาข้าราชการและนักเรียนนอกที่เพิ่งไปเห็นมา เลยยึดมั่นถือมั่นว่าการพัฒนาเมืองแบบริบบิ้นของกรุงเทพฯ อย่างถนนพหลโยธิน เป็นที่มาของปัญหาเมือง สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการของบประมาณ

โดยไม่ทันคิดว่า การพัฒนาเมืองแบบริบบิ้นนี้ กลับกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบรางของกรุงเทพฯ ที่ความเป็นไปได้ ในการสร้างราง ตามแนวถนน และเหนือการจราจร และมีรายได้มาจากผู้คนที่อาศัยจำนวนมากอยู่สองข้างถนน

เป็นที่มาของความสำเร็จ ในโครงการแรกสายสีเขียว ที่วิ่งตามถนนพหลโยธิน ไปสิ้นสุดที่สถานีหมอชิต จตุจักรในตอนแรก และขยาย ไปจนถึงลำลูกกาในตอนหลัง

และกลายเป็นต้นทางพัฒนาโครงการสายสีต่างๆ ตามถนนสายอื่นๆ ในเวลาต่อมา •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส