เศรษฐกิจ/พาณิชย์มือระวิง ปั๊มยอดส่งออกท้ายปี หวังตุนต่อรักษาแชมป์โตถึงปีหน้า

เศรษฐกิจ

พาณิชย์มือระวิง ปั๊มยอดส่งออกท้ายปี

หวังตุนต่อรักษาแชมป์โตถึงปีหน้า

“สูงสุดเป็นประวัติการณ์” เกิดขึ้นอีกครั้งกับการส่งออกไทย ล่าสุดมูลค่าการส่งออกในเดือนกันยายน 2560 สูงถึง 21,812 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.2% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน แง่มูลค่าต่อเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 18,454 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.73% เกินดุลการค้า 3,358 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทำให้การส่งออก 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปีนี้ มีมูลค่า 175,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

เมื่อหักทองคำและสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมันรวมทองคำ การส่งออกยังขยายตัวได้ถึง 10.3% และ 9.3% ตามลำดับ

ส่วนมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 163,203 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.75% เกินดุลการค้า 12,231 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการค้าโลก ที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

การนำเข้าสินค้าฟื้นตัวทั้งในสหรัฐ สหภาพยุโรป และเอเชีย ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

จึงได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปีนี้จากเดิมขยายตัว 7% เป็นไม่ต่ำกว่า 8% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 232,618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2559 มีมูลค่า 215,387 ล้านเหรียญสหรัฐ

นั่นหมายความว่า 3 เดือนที่เหลือ (ตุลาคม-ธันวาคม) ของปีนี้ ต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 19,061 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน หากทำได้ตามเป้า มูลค่าการส่งออกในปีนี้จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนตัวเลขคาดการณ์ของหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่างมองไปในทิศทางเดียวกัน

คือปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขจากกรอบเดิม 3-5% เป็น 5.7-8%

สําหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกในช่วง 9 เดือนปีนี้ ประกอบด้วย

1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 11.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มูลค่า 19,601 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตะวันออกกลางลดลงสะสมในช่วงที่ผ่านมา ส่วนรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุก รวมถึงส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ยังขยายตัวต่อเนื่อง

2. เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ สัดส่วน 7.6% มูลค่า 13,393 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.1% จากการปรับการผลิตเครื่องคอมพ์ อุปกรณ์ และฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ ให้ตรงความต้องการของตลาด

3. ผลิตภัณฑ์ยาง สัดส่วน 4.3% มูลค่า 7,498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 53.8% เนื่องจากจีนต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต

4. เม็ดพลาสติก สัดส่วน 3.6% มูลค่า 6,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.4% ตามความต้องการใช้ในภาคผลิต โดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี (ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม)

5. แผงวงจรไฟฟ้า สัดส่วน 3.5% มูลค่า 6,137 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.4% จากการทำตลาดเพิ่มขึ้นในจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น

6. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สัดส่วน 3.2% มูลค่า 5,675 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.8% จากส่งออกไปตลาดละตินอเมริกาเพิ่มขึ้น

7. อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ สัดส่วน 3.1% มูลค่า 5,524 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.9% อันดับ

8. เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 3.1% มูลค่า 5,415 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.5%

9. ทองคำ สัดส่วน 2.9% มูลค่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 16.8%

10. น้ำมันสำเร็จรูป สัดส่วน 2.9% มูลค่า 5,030 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 33.3%

แม้ภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะออกมาดีเกินคาด แต่ก็มีสินค้าสำคัญบางรายการมีแนวโน้มส่งออกลดลง เช่น การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 9 เดือนแรกมีมูลค่า 2,007 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.7%

รถยนต์นั่ง มูลค่า 7,778 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 12.8%

ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ มูลค่า 2,373 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 9.8%

เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 3,791 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.5%

และเฉพาะในเดือนกันยายน 2560 อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 538 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.2%

ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป รวม 347 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 9.7% ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้จะมีความกังวลในเรื่องเงินบาทแข็งค่า ปัญหาของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และปัญหาความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ

แต่ผู้ส่งออกยังมองสถานการณ์ในแดนบวก โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า คาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6%

ซึ่ง สรท. อยู่ระหว่างปรับเพิ่มประมาณการ เพราะเชื่อว่าหากช่วงที่เหลือยังรักษาทิศทางขยายตัวได้ต่อเนื่อง สามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเหมือนช่วง 2 เดือนก่อนหน้า

คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 10% ได้

กระทรวงพาณิชย์อาจจะโล่งใจไปอีกเปราะ แต่หน่วยงานในสังกัด อย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังประกาศเดินหน้าทำกิจกรรมผลักดันการส่งออกช่วงโค้งสุดท้ายของปี

โดยเชิญผู้นำเข้าจากหลายประเทศมาเจรจาซื้อขายข้าวในไทย

และในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะนำผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าภาพยนตร์และบันเทิงของไทยเจาะตลาดสหรัฐ

และไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก

นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายปี จะบุกตลาดสุขภาพและความงามในจีน และตลาด 7 เมืองน่าสนใจในอินเดีย ของสินค้ากลุ่มอาหาร เกษตร และไลฟ์สไตล์

รวมถึงส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรม www.thaitrade.com ต่อเนื่อง เพื่อที่จะตุนออเดอร์ล่วงหน้าไว้ในปี 2561 ที่แม้ว่าจะยังไม่ได้สรุปตัวเลขที่ชัดเจนว่าวางเป้าหมายขยายตัวไว้อย่างไร

เพราะต้องหารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) และภาคเอกชน ในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้าอีกครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายก็เชื่อว่าการส่งออกยังจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่คงไม่เท่ากับปีนี้ เพราะฐานของปีนี้ค่อนข้างสูง

ประกอบกับในปีนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่เคยคาดการณ์ไว้ จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าปีหน้าคงจะประมาทไม่ได้

โดยปัจจัยเสี่ยงที่น่าสนใจและจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลกระทบจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอน

หากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ตามกำหนดการภายในเดือนมีนาคม 2562 คาดว่ากฎระเบียบเรื่องภาษีศุลกากรของทั้งสองฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การส่งสินค้าจากไทยไปสหราชอาณาจักรและส่งต่อไปยังยุโรปอีกที อาจจะต้องผ่านด่านการตรวจถึง 2 รอบ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

สอดคล้องกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ประเมินว่า ปีหน้ายังต้องติดตามทั้งผลกระทบจากเบร็กซิท ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ มาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ นโยบายส่งเสริมการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้า รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม กรมได้เตรียมแผนไว้รับมือ ทั้งการต่อยอดกลยุทธ์เจาะตลาดเป็นรายเมือง (ซิตี้ โฟกัส) สานต่อนโยบายความเป็นหุ้นส่วน (สตราเตจิก พาร์ตเนอร์ชิฟ) และเปิดตลาดในประเทศต่างๆ ที่ผู้นำประเทศเคยสานความสัมพันธ์ไว้ รวมถึงเดินหน้าให้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) บรรลุผลเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการค้าออนไลน์

“กลยุทธ์ใหม่และที่เน้นทำมากขึ้นในปีหน้า ประกอบด้วย การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิช มาร์เก็ต) มากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นกลุ่มสถาบันอย่างโรงแรม ร้านอาหาร สวนสนุกก่อสร้างและตกแต่ง ซึ่งสามารถเสนอขายสินค้าทั้งซัพพลายอุตสาหกรรมได้, ส่งเสริมการส่งออกภาคบริการมากขึ้นทั้งตัวสินค้าและที่เป็นบริการ เช่น ดิจิตอลคอนเทนต์ กลุ่มสุขภาพและรับบริหารโรงแรม, เจาะตลาดตามความต้องการของคู่ค้า เช่น เจาะตลาดที่กำลังพัฒนา ต้องการสินค้าพื้นฐานอุปโภคบริโภค ก่อสร้าง และเกษตร เช่น แอฟริกา ปากีสถาน บังกลาเทศ”

แม้มีแผนรองรับ แต่ปัจจัยภายนอกประเทศเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากและเกินที่จะควบคุมได้ และหากเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ จะต้องดำเนินมาตรการแบบยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้การส่งออกเติบโตได้อย่างเข้มแข็งต่อไป