สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร | สาน”ไม่”สามัคคี

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

สาน”ไม่”สามัคคี

 

การเมือง(ภายในประเทศ) “หลัง”เอเปค น่าสนใจอย่างยิ่ง

ชะลอม อันเป็นสัญญลักษ์แห่งการ สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่เป็นสัญลักษณ์การประชุมเอเปค ดูจะนำมา”ใช้ต่อ” หรือนำมารีไซเคิล เพื่อเป็นสื่อถึงความสมัครสมานการเมือง”ภายใน” โดยเฉพาะในกลุ่มขั้วรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้

ขืนใครพยายามจับยัดใส่ชะลอม เพื่อให้รักสามัคคีกัน อาจทำให้ชะลอมแตกง่ายๆ

เพราะมีปมขัดแยกมากมายเหลือเกิน

ขนาดเรื่องบวกๆ ยังถูกลากให้เป็นประเด็นลบได้

เช่นขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามเก็บแต้มจากการประชุมเอเปค เพื่อให้มีผลต่อ ความพยายาม”ไปต่อ”อย่างเต็มที่

พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มิได้อยู่เฉย ฉกฉวยซีน ชิงพื้นที่สื่อ คู่ขนานไปกับพล.อ.ประยุทธ์ อย่างประกบติด

โดยอาศัย กระแสฟุตบอลโลกเป็นตัวเกื้อหนุน

โปรดสังเกตุ คำแถลง ของนายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หลังบรรลุข้อตกลงการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ครบ 64 แมตช์ เรียบร้อยแล้วในมูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท

“ขอบคุณ พล.อ.ประวิตร ที่ประสานงานภาคเอกชนจนสำเร็จดังกล่าว รวมไปถึง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ชาวไทย, คุณสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ที่ปรึกษาสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ที่ช่วยประสานงานอย่างเต็มที่ รวมถึงภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้คนไทยได้รับชมการถ่ายทอดสดครบ 64 แมตช์”

มิได้มีการกล่าวถึง รัฐบาล หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง

แต่ก็ไม่อาจเบียดพื้นที่เข้ามาประกบพล.อ.ประวิตรได้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ที่ข่าวถ่ายทอดสดฟุตบอลจะถูกนำไปพาดหัวไม้สื่อภายในประเทศ เคียงคู่หรือเหนือกว่า ข่าวบทบาทพล.อ.ประยุทธ์ บนเวทีเอเปค

ซึ่งว่าไป บนเวทีเอเปคนั้น ก็ใช่จะมีประเด็นบวกเท่านั้น

หากแต่มีประเด็นลบมาลดทอนบทบาทของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ไม่น้อย

ตั้งแต่เรื่องสาระหลักๆที่ว่ากันว่า ถูกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กัมพูชาและการประชุม จี 20 ที่อินโดนีเซีย แย่งชิงไปเกือบหมด

เรื่อยไปถึงเรื่องเล็กๆอย่างปลากุเลา ไปจนถึง”ซีนหลุดๆ”ที่ถูกนำไปล้อเลียนในโลกโซเชียลอย่างสนุกสนาน

ทำให้ เวทีเอเปค ถูกมองว่ากลายเป็นเวทีพิธีกรรม โชว์ยิ้มสยามและการต้อนรับอันอบอุ่นของเจ้าภาพเท่านั้น

นี่จึงทำให้ สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ หวังว่าจะเสริมเครดิตทางการเมือง(ภายในประเทศ)ให้แจ่มชัดถึงความเหมาะสมที่จะเป็นแคดิเดตนายกฯอีกครั้ง อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อเรียกคะแนนนิยมไม่ได้มากตามคาด ทำให้หลังเอเปค คงต้องเร่งขับเคลื่อนทางการเมือง เพื่อชิงความได้เปรียบกลับมาให้ได้มากที่สุด

นี้เอง ทำให้มีการมองว่า”หลัง”จากนี้การเมืองจะดุเดือดและเข้มข้นขึ้น

ที่สำคัญ ความดุเดือดและเข้มข้นนั้น จะอยู่ใน”ชะลอม”เดียวกันเสียด้วย

โดยเฉพาะหากพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไปสร้างฐานทางการเมืองของตนเอง ก็ต้องเร่งทำให้ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”เติบโตขึ้นโดยเร็ว

แต่การโตนั้นเป็นการโตแบบ “ตกปลาในบ่อเพื่อนและพี่” คือ ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ แรงเสียดทาน ต่อต้านจึงสูง

ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามสามัคคีกับพรรคภูมิใจไทยเพื่อเสริมพลังต่อรองในทางการเมือง

แต่ก็มิอาจเคลียร์ปัญหา”กัญชา”ให้กับพรรคภูมิใจไทยที่ขัดแย้งกับประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐได้

ความขัดแย้งจึงวนเวียน นัวเนียอยู่ใน”ชะลอม”เดียวกัน

ทำให้สัญลักษณ์”สาน”สามัคคี เป็น”ประสานงา”เสียมากกว่า

—————–