ลงทัณฑ์แบบถึงเนื้อถึงตัว | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ลงทัณฑ์แบบถึงเนื้อถึงตัว

 

หนึ่งเดือนที่ผ่านมาสารพัดข่าวสารที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็ก มีข้อชวนคิดว่า การกำหนดว่าเรื่องใดใหญ่เรื่องใดเล็กนี้ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

เรื่องใหญ่ของใครบางคนอาจเป็นเรื่องนิดเดียวหรือไม่เห็นเป็นเรื่องเลยในทัศนะของอีกหลายคน

ขณะเดียวกันเรื่องเล็กของบางคนก็เป็นเรื่องมหึมาของคนอีกจำนวนหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น สงครามที่เกิดขึ้นที่ประเทศยูเครนในขณะนี้ ในสายตาของประธานาธิบดีปูตินหรือประธานาธิบดีไบเดนย่อมเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะแต่ละคนเดิมพันอะไรลงไปมากสำหรับการแพ้ชนะคราวนี้

แต่ถ้าไปถามพ่อค้าหรือแม่ค้าในตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดเล็กๆ ของเมืองไทย เรื่องเดียวกันกลับเล็กน้อยเต็มที เพราะอยู่ไกลจากความรับรู้และส่งผลกระทบกระเทือนเพียงเบาบางมากกับพ่อค้าหรือแม่ค้าคนนั้น

ทั้งๆ ที่เรื่องน้ำมันแพงอันเป็นผลโดยตรงมาจากสงครามส่งผลกระทบสำหรับทุกคน

เรื่องสามีภริยาคู่หนึ่งทะเลาะกันจนถึงขนาดต้องตัดสินใจแยกทางกันเดิน เป็นเรื่องขี้ปะติ๋วนิดเดียว หรือไม่เป็นเรื่องเลยในสายตาของนักการเมืองระดับชาติ

แต่ถ้าไปถามคุณลูกซึ่งคุณพ่อคุณแม่กำลังจะหย่าขาดจากกัน เรื่องนี้เท่ากับโลกทั้งโลกกำลังจะถล่มลงมาเลยทีเดียว

 

ขี่ม้าเลียบเมืองมาถึงเพียงนี้เพื่อจะชวนท่านทั้งหลายคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์เด็กของมูลนิธิแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานวันมานี้ มีข่าวปรากฏว่าผู้ปกครองดูแลสถานเลี้ยงเด็กแห่งนั้นได้ลงโทษตีเด็กด้วยข้อหาที่เด็กไม่เชื่อฟังและไม่อยู่ในระเบียบวินัย

เรื่องนี้มีคลิปเผยแพร่ในสาธารณะ เป็นข่าวฮือฮาถึงขนาดที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องเข้าไปดูแล

ดูเหมือนจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของสถานสงเคราะห์เด็กหรือมูลนิธิแห่งนั้นไปแล้ว ผ่านไปสองสามวันข่าวเรื่องนี้ก็จางหายไปเหมือนกับเรื่องร้อยเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

หลายคนคงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ขณะที่อีกหลายคนรวมทั้งผมด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่

เพราะเป็นกรณีศึกษาที่อาจจะใช้เป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นความเป็นไปในเมืองไทยของเราได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

สำนวนไทยที่พูดกันมาแต่เก่าก่อนว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” กำลังเผชิญกับคำถามหรือความท้าทายที่มากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

พอๆ กันกับสำนวนที่บอกว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” อันมีความหมายขยายความว่าผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาช้านานย่อมมีประสบการณ์มากและรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกมากกว่าคนเป็นเด็ก

เราทราบกันแล้วไม่ใช่หรือว่า ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องของครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะลงโทษเด็กนักเรียน ทุกวันนี้ก็ไม่อนุญาตให้ครูตีนักเรียนเสียแล้ว เพราะความรู้ที่เป็นปัจจุบันสมัย บ่งให้เรารู้ว่า การลงโทษเด็กที่เกิดทำความผิด (ในทัศนะของผู้ใหญ่) ไม่สมควรใช้วิธีการรุนแรงโดยการใช้พละกำลังลงโทษอีกต่อไป

การลงโทษด้วยวิธีการใดก็ตามที่ถึงเนื้อถึงตัวของผู้ที่เป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตี การกร้อนผม หรือกระทำโดยประการอื่นใดก็ตาม ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่มีอยู่ในชีวิตและร่างกาย ซึ่งมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 28 รับรองไว้

บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงรู้สึกโกรธอยู่ในใจว่า ผมกำลังจะบอกว่าเด็กที่ทำผิดก็ปล่อยเขาไปโดยไม่ต้องอบรมสั่งสอนอะไร ให้เขาโตฟักโตแฟงอยู่อย่างนั้นหรือ

กลับไปย้อนอ่านดูทุกบรรทัดที่ผมเขียนมาข้างต้น ผมว่าผมไม่ได้เขียนอย่างนั้นนะครับ

การลงโทษระหว่างครูกับศิษย์ก็ดี การลงโทษระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับลูกหลานก็ดี อย่าไปนึกว่าเป็นการลงโทษในคดีอาญา ต้องทำให้หลาบจำหรือล้มถึงตาย

ข้อสำคัญคือผู้ใหญ่ต้องสามารถพอที่จะทำให้เด็กเข้าใจเหตุและผล ขึ้นต้นตั้งแต่กฎกติกาหรือมารยาทเหล่านั้นมีขึ้นเพื่อเหตุใด เป็นกฎกติกาที่ยังเหมาะสมกับภาวะปัจจุบันหรือไม่อย่างไร การฝ่าฝืนกฎกติกาเหล่านั้นก่อให้เกิดผลดีผลเสียต่อภาพรวมของหมู่คณะหรือตัวผู้ประพฤติฝ่าฝืนอย่างไร

ถ้าทำอย่างนี้ได้ การลงโทษโดยวิธีการอีกหลายอย่างที่เคารพในเนื้อตัวร่างกายของเด็กก็จะได้ผลในระยะยาว เพราะเจ้าตัวยินยอมรับโทษนั้นและเข้าใจในเหตุผลที่ประกอบด้วยความหวังดีของผู้เป็นผู้ใหญ่

จากประสบการณ์ของผม เมื่อครั้งที่ยังรับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรม และมีหน่วยงานที่ชื่อว่ากรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนอยู่ในกระทรวงนั้น ทำให้ผมมีโอกาสได้แวะไปเยี่ยมเยียนบ้านกาญจนาภิเษกซึ่งเป็นสถานที่ดูแลเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด และต้องเข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านดังกล่าวตามคำพิพากษา

บ้านกาญจนาภิเษกมีวิธีทำงานที่แตกต่างจากสถานพินิจอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยใช้วิธีการทำสัญญาจ้างเอกชนซึ่งไม่ใช่ข้าราชการมาเป็นผู้อำนวยการหรือเป็นเบอร์หนึ่งของบ้าน

เอกชนคนที่ว่านี้ ชื่อคุณทิชา ณ นคร หรือป้ามล

คนที่อยู่นอกระบบราชการ แต่มีใจรักและมีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนเมื่อมีโอกาสเข้ามาทำงานนี้ก็เป็นงานที่ท้าทายและน่าสนใจมาก

 

แน่นอนว่าลูกหลานที่อยู่ในบ้านกาญจนาภิเษกไม่ได้เป็นคนที่เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้เป็นแน่ แต่ป้ามลก็มีความสามารถที่จะปกครองดูแลเด็กๆ ในสถานที่แห่งนั้น โดยไม่ต้องใช้ไม้เรียวสักก้าน แต่สามารถผูกใจเด็กทั้งหลายให้สามารถสร้างตัวตนใหม่ของแต่ละคนได้เพื่อพร้อมที่จะกลับไปเป็นสมาชิกของสังคมภายนอก

เด็กทุกคนและป้ามลเข้าใจตรงกันว่า การใช้ชีวิตในบ้านกาญจนาภิเษกของเด็กทั้งหลายจะไม่ยั่งยืนและเป็นเช่นนี้ตลอดไป วันหนึ่งเมื่อถึงกำหนดเวลา เด็กแต่ละคนก็จะก้าวเดินออกไปสู่โลกแห่งความจริงที่แสนจะท้าทายและยุ่งเหยิง

คำถามคือเราจะเตรียมเด็กของเราให้พร้อมกับการก้าวเดินต่อไปอย่างไรโดยลำพังตนในวันข้างหน้า

อันที่จริงคำถามนี้ก็เป็นคำถามที่พ่อแม่ทุกคนต้องถามลูกเหมือนกันไม่เฉพาะแต่ป้ามลต้องถามเด็กในบ้านกาญจนาภิเษก เพราะป้ามลก็ดี คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายก็ดี ไม่สามารถจะอยู่กับเด็กๆ ทั้งหลายได้ตลอดไป

สังคมไทยวันนี้ต้องการการใช้เหตุผลและการพูดจากันมากกว่าการใช้กำลังหรือการใช้อำนาจเหนือกว่าเข้าข่มขู่

 

บ้านเมืองของเราคุ้นเคยและชินชากับการใช้อำนาจแบบแข็งกร้าวมาช้านานแล้ว ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวใช้อำนาจลูก รุ่นพี่ในโรงเรียนใช้อำนาจกับรุ่นน้อง ครูบาอาจารย์ใช้อำนาจกับลูกศิษย์ นายทหารใช้อำนาจกับพลทหาร ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจกับผู้ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ

ในยุคสมัยที่การใช้อำนาจแบบแข็งกร้าวไม่ถูกท้าทายหรือตั้งคำถาม เราก็อาจอยู่ด้วยกันแบบนั้นไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่ามีความผิดปกติอะไร

แต่เมื่อโลกใบนี้เปิดกว้างขึ้น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่มีพรมแดนเสียแล้ว ความรู้อันเป็นค่านิยมใหม่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับนับถือในวงกว้าง มาตรฐานเกี่ยวกับสิทธิของเด็กและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่แม้ประเทศไทยเองก็ลงนามรับรองไว้ในกฎกติการะหว่างประเทศ

การใช้อำนาจแบบแข็งกร้าวหรือการลงโทษลงทัณฑ์แบบถึงเนื้อถึงตัวที่พร่ำเพรื่อจึงกลายเป็นของที่ตกยุค เหมือนอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์เด็กเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ถ้าเปิดตามองเรื่องนี้ให้กว้างออกไปอีกสักหน่อย เราอาจจะเห็นคนที่ตกยุคอยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่มีความสำคัญโดยยังสำคัญผิดว่าวิธีคิดแบบเดิมคือการใช้อำนาจแบบแข็งกร้าวเป็นทางเลือกเดียวในการทำงาน

เช่น ลูกน้องร่างหนังสือไม่ถูกใจมาให้ลงนาม ก็เรียกลูกน้องมาพบ แล้วเอาแฟ้มตีหัวลูกน้องเป็นการสั่งสอน

ถ้าเปรียบวิธีการดังกล่าวกับทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือการเรียกลูกน้องมาพบแล้วชี้แจงหรืออธิบายว่าสมควรมีการแก้ไขหนังสือดังกล่าวอย่างไรด้วยเหตุผลใด อธิบายดีๆ อย่างที่มนุษย์ควรจะพูดจากัน คราวหน้าจะได้ไม่เขียนผิด

ผมเชื่อมั่นในวิธีการอย่างหลังและได้ใช้มาตลอดชีวิตการทำงาน จึงเอาตัวรอดมาถึงทุกวันนี้

ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าพวกที่ชอบใช้แฟ้มตีหัวลูกน้อง ทำไมถึงยังอยู่รอดมาได้ ฮา!