ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (3) จีนไม่กลายเป็นทุนนิยม เพราะอคติของราชการต่อพ่อค้า | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (3)

จีนไม่กลายเป็นทุนนิยม

เพราะอคติของราชการต่อพ่อค้า

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน

ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

 

แดเนียล เดนเวอร์ : คุณเถียงไว้ด้วยใช่ไหมครับว่า ที่เรียกว่าคำอธิบายการที่ทุนนิยมพุ่งทะยานขึ้นได้ในอังกฤษ ด้วยกำเนิดทางเกษตรกรรมของมัน ซึ่งบ่งชี้วิถีทางที่การปฏิวัติเกษตรกรรมยุคต้นสมัยใหม่ของอังกฤษได้ช่วยปลดปล่อยทุนกับแรงงานอันจำเป็นให้เป็นอิสระนั้น ล้มเหลวทั้งเพที่จะใช้มาอธิบายว่าทำไมทุนนิยมจีนจึงไม่พุ่งทะยานขึ้นบ้าง ทั้งนี้เพราะเอาเข้าจริงจีนก็ประสบพบผ่านการปฏิวัติเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ก็เลยมีส่วนเกินในชนบทตอนปลายยุคจักรวรรดิของจีน ชั่วแต่ว่ามันไม่ได้ถูกเชื่อมประสานกันเพื่อนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมในเมืองเท่านั้นเองน่ะครับ

โฮเฟิง หง : ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจว่าด้วยอังกฤษและยุโรปโดยทั่วไปนั้น สมมุติฐานก็คือมีการปฏิวัติเกษตรกรรมเกิดขึ้นครับ ผลิตภาพทางเกษตรเติบโตระเบิดเถิดเทิง ฉะนั้น โดยทั่วไปก็เลยมีส่วนเกินในชนบทพอเพียงที่จะกรุยทางให้แก่การผงาดขึ้นของทุนนิยมอุตสาหกรรมครับ

ข้อถกเถียงของผมก็คือว่า การปฏิวัติเกษตรกรรมเป็นเงื่อนไขอันจำเป็น ทว่า ไม่พอเพียงที่จะทำให้ทุนนิยมอุตสาหกรรมหรือทุนนิยมโดยทั่วไปผงาดขึ้นมาครับ คุณอาจมีการปฏิวัติเกษตรกรรม คุณอาจก่อกำเนิดส่วนเกินได้มากพอ แต่กระนั้นคุณก็ยังต้องมีพวกผู้กระทำการตัวแทนและสถาบันทั้งหลายแหล่เพื่อรวมศูนย์ส่วนเกินมาไว้ด้วยกันให้กลายเป็นวิสาหกิจทุนนิยมนะครับ ชนชั้นนำในเมืองที่ว่านี้สำคัญยิ่งและมัน เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นอีกอย่างของทุนนิยมครับ

ที่เราเห็นในกรณีจีนก็คือฉันทามติว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 นั้น ผลิตภาพทางเกษตรของจีนเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจ เรียกว่าเทียบเคียงได้กับอังกฤษหรือยุโรปตะวันตกเลยทีเดียวล่ะครับ มีส่วนเกินทางเกษตรมากพอ ทว่า เนื่องจากความสัมพันธ์ของรัฐกับพ่อค้าอยู่ในภาวะตึงเครียดและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเป็นผู้ประกอบการเริ่มปรากฏ มันก็เลยขาดแคลนชนชั้นนำในเมืองผู้สามารถและเต็มใจจะช่วยประสานการรวมศูนย์ส่วนเกินในชนบทที่ว่านี้ให้กลายเป็นวิสาหกิจทุนนิยมครับ

ขอออกตัวไว้ก่อนอีกนั่นแหละครับว่าผมไม่ได้กำลังพูดว่าจีนไม่มีชนชั้นนำอย่างว่านั้นเลยนะครับ มันก็พอมีอยู่บ้าง แต่พวกเขาไม่เคยยืดหยุ่นคงทนและเรืองอำนาจเท่าชนชั้นนำในเมืองของยุโรปเลย ทั้งนี้ก็เพราะสถานการณ์เฉพาะทางการเมืองในจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18

กล่าวโดยสรุปก็คือการปฏิวัติเกษตรกรรมกับส่วนเกินทางเกษตรอันล้นเหลือเฟือฟายที่ว่านี้เป็นเพียงเงื่อนไขอันจำเป็น ทว่า ยังไม่พอเพียงสำหรับการปรากฏขึ้นของทุนนิยมในจีนครับ

เครื่องนวดข้าวด้วยแรงม้าอันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเกษตรกรรมในยุโรป

แดเนียล เดนเวอร์ : เดินหน้าต่อในประวัติศาสตร์จีนนะครับ คำถามถัดไปของคุณคือ “เหตุไฉนและอย่างไรบรรดานักสร้างรัฐของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงล้มเหลวในการปลุกปล้ำผลักดันทุนนิยมที่รัฐชี้นำ (state-directed capitalism) ขึ้นมาดังที่ญี่ปุ่นทำสำเร็จ ในสภาพที่ประเทศซึ่งสร้างอุตสาหกรรมทีหลัง (late industrializers) ตามหลังอังกฤษทุกประเทศต่างเผชิญเศรษฐกิจโลกที่แก่งแย่งแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องต้องการให้รัฐเข้าแทรกแซงในระดับสูงขึ้นเพื่อชี้นำและรวมศูนย์ทรัพยากรทางการเงินอันจำเป็นสำหรับเริ่มต้นการสะสมทุนได้เร็วขึ้น”

ประเทศสร้างอุตสาหกรรมทีหลังสำเร็จอย่างเยอรมนี รัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ต่างปลุกปล้ำผลักดันทุนนิยมที่รัฐชี้นำขึ้นมาในช่วงเวลาซึ่งจักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังผงาดได้อย่างไรกันครับ? และระบบโลกใหม่ที่ว่านั้นรื้อเปลี่ยนสภาพเงื่อนไขที่รัฐเพื่อการพัฒนา (developmental state) ใหม่แต่ละรัฐรวมทั้งจีนถูกบีบบังคับให้ต้องนำร่องประเทศตนอย่างไรหรือครับ?

โฮเฟิง หง : พอย่างเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 19 มันก็น่าสนใจนะครับที่จะเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับจีน ญี่ปุ่นเป็นประเทศสร้างอุตสาหกรรมทีหลังที่ประสบความสำเร็จ ส่วนจีนสำเร็จน้อยกว่า จีนประสบความก้าวหน้าอยู่บ้างในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่สำเร็จเทียบเท่าญี่ปุ่น กุญแจไขให้เข้าใจความแตกต่างเรื่องนี้อยู่ที่รัฐครับ

จวบจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้นเอาเข้าจริงญี่ปุ่นกับจีนคล้ายคลึงกันมากครับ กล่าวคือ ต่างก็มีส่วนเกินทางเกษตรล้นเหลือเฟือฟายและต่างก็ขาดเหล่าผู้ประกอบการในเมืองเหมือนกัน แต่แล้วญี่ปุ่นก็กลับตัดทางลัดสู่ทุนนิยมโดยใช้อำนาจรัฐดำเนินการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิเสียเองเลย ประมาณนั้นครับ

รถไฟพลังไอน้ำริมท่าเรือเมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภาพวาดโดยฮิโรชิเกะ

แน่นอนว่ารูปแบบหนึ่งของการนี้คือรัฐใช้การเก็บภาษีอากรมารีดเค้นชาวนาแล้วรวมศูนย์ส่วนเกินจากชนบทไว้ในมือรัฐ จากนั้นรัฐก็ใช้ทรัพยากรเหล่านี้มาก่อตั้งธนาคารซึ่งเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่พวกนักอุตสาหกรรมอีกที มันเป็นการจัดหาทุนให้แก่การสร้างอุตสาหกรรมของประเทศครับ ดังนั้น ในหนทางไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมทีหลังแบบญี่ปุ่นและเยอรมนีด้วยนั้น เงื่อนไขเบื้องต้นคือการมีรัฐที่ผนึกเป็นปึกแผ่นเอกภาพ ซึ่งเข้มแข็งพอที่จะดำเนินการแย่งยึดทรัพยากรจากชนบทอย่างป่าเถื่อนยิ่งในบางครั้งที่ว่ามานี้แหละครับ

เอาเข้าจริงพวกเขาก็พยายามทำอย่างเดียวกันในจีนด้วยนะครับ แต่ความพยายามของพวกเขาล้มเหลวลงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการปฏิรูปภาษีอากรในรัฐจีนครับ พวกเขาอยากเก็บภาษีเพิ่มแล้วใช้เงินภาษีนั้นมาสร้างบรรษัทซึ่งรัฐสนับสนุนเพื่อนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ ผลิตเหล็กกล้า สร้างทางรถไฟและอะไรอย่างอื่นสารพัด

ดังนั้น จะว่าไปมันก็เป็นยุทธศาสตร์เดียวกันนั่นล่ะครับ ชั่วแต่ว่าจีนดำเนินการไม่สำเร็จขณะที่ญี่ปุ่นทำสำเร็จ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งที่เป็นการณ์จรและไม่ค่อยเป็นการณ์จรครับ

เหตุปัจจัยหนึ่งก็คือการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เล็กกระจ้อยร่อยกว่ามาก กล่าวในทางภูมิศาสตร์แล้ว จีนใหญ่โตมโหฬารกว่าเยอะครับ ญี่ปุ่นมีขนาดพอๆ กับมณฑลหนึ่งของจีนแค่นั้นเอง ฉะนั้น รัฐจีนจึงจำต้องประสานงานการรวมศูนย์ทรัพยากรและการสร้างอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมทั่วฐานจักรวรรดิอันไพศาล ซึ่งย่อมยากเย็นแสนเข็ญกว่าอักโขเพียงเพราะความกว้างใหญ่ไพศาลทางภูมิศาสตร์ของมัน

เนื่องจากขอบเขตอันกว้างใหญ่ระดับทวีปของจีน รัฐจีนจึงผ่องถ่ายภาระหน้าที่จำนวนมากให้ ชนชั้นนำระดับมณฑลหรือท้องถิ่นไปทำแทน ฉะนั้น จีนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเกิดสภาพที่รัฐแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ครับ ซึ่งในการนี้บรรดาชนชั้นนำท้องถิ่นเหล่านี้ก็เริ่มมีกองทัพส่วนตัวของตนเองไว้ปราบปรามพวกกบฏต่างๆ เป็นต้น แต่การแตกสลายของรัฐที่ว่านี้ไม่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เนื่องจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เล็กกว่ามากนั้นทำให้ค่อนข้างง่ายในอันที่รัฐจะรวมศูนย์อำนาจและทำทุกสิ่งทุกอย่างผ่านรัฐบาลกลางครับ

เหตุปัจจัยอีกประการได้แก่ลักษณะแยกตัวอยู่ต่างหากของญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นรัฐหมู่เกาะครับ ในจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น กองกำลังจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลายกระเหี้ยนกระหือรือที่จะแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรของจีนกันในหมู่พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นบริเตน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซียและจักรวรรดินิยมตะวันตกอื่นๆ ทุกประเทศ มหาอำนาจเหล่านี้มัวแต่ยุ่งอยู่กับการสลักเสลาเขตอิทธิพลของตนเองในจีนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 พวกเขาก็เลยไม่ได้ทุ่มเทพลังงานและความใส่ใจไปยังญี่ปุ่นมากนัก ญี่ปุ่นมีเพียงความสัมพันธ์ทางพาณิชย์กับสหรัฐแค่นั้นเองครับในคริสต์ศตวรรษที่ 19 น่ะ

แต่ตอนนั้นประชากรและศูนย์โน้มถ่วงทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศเสียมาก ผลประโยชน์ของสหรัฐกำลังเริ่มเคลื่อนย้ายมาทางตะวันตก ทว่า สหรัฐก็ยังคงเป็นมหาอำนาจแปซิฟิกที่อ่อนเยาว์อยู่ จะว่าไปแล้วมันไม่มีพลังอำนาจหรือความกระสันประเภทที่จะเอาญี่ปุ่นเป็นเมืองขึ้นครับ สหรัฐก็เลยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่นแทน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีพื้นที่พอจะหายใจหายคอขณะที่มหาอำนาจยุโรปอื่นๆ กำลังสาละวนเฉือนแบ่งจีนกัน ฉะนั้น มันจึงมีทั้งเหตุปัจจัยทางภูมิศาสตร์และเหตุปัจจัยการณ์จรทางภูมิรัฐศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวของรัฐจีนในอันที่จะดำเนินยุทธศาสตร์สร้างอุตสาหกรรมทีหลัง ชนิดที่ญี่ปุ่นและเยอรมนีนำมาใช้ในช่วงเวลาเดียวกันนั่นแหละครับ

(ต่อสัปดาห์หน้า)