พระนางจามเทวี กับอิทธิพลทมิฬในท้องถิ่นหริภุญไชย จากมุมมองของ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึงมุมมองของ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย เรื่องการอ้างหลักฐานจารึกสองหลัก หลักแรกคือ “จารึกนครศรีธรรมราช” (น.ศ.1) ด้านหนึ่งเขียนอักษรมอญ-ปัลลวะ อีกด้านเขียนอักษรทมิฬ ปรากฏคำสำคัญคือชื่อของ “วรัญวาตี”

กับอีกหลักหนึ่ง “จารึกวัดกุดแต้” เขียนอักษรปัลลวะภาษาขอมและสันสกฤต มีการอ้างถึงสายตระกูลขอมเจนละ- ที่เข้ามาสัมพันธ์กับทางมอญศามภูกะ สืบเผ่าพงศ์วงศ์วาน ผสมไปผสมมา ว่านเครือข้ามสายไปแต่งงานกับวงศ์ทางจามปาก็มี วงศ์ไศเลนทร์ของศรีวิชัยก็มี

เรื่องราวค้างคาอยู่ที่สตรีนาม “วรัญวาตี” ที่อาจารย์พงศ์เกษมเชื่อว่า “นางผู้นี้เอง อาจจะเป็นราชนารีสูงศักดิ์ ลูกผสมหลากเผ่าหลายพันธุ์ระหว่างขอมเจนละ-มอญศามภูกะ-จามปา-ไศเลนทร์” แล้วค่อยๆ เคลื่อนบทบาทขึ้นมาสู่หริภุญไชย แล้วกลายเป็น “พระราชชนนีของพระนางจามเทวี”

ข้อสันนิษฐานเช่นนี้มีจารึกหรือตำนานอะไรมารองรับอย่างแน่นหนาหรือไม่ คำตอบคือไม่มี มีแต่เพียงหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น

ลองมาฟังความเห็นของอาจารย์พงศ์เกษมกันดูสักหน่อยว่า “หลักฐานเชิงบริบท” ที่อาจารย์พยายามจะเชื่อมโยงนั้น น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน?

ที่วัดพระธาตุสามเงา จังหวัดตาก ทำรูป “กากวานร” หรือลิงดำ ประกอบที่ฐานรูปปั้นพระนางจามเทวี

ความสับสนเรื่องชาติกำเนิดของกุมารีวี

ตํานานเรื่องพระนางจามเทวีในท้องถิ่น ที่เขียนขึ้นนานพอสมควรในดินแดนลำพูน-เชียงใหม่ คู่ขนานไปกับตำนานล้านนาฉบับคลาสสิกซึ่งมีอายุ 500 กว่าปี สามเล่ม (มูลสาสนา จามเทวีวงส์ ชินกาลมาลีปกรณ์) ล้วนแล้วแต่ระบุถึง “ชาติกำเนิด” ของพระนางจามเทวีว่า

“เป็นธิดาของเศรษฐีอินตา เชื้อสายมอญ บ้านอยู่แถวหนองดู่ (ปัจจุบันคือเวียงเกาะกลาง ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน) ส่วนฝ่ายมารดานั้น ระบุไว้สองกระแส

กระแสแรก มารดาชื่อนางอุษา ต่อมาได้หย่าร้างกับเศรษฐีอินตา (ไม่ระบุสาเหตุ) ทำให้พระนางจามเทวีเป็นลูกกำพร้า เศรษฐีผู้เป็นพ่อจึงพาลูกไปจากหมู่บ้าน แต่แล้วก็ถูกนกคาบพากุมารีหนีไป

กับอีกกระแสหนึ่ง ไม่ได้ระบุว่ามีการหย่าร้าง อธิบายว่า เศรษฐีอินตาเป็นเพื่อนกับเศรษฐีชาวบ้านเส้ง (ไม่แน่ใจว่าจุดนี้ควรหมายถึงแถววัดหนองเส้ง ใกล้วัดสันป่ายางหน่อม ทิศเหนือเมืองลำพูน หรือควรหมายถึงชุมชนบ้านเส้ง ต.บ้านแป้น อ.เมืองลำพูน?) สองสหายสัญญากันว่าหากมีลูก แล้วเป็นเพศตรงข้ามกัน โตขึ้นจะหมายหมั้นให้แต่งงานเป็นดองกัน

ครั้นเมื่อเศรษฐีอินตามีลูกหญิง เศรษฐีบ้านเส้งมีลูกชาย แทนที่จะได้หมั้นหมายกันตามสัญญา กลับเกิดอุปสรรค ตำนานท้องถิ่นแต่ละฉบับก็เขียนไม่เหมือนกันอีก บางฉบับว่า ลูกชายของเศรษฐีบ้านเส้งรูปชั่วตัวดำ ทำให้เศรษฐีอินตารังเกียจ ไม่รู้จะทำเช่นไร จึงเอาลูกสาวไปซ่อน

บางฉบับว่า พระอินทร์ส่องญาณเล็งเห็นว่า กุมารีจามเทวีนั้นมีบุญญาธิการสูงนัก เกินกว่าจะเป็นภรรยาของลูกเศรษฐีบ้านเส้งได้

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม สรุปความว่า มีนกหัสดีลิงค์ตัวใหญ่มาคาบกุมารีที่เพิ่งคลอดได้ไม่กี่วันจากแถวบ้านหนองดู่ เวียงเกาะกลาง เอามาปล่อยในใบบัวขนาดใหญ่ ณ บริเวณที่เรียกว่า “หนองบัว” คือเชิงเขาพระธาตุดอยคำ (ปัจจุบันอยู่ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่) ไม่ไกลจากแหล่งพำนักของฤษีวาสุเทพ (อยู่ดอยสุเทพ) ที่ต้องลงมาอาบน้ำและเก็บรากบัวในสระนั้นทุกวัน

ฤษีวาสุเทพเห็นกุมารีน้อย จึงได้ชุบเลี้ยงโดยเอาพัดช้อนเด็ก (ภาษาเหนือเรียก “วี”) ให้ขึ้นมาบนพัด ไม่มีการสัมผัสเนื้อตัว ตั้งชื่อว่า “หญิงวี” ต่อมากลายเป็นชื่อ “จามเทวี”

หญิงวีเติบโตมากับฤษี เพื่อนฤษีวาสุเทพมาเห็นเข้า พิจารณาว่า นักพรตไม่ควรอยู่กับเด็กสาวสองต่อสอง คนจะติฉินนินทาเอาได้

ฤษีวาสุเทพจึงอธิษฐานจิตเอาหญิงวีลอยในแพลงไปตามลำน้ำแม่ปิง เขียนสาส์นติดกอไผ่ฝากให้กษัตริย์ละโว้ช่วยนำไปชุบเลี้ยงต่อ

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น เกี่ยวข้องอะไรกับ “วรัญวาตี” ล่ะหรือ? ใช่ค่ะ อาจไม่เกี่ยวข้องกันทางตรง แต่ดิฉันจำเป็นต้องเท้าความยืดยาว เพื่อจะอธิบายว่า ตำนานเรื่องพระนางจามเทวีนั้นมีหลายเวอร์ชั่นเหลือเกิน มิได้มีแค่เวอร์ชั่นเดียว ตามที่ตำนานฉบับคลาสสิคระบุว่าเป็นพระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้เท่านั้น

หากยังมีตำนานท้องถิ่นในล้านนาได้เสนอว่า “ชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี” นั้น มีสายเลือดทางพ่อเป็นระดับแค่เศรษฐีหรือคหบดีชื่ออินตา ฝ่ายแม่ไม่มีรายละเอียด แถมมีการส่งตัวพระนางจามเทวีให้ไปเป็นธิดาบุญธรรม หรือธิดาสะใภ้ของพระเจ้ากรุงละโว้ จากนั้นพระนางจามเทวีเสด็จกลับมาลำพูนอีกครั้งในฐานะกษัตรีย์

จุดนี้เอง ที่ทำให้อาจารย์พงศ์เกษมมองว่า ต้องมีเงื่อนงำอะไรสักอย่าง และไม่ควรมองข้ามตำนานท้องถิ่นอย่างเด็ดขาด

ที่วัดพระธาตุสามเงา จังหวัดตาก ทำรูป “กากวานร” หรือลิงดำ ประกอบที่ฐานรูปปั้นพระนางจามเทวี

หาก “วรัญวาตี” เป็นภริยาของ “เศรษฐีอินตา”?

จินตนาการของอาจารย์พงศ์เกษมบรรเจิดไกลไปถึงการตั้งคำถามที่ว่า

“เป็นไปได้หรือไม่ หากพระนางวรัญวาตี ชื่อที่ปรากฏในจารึกนครศรีธรรมราชผู้นี้ จะเป็นคนเดียวกันกับพระราชชนนีของพระนางจามเทวี เหตุที่วรัญวาตีเป็นเทวีแห่งวงศ์จามปาด้วยเช่นกัน ทำให้ชื่อ ‘จามเทวี’ ยังตกค้างมาจนปัจจุบัน

การขึ้นมาของพระนางวรัญวาตีจากศรีวิชัยสู่ดินแดนตอนเหนือมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากนางเป็นเจ้าหญิงเลือดผสมที่เกิดจากเครือญาติหลายฝักหลายฝ่ายมากเกินไป บางทีแต่ละฝ่ายอาจเกิดความต้องการที่จะขยายดินแดนไปครอบครองตอนในคาบสมุทรแข่งขันกัน บางทีอาจมีความแตกแยกกัน ผลักดันให้พระนางวรัญวาตีพยายามขึ้นมาพบพวกญาติที่ศามภูกะ และอาจเลยขึ้นไปถึงทางเหนือ (ก่อนการก่อเกิดรัฐหริภุญไชย)

หรือบางทีรัฐต่างๆ อาจปรองดองกันดี แต่นางอาจถูกส่งตรงจากตามพรลิงค์ให้ขึ้นมาเพื่อคุมเส้นทางการค้าตอนใน โดยลัดเลาะจากนครศรีธรรมราชสู่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพราะดินแดนที่จะต้องผ่านล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งหมดอยู่แล้ว หมายถึงกลุ่มรัฐศามภูกะ (เขตมอญอู่ทอง นครปฐม ราชบุรี) จนมาถึงเจ้าพระยาตอนในแถบแม่น้ำน้อย สรรคบุรี เข้าแม่ระมิงค์

แล้วนางวรัญวาตีได้พบกับเจ้านครในท้องถิ่นที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ผู้นำชุมชนของหมู่บ้านขนาดใหญ่นาม ‘อินทรา’ หรือเศรษฐีอินตา จนเกิดความสิเนหากัน แล้วมีบุตรีด้วยกันหนึ่งคน

ด้วยฐานันดรที่ต่างศักดิ์ แม้ฝ่ายแม่จะเป็นเจ้าหญิงชั้นสูงจากจามวงศ์ แต่ฝ่ายพ่อเป็นแค่ชนชั้นแพศย์ ไม่คู่ควรกัน ดังนั้น จำเป็นต้องส่งธิดาไป ‘ชุบตัว’ หรือให้ไปเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของความเป็นขัติยนารีในนาม ‘ธิดาบุญธรรม’ แห่งพระเจ้ากรุงละโว้ก่อน (ซึ่งละโว้ก็เป็นเครือญาติกับศามภูกะและจามปาทั้งหมดอีก) จะได้มีศักดิ์และสิทธิ์ในการกลับมาปกครองหริภุญไชย”

ไม่มีใครรู้ว่าจินตนาการอันแสน Amazing ของอาจารย์พงศ์เกษมนั้นจะถูกหรือผิด แต่ท่านบอกดิฉันว่า “จะให้ผมช่วยอุดช่องโหว่ระหว่างตำนานสองเวอร์ชั่นนี้ให้แนบสนิทได้อย่างไรเล่า หากไม่สันนิษฐานออกมาแนวดังว่านี้ ในเมื่อตำนานหนึ่งเล่นตัดตอนเรื่องชาติกำเนิดของพระนางจามเทวีไปดื้อๆ อยู่ๆ ก็เติบโตที่กรุงละโว้แล้ว พร้อมจะลาพระบิดาไปลำพูนทันทีที่ฤษีวาสุเทพนำเสนอสาส์นมาทูลเชิญให้ไปนั่งเมือง

ในขณะที่อีกตำนานหนึ่ง ย้ำนักย้ำหนาว่า ‘หญิงวี-กุมารีวี’ ถูกส่งไปอยู่ละโว้ ด้วยความตั้งใจของฤษีวาสุเทพ แม้จะอ้างเหตุผลว่านักพรตเลี้ยงดูเด็กสาวไม่ได้ แต่ในท้ายที่สุด คนที่ฤษีไปขอมานั่งเมืองลำพูนอีกครั้งในฐานะแม่เมือง ก็คืออดีตกุมารีวี เด็กสาวคนเดียวกันกับคนเดิมที่เคยดูแลมาตั้งแต่แบเบาะ”

อาจารย์พงศ์เกษมย้ำว่า “โปรดอย่าดูแคลนตำนานเรื่องเศรษฐีอินตาว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพ้อเจ้อ หากควรมองว่า การส่งหญิงวีไปชุบตัวพร้อมด้วยกลุ่มพี่เลี้ยงที่เป็น “ลิงดำ” หรือ “กากวานร” (อ่าน กากะวานะ) 28 ตัว (บางเล่มว่า 35 ตัว) นั้น เป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงร่องรอยอิทธิพลของเชื้อชาติ “ทมิฬ” ในดินแดนลำพูน อย่างชัดเจนเลยทีเดียว”

จารึกเขาพระนารายณ์ ตะกั่วป่า เป็นจารึกอักษรปัลลวะภาษาทมิฬ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของชาวทมิฬอินเดีย ขึ้นมาค้าขายกับชาวมอญพื้นถิ่น

อิทธิพล “ทมิฬ” ในดินแดนหริภุญไชย

จารึกอีกหลักที่อาจารย์พงศ์เกษมนำเสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ จารึกเขาพระนารายณ์ พบที่ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นจารึกที่ใช้ภาษาทมิฬ เนื้อหาสะท้อนถึงการเดินทางขึ้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวทมิฬในศรีวิชัยกับชาวมอญ

อาจารย์พงศ์เกษมสงสัยว่า ทำไมสมุนบริวารของพระนางจามเทวีจึงถูกระบุว่าเป็น “กากวานร” ซึ่งคำว่า กากวานร นี้ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ผู้มีคุณูปการร่วมบุกเบิกก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ได้ให้ความหมายไว้ชัดเจนว่า หมายถึงชนชาวทมิฬ อย่างไม่ต้องสงสัย

ทำให้อาจารย์พงศ์เกษมตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ชาวทมิฬขึ้นมาอยู่ในลำพูนได้อย่างไร เป็นไปได้ไหมที่พวกเขาติดตาม “พระนางวรัญวาตี” เจ้าหญิงศรีวิชัยจากนครตามพรลิงค์ ผู้มีเชื้อสายผสมทั้งขอม-จาม-มอญ-แขกทมิฬ โดยนำเอาบริวารที่เป็นชาวทมิฬขึ้นมาลำพูนด้วย ในช่วงที่มาเปิดเส้นทางการค้า จนกระทั่งมาพบรักกับเศรษฐีอินตา?

ร่องรอย “ทมิฬ” ที่น่าสนใจมากอีกประการหนึ่งก็คือ ช่วงที่ฤษีวาสุเทพส่งทูตลงมาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงละโว้เพื่อทูลขอพระนางจามเทวีไปปกครองลำพูนนั้น ทูตผู้นี้มีนามว่า “คะวะยะ” เดิมนักวิชาการมักแปลว่า “นายควาย” ซ้ำเชื่อว่าน่าจะเป็นชื่อของคนเชื้อสายลัวะ

อาจารย์พงศ์เกษมเสนอมุมมองใหม่ว่า ในภาษาสันสกฤต คะวะยะ (Gavaya) เป็นนามของ “หนุมาน” ยิ่งตอกย้ำลงไปอีกว่า ราชมนตรีของลำพูนน่าจะเป็นชาวทมิฬ คนกลุ่มนี้มีหัวหน้าที่ได้รับการยกย่องว่าเทียบได้กับลิงใหญ่ คือหนุมาน เป็นผู้นำจ่าฝูง

ส่วนคติเรื่องราวที่เชื่อมโยงเอาวรรณคดีเอก “รามายณะ” โดยเน้นสมุนลิงพวกหนุมาน สุครีพ มาผูกกับกรุงละโว้นั้น ไม่ว่าเรื่อง “เขาสมอคอน” “นครขีดขิน” ฯลฯ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป

หนังสือเกี่ยวกับพระนางจามเทวีมีหลายเวอร์ชั่น ทั้งฉบับหลวง ฉบับพื้นถิ่น ฉบับนิมิต (ฤๅษีแก้ว) พบว่าส่วนมากให้รายละเอียดว่าพระนางจามเทวีเป็นธิดาของเศรษฐีอินตาบ้านหนองดู่ ก่อนถูกส่งไปเติบโตเป็นธิดาบุญธรรมที่กรุงละโว้

การเดินทางของตัวอักษร ณ และ ส สองห้อง

พิจารณากันในแง่ของการที่อักษรปัลลวะจากอินเดียใต้ได้ส่งอิทธิพลสู่อักษรมอญโบราณหริภุญไชยนั้น อาจารย์พงศ์เกษมพบว่า มีอักษรอยู่สองตัวที่เด่นชัดมากๆ ได้แก่ อักษรตัว “ณ” กับอักษร “ส สองห้อง” ถือเป็นอักษรทมิฬรุ่นเก่ามาก

อักษรสองตัวนี้เดินทางไกลมาจากรัฐศรีวิชัย พบในจารึกวัดมเหยงคณ์ นครศรีธรรมราช กับวัดเสมาเมือง สุราษฎร์ธานี แล้วค่อยๆ เคลื่อนผ่านขึ้นมายังดินแดนมอญทั้งสองฟากเจ้าพระยา ฝ่ายตะวันตก พบตัวอักษร “ณ” ที่นครปฐมในจารึกคาถาเยธัมมา กับในจารึกแผ่นทองแดงที่อู่ทอง (ชิ้นที่มีนามของหรรษวรมัน)

ฝ่ายตะวันออก (รัฐละโว้) พบตัว “ณ” ในจารึกซับจำปา กับที่เมืองพรหมทิน จ.ลพบุรี ซึ่งตัว “ณ” แบบทมิฬศรีวิชัยนี้ พบไม่ถึง 5 หลักในจารึกกัมพูชา แต่กลับพบในจารึกแทบทุกหลักที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

ตัวอักษร “ส สองห้อง” ก็เช่นกัน นอกจากพบที่ศรีวิชัยแล้วหายไปแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็หวนกลับมาพบอีกครั้งอย่างเข้มข้นในกลุ่มจารึกมอญลำพูน ทั้งนี้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ของชาวศรีวิชัยที่ขึ้นมายังหริภุญไชยอย่างค่อนข้างชัดเจน

อาจารย์พงศ์เกษมจึงขอสรุปว่า จากการวิเคราะห์รูปแบบอักษรปัลลวะสายทมิฬที่มาปรากฏบนแผ่นดินลำพูนนั้น อาจใช้เป็นเครื่องสะท้อนถึงความเกี่ยวดองระหว่างพระนางจามเทวีกับพระญาติทางฝ่ายศรีวิชัยก็เป็นได้ โดยขอตั้งข้อสมมุติฐานไว้เบื้องต้นว่า อาจเป็นการเคลื่อนที่เข้ามาของ “เจ้าหญิงวรัญวาตี” ผู้มีเชื้อสาย “จามวงศ์” และน่าจะเป็นสายเลือดฝ่ายพระราชมารดาของพระนางจามเทวี •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ