ร้านชำลอยน้ำเคลื่อนที่ : ส่งเสริมการค้าไทยสมัยน้ำท่วม 2485 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“ขอให้คนไทยหันมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย”
(จอมพล ป.พิบูลสงคราม, 2486)

หากใครได้พบเห็นภาพละเอียด พิบูลสงคราม สตรีหมายเลข 1 ครั้งนั้น กำลังพายเรือเร่ขายของในสถานที่หนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยน้ำ พร้อมคติการค้าของสามัคคีชัยว่า “ส่งถึงผู้ซื้อ ซื่อตวงชั่ง ตรงชนิด ตรงเวลา หวานวาจา ราคาต่ำ” หากพินิจภาพอาคารด้านหลัง คือทำเนียบรัฐบาล ที่โดนน้ำท่วม เมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 นั่นเอง

ภาพนี้มีบริบทความเป็นมาอย่างไร

ด้วยนโยบาย “สร้างชาติ” ของรัฐบาลจอมพล ป. เป็นนโยบายที่มุ่งทำให้ชาติมีความเข็มแข็งทางการทหาร เศรษฐกิจ ด้านเกษตรกรรมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (“กอุพากรรม”) พร้อมสังคม วัฒนธรรม สำหรับในด้านการค้านั้น รัฐบาลส่งเสริมคนไทยทำการค้าให้มากขึ้น

แม้พระนครจะเผชิญกับน้ำท่วมทำให้สินค้าขาดแคลน แต่รัฐบาลเสนอให้พ่อค้าแม่ค้าไทยรายย่อยพลิกแพลงให้แปลงเรือเป็นร้านชำลอยน้ำเพื่อบรรเทาการขาดแคลนสินค้าและทำให้การค้าของคนไทยดำเนินต่อไปได้

ละเอียด พิบูลสงคราม สตรีหมายเลข 1 แจวเรือขายของชำที่ทำเนียบ ยามน้ำท่วม 2485

สร้างชาติ
ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยทำการค้า

นับแต่จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2481 นโยบายสำคัญคือ “สร้างชาติ” โดยแนวคิดการสร้างเศรษฐกิจ คือ การทำให้เศรษฐกิจอยู่ในมือของคนไทย หรือ “ไทยยิสต์” (Thai-ism) โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้คนไทยทำการค้าเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติ (ผานิต รวมศิลป์, 2521, 101)

ด้วยเหตุที่ผ่านมา การค้าของไทยตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติทั้งฝรั่งและชาวจีน รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการค้าให้แพร่หลาย ด้วยจัดตั้งหน่วยราชการส่งเสริมการค้า เช่น กรมการค้าภายใน (2485) กรมการค้าต่างประเทศ (2485) และคลังสินค้ากลาง (2487) ตลอดจนการส่งเสริมให้คนไทยประกอบการด้านการค้าให้เพิ่มขึ้น ด้วยการจัดตั้งร้านค้าชำขนาดเล็กจนถึงร้านค้าขนาดใหญ่ให้กระจายไปทั่วประเทศ อีกทั้งเรียกร้องให้คนไทยหันมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยๆ ด้วย (จอมพล ป.พิบูลสงคราม, 2486, 26-27)

รัฐบาลจัดตั้งบริษัท จังหวัด จำกัด (2483) จำนวน 70 แห่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนไทยฝึกทำการค้า ทำหน้าที่ช่วยเหลือร้านค้ารายย่อย เป็นศูนย์กลางของการค้าระดับจังหวัด รักษาราคาสินค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน และเป็นตัวแทนการค้าของรัฐบาลในการค้ากับเพื่อนบ้าน (ผาณิต, 106-111)

รัฐบาลสร้างคำขวัญขึ้น เช่น “ไทยต้องอุดหนุนไทย” เพื่อสนับสนุนให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”

พระยามไหสวรรย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายในครั้งนั้นบันทึกว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยทำการค้าย่อย ในช่วงสงคราม กรมการค้าภายในส่งเสริมร้านชำรายย่อยของคนไทยอันปรากฏอยู่ทุกหัวมุมถนนในเขตพระนครและธนบุรีทั่วไป ด้วยช่วงสงครามสินค้ามีราคาแพง รัฐบาลจึงเป็นคนกลางหาสินค้าส่งให้กับร้านค้าคนไทยเพื่อกระจายสินค้าที่จำเป็นให้กับประชาชน และเพื่อให้ร้านชำคนไทยแข่งขันกับคนต่างด้าวได้ ด้วยรัฐบาลเห็นว่า ร้านชำเป็นกิจการที่ใช้ทุนไม่มาก เป็นอาชีพได้ หากมีความมานะอดทน (พระยามไหสวรรย์, 2518, 99)

พระยามไหสวรรย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สมัยรัฐบาลจอมพล ป.

เรือร้านชำ
การค้ายามน้ำท่วมพระนคร 2485

ช่วงเวลานั้น ระดับน้ำในทำเนียบรัฐบาล อันเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองในครั้งนั้น สูงถึง 95 เซนติเมตร (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 439) จอมพล ป.บันทึกว่า ในช่วงเวลานั้น คณะรัฐมนตรียังประชุมงานตามปรกติ หลังเลิกประชุม มีเรือมารอรับรัฐมนตรีกันเต็มทำเนียบ บางคนต้องขอกินข้าวก่อนกลับบ้านเพราะใช้เวลาเดินทางนาน วาระการประชุมมีแต่เรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชน (สามัคคีไทย, 91)

รัฐบาลประกาศงบประมาณช่วยเหลือราว 10 ล้านบาท โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยช่วยเหลือประชาชนในด้านที่อยู่อาศัย ส่วนการแจกอาหาร บำบัดโรคภัยให้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงสาธารณสุข และมหาดไทยร่วมมือกัน (สรีกรุง, 30 ตุลาคม 2485)

นายกรัฐมนตรีบันทึกถึงการส่งเสริมการค้าด้วยเรือร้านชำของพระยามไหสวรรย์ว่า

“วันอาทิจนี้ ตรงกับวันที่ 1 พรึกจิกายน ท่านรัถมนตรีกอ มไหสวรรย์ ได้นำเรือบันจุของชำครบถ้วนมาให้ 1 ลำ ฉันให้เมียลงเรือนี้ไปขายของชำเรือเร่ในบริเวณบ้านแต่ไปไม่ได้เพราะเรือเกยแห้ง บางทีจะรวยเพราะการขายของเช่นนี้บ้าง เปนการเพิ่มรายได้ในครอบครัวของฉันอีกทางหนึ่ง เพราะรับราชการทางเดียวไม่เหนรวยสักที ถ้าคงเปนแบบเดียวกับพี่น้องชาวนานั่นเอง ทำนาปลูกข้าวหย่างดียวไม่เหนมั่งมี หรือเอาพอมีพอกินไม่ได้ รัถบาลท่านจึงแนะนำให้ทำไร่เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น…” (สามัคคีไทย, 147-148)

และยังบันทึกถึงการส่งเสริมการค้าในช่วงน้ำท่วมว่า

“ฉันหยากจะช่วยท่านรัถมนตรี ก.มไหสวรรย์ อธิบดีกรมการค้าภายไน ที่ท่านพยายามปลุกปล้ำให้มีร้านไทย คนไทยทำการค้าขึ้นไห้มาก สมกับสภาวะการน์บังคับของบ้านเมืองเวลานี้ คงจำได้ ท่านจึงตั้งร้านชำเรือลอย ให้พ่อค้าแม่ค้ามารับของชำไปขาย ฉันขอขอบคุนท่านหย่างยิ่ง พวกเรา-ชาวไทย-น่าร่วมแรงร่วมกัน เดิมท่านรัถมนตรีมไหสวรรย์ไห้สำเร็จโดยเร็วเถิด ชาติจะขอบคุนแก่ท่านผู้มีเกียรติทำเช่นนี้ทุกท่านแน่นอน” (สามัคคีไทย, 106)

ร้านชำของคนไทยสมัยรัฐนิยม ต้นทศวรรษ 2480

หากประชาชนคนใดมีข้อสงสัยว่าจะขายอะไรให้สอบถามกรมการค้าภายใน เขาเห็นว่า “จงทำไห้เปนล่ำเปนสัน จงทำไห้เปนกอบเปนกำ ท่านจึงจะร่ำรวย” (สามัคคีไทย, 13, 107)

ทั้งนี้ ละเอียดเขียนบทกลอนปลอบขวัญชาวไทยยามน้ำท่วม เรื่อง ชีวิตหยู่ได้ด้วยการต่อสู้ ลงในวรรณคดีสาร เดือนตุลาคม 2485 ว่า

“อนิจจาพี่น้องที่ต้องทุข ฉันหมดสุขหยากช่วยไห้เต็มที่ ช่วยท่านสู้ทุขมหันต์บรรดามี ช่วยไห้ร้ายกลายเปนดีบรรเทาจน รัถบาลท่านได้ช่วยด้ายหลายทาง ตั้งแต่วางคนออกตรวจทุกแห่งหน หาที่พักแจกข้าวสารบันดาคน ที่อับจนจากอุทกภัยพาน ขอเชิญชวนมวลพี่น้องผู้ไจบุญ ช่วยค้ำจุนสละทรัพย์หรือเข้าสาร เชิญร่วมไจร่วมแรงกับรัถบาล ร่วมคิดการช่วยคนจนไห้พ้นทุข ผลแห่งการได้ช่วยด้วยทรัพย์นี้ ผลความดีคงสนองไห้ท่านสุข สิ่งโสกเสร้าหย่าได้เข้ามาเคล้าคลุก ที่ช่วยคนยุคยากแค้น เอย ” (ท่านผู้หญิงละเอียด, 331-332)

ท่ามกลางความทุกข์ยากจากอุทกภัยครั้งนี้ เมื่อต้นเดือนตุลาคม จอมพล ป.เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุง เลิก งดเก็บภาษี ให้กับประชาชนจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ (สามัคคีไทย, 59) และงดการจัดเก็บภาษีบางอย่างจากประชาชน (สรีกรุง, 17 ตุลาคม 2485) เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน

เมื่อนโยบายสร้างชาติ ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยทำการค้ารายย่อยต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วม รัฐบาลจึงพลิกแพลงการค้ารายย่อยให้กลายเป็น “เรือร้านชำลอยน้ำ” ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ครั้งนั้นเพื่อบรรเทาความขาดแคลนสินค้าครั้งนั้นด้วย

ร้านชำของคนไทยสมัยรัฐนิยม ต้นทศวรรษ 2480
น้ำท่วมบริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ในทำเนียบสามัคคีชัย 2485
คติการค้าของสามัคคีชัย “ส่งถึงผู้ซื้อ ซื่อตวงชั่ง ตรงชนิด ตรงเวลา หวานวาจา ราคาต่ำ” บนเรือร้านชำมีรองเท้าผ้าใบ ขนมกระป๋อง ไม้ขีดไฟ ฯลฯ
ละเอียด ภริยานายกรัฐมนตรีบนเรือร้านชำ