พนมเปญ : จากดินดอนถึง ‘บน-ล่าง’ ความเป็น ‘เมือง’ | อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

พนมเปญ

: จากดินดอนถึง ‘บน-ล่าง’ ความเป็น ‘เมือง’

 

“บัดนี้ ถึงเวลาที่พี่น้องอินโดจีนทั้งหลายจะพร้อมใจปลดปล่อยตนเอง เพื่อให้เราได้กลับคืนสู่อิสรภาพกันโดยทั่วหน้า นั่นคือร่วมกันขับไล่ฝรั่งเศสมิให้หลงเหลืออยู่ในอินโดจีน ฝรั่งเศสเป็นพวกตระบัดสัตย์ มีแผ่นดินถิ่นเกิดที่แตกต่าง ไม่มีลักษณะใดที่นับว่าจะร่วมเผ่าพันธุ์กับเราได้ แต่ที่เข้ามาปกครองก็เพราะใช้อำนาจบังคับเพื่อปรนเปรอประโยชน์ให้ตัวเอง

พวกเราก็มีหัวใจเหมือนกัน แต่การตกเป็นทาส ถูกบังคับเยี่ยงนี้ตลอดไป อย่างไม่มีวันจะได้คืนแผ่นดินปกครองตัวเองแล้ว นี่ไม่สมควรเลย”

เครดิตภาพ : Modern Khmer City

ข้อความจากใบปิดโฆษณาชวนเชื่อโดยทางการไทยสมัยอินโดจีน จากสำนวนตัวอย่างทางภาษาที่มีลักษณะแบบชาวพระตะบองยุคนั้น เสียดายเอกสารต้นฉบับจริงมิได้จำลองไว้สมัยที่เทคโนโลยียังไม่แพร่หลาย

เรื่องพระตะบองกับฉันเป็นเหมือนฝัน เล่าไปก็ขำ สมัยเข้าพนมเปญหนแรกข้ามชายแดนมาจากพระตะบอง ระหว่างทางมีทหารตั้งด่านเยอะมาก แต่ไม่มีใครซักถามหรือขอดูพาสปอร์ตเลย ขณะล่ามฉันที่เป็นชาวเขมรแท้ถูกตรวจยิบ คือหมอมีหน้าตาเหมือนลูกครึ่งเวียดนาม ตอนนั้นฝั่งพระตะบองยังมีกองกำลังที่อิสระไม่ขึ้นกับพนมเปญและยังรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับเวียดนาม

สมัยนั้นพระตะบองเป็นเมืองเปลี่ยว วิ่งรถกันเที่ยวเดียวไปกลับจึงต้องออกแต่เช้าตรู่ ถ้าพลาดก็ต้องรอไปอีกวัน การวิ่งเส้นทางลัดเข้าพนมเปญของแท็กซี่ที่ว่าจ้างคันนั้น หลายปีต่อมา ราวกับว่าเราจะไม่พบถนนสายนั้นอีกต่อไป นั่นหมายถึง ภาพเรือนหลังคาที่ต่ำกว่าถนนหนนั้นจะเกิดขึ้นและผ่านไปเพียงครั้งนั้น เช่นเดียวกับการพบชาวเขมรต่ำ (กัมปูเจียกรอม) ที่โรงพยาบาลรัตนคีรี

นักดนตรีซอคนนั้น สารภาพว่าแกเป็นชาวเขมรน้ำที่ต้องมาอยู่ในพื้นที่สูง และทำให้แกป่วยกระเสาะกระแสะไม่สู้ดี

ฉันไม่คิดว่ามันจะมีเรื่องแบบนี้แทรกอยู่ทั่วไปในเขมร และผู้คนถิ่นฐาน กระทั่งได้ถอดรหัสแผนผังที่ตั้งกรุงพนมเปญของพวกฝรั่งเศสเมื่อ 100 ปีก่อน เราจึงได้รู้ว่า ไม่ใช่แค่ชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ชาวเขมรยังแบ่งตัวเองเป็น “ชาวน้ำ-ชาวบก” อีกต่างหาก

ผ่านมาจนล่วงศตวรรษที่ 21 ซึ่งแม้จะเปลี่ยนโฉมหน้าและขยายตัวไปมากจากการสำรวจไว้ครั้งสุดท้ายของบารังในปี ค.ศ.1922 โดยเฉพาะพนมเปญในความเป็นต้นแบบ Modern Khmer City เพราะนี่คือ ราชธานีใหม่นอกโพ้นทะเลแห่งรัฐนิคมของฝรั่งเศสยุคอินโดจีนย้อนไปเมื่อราว 160 ปีก่อน

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เมืองหลวงแห่งนี้มีที่มาจากดินโคลนตะกอนของแม่น้ำที่มีต้นทางจากประเทศทิเบต กลายเป็นตมทับถมรวมกันจนกลายเป็นดินดอนของโมเดิร์นซิตี้พนมเปญปัจจุบัน ซึ่งหลังจากฝรั่งเศสแล้ว มีการสร้างเมืองขึ้นอีก 2 ครั้ง คือ ในยุคสีหนุคิสต์/ระบอบสังคมราษฎร์นิยม (1957-1970) และระบอบฮุนเซน (1998-ปัจจุบัน)

ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดถึงความเป็นพนมเปญ-Modern City ทั้ง 2 ยุคอันต่างกันบนเวลาและแนวคิดการกระทำ ทั้งระบอบสีหนุหลังได้เอกราชจากฝรั่งเศส (1955) และระบอบสมเด็จฮุนหลังอนุสัญญาปารีส (1993)

พนมเปญจะเป็นเช่นไรแล้วแต่จะตกเป็นเครื่องมือของการถูกกระทำโดยรัฐอำนาจเพื่อสร้างเกียรติยศแก่ตนเองอย่างไร

ดังจะเห็นว่า ในสมัยสีหนุคิสต์ที่พยายามลอกแบบตะวันตกโดยการสร้างอพาร์ตเมนต์เพื่อให้ทัดเทียมยุโรปนั้น โดยให้ข้าราชการอาศัยอย่างไม่คิดทไล/ค่าใช้จ่ายนั้น แต่กลับถูกชาวเขมรปฏิเสธและหวาดกลัวการใช้ชีวิตสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ระบอบสีหนุก็ยังมีคุณูปการต่อลักษณะสิ่งปลูกสร้างและการวางผังเมือง ซึ่งมีวัณณ โมลีวัณณ์ เป็นสถาปนิกเอก ซึ่งโมลีวัณณ์นี่เองที่ดูจะเป็นชาวเขมรเพียงคนเดียวเวลานั้น ต่อการเห็นพนมเปญอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่เท่านั้น เขายังศึกษาเสียมเรียบและสีหนุวิลล์-เมืองที่เป็นเหมือนกรณีศึกษาของสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างอย่างมากมายในศตวรรษที่ 21

ความระมัดระวังของวัณณ์ โมลีวัณณ์ อันยึดแนวทางจากผังเมืองที่บารังทำไว้เมื่อร้อยปีก่อน เขายังพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำให้พนมเปญมีลักษณะของความเป็นเมืองโมเดิร์นทั้งสไตล์สถาปัตยกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน จนตกทอดเป็นมรดกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ถึงปัจจุบัน

หากแต่เศษสิ่งอันหลงเหลือให้มองเห็นหาใช่อารมณ์ขันต่อความมีอารยะในความเป็นชนชาติเท่านั้น ยังได้กลายเป็นอนุสรณ์ต่อชาวกัมพูชาผ่านพนมเปญยุคสมัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะการให้คุณค่าต่องานวิจัย โดยแม้จะเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของชาติอื่นก็ตาม

น่าเสียดายที่พนมเปญเมืองที่ “สมกัน” ระหว่างนักล่านิคมและเจ้ากรุงกัมโพช จะอยู่บนจุดอ่อนของดินตะกอน แอ่งซับน้ำและการกัดเซาะที่เดินทางมาศตวรรษครึ่งที่คล้อยผ่าน จนพนมเปญเกิดดินดอนและขยายตัวออกไปอย่างมากมายก็ตาม พนมเปญก็ยังเป็นเมืองต่ำ ที่ง่ายต่อการเข้าโจมตีของมวลน้ำ

ความเป็นโมเดิร์นซิตี้พนมเปญทุกวันนี้จึงแลกมาด้วยสภาพภัยพิบัติจากน้ำท่วมขัง ซึ่งแม้จะไม่ยาวนานในเขตเมืองดังที่พากันวิตก แต่กลับทิ้งความเสื่อมโทรมที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การขับไล่ชุมชนเมืองในเขตซับน้ำชานกรุงด้วยการให้เอกสารสิทธิแก่นักลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ และบังคับขับไล่ชาวบ้าน

ทุกวันนี้ยังเป็นคดีความเรื้อรัง อาทิ ชุมชน “บึงกก” ทางตอนเหนือ “บึงสาลาง” – ตะวันตก และ “บึงตรอแบก” ทางตอนใต้ จนกลายเป็นการต่อสู้ระหว่าง “รัฐ-นายทุนและชาวบ้าน” ข้ามทศวรรษ นับเป็นภาพทับซ้อนของพนมเปญและภัยพิบัติ ระหว่างธรรมชาติและคน จนราวกับเมืองหลวงแห่งนี้มีแต่ความเปราะบาง ทั้งทางกายภาพความเป็นเมืองและชีวิตผู้คน

ซึ่งพนมเปญเคยประสบชะตากรรมนั้น ระหว่างปี 1971-1975 ในสมัยสงครามกลางเมือง และนี่อาจเป็นจุดอ่อนลักษณะจำเพาะทางกายภาพของเมืองหลวงแห่งนี้

เยี่ยงเดียวกับชะตากรรมของชาวพนมเปญที่เตรียมตัวเข้าสู่ชีวิตกึ่งแบบชาวยุคกลาง ตามคติเดิม นั่นคือ ความเป็นชาว “เขมรน้ำ-เขมรบก” ที่คุ้นชินกับการปรับตัวและอพยพตนเองไปตามฤดูกาลระหว่าง “ฤดูกเดา” กับ “ฤดูเพลียง” เมื่อกึ่งพันปีก่อน

แต่ช้าก่อน สำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ศักยภาพการดำรงชีพแบบชาวน้ำและชาวบกของชาวพนมเปญ พวกเขาได้สูญเสียความสามารถในแบบยุคกลางมานานแล้ว เว้นแต่ชุมชนชาวน้ำบางแห่งของทะเลสาบใหญ่

ขณะเดียวกันอีกด้าน วิทยาการตะวันตกผ่านอิทธิพลอาณานิคมอินโดจีนผ่านชนชั้นอีลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพนมเปญนัวส์ ถูกระบอบพลพตเขมรแดงทำลายล้างและทำให้วิทยาการสมัยใหม่ในกัมพูชาต้องถึงกาลวินาศไปกับทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้น

เราจึงได้เห็นผลพวงบางอย่างอันตามมาเมื่อถึงคราวพัฒนากรุงพนมเปญยุค 2 โดยสมเด็จฮุน เซน และยิ่งพบว่า พนมเปญโมเดิร์นซิตี้ยิ่งเปราะบาง ทั้งที่จำนวนคนร่ำรวยชนชั้นกลางมีมากกว่า ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำยากจนก็พอกพูนตามมากว่ายุคใด

คำนิยามพนมเปญเมืองโขมดที่สมเด็จฮุน เซนเคยให้สมญา ในความหมายที่ด้อยค่าการกระทำของกลุ่มเขมรแดงต่อเมืองในอดีต

โดยเฉพาะการมุ่งเน้นศูนย์ประชุม ช้อปปิ้ง ย่านการค้า และบ่อนกาสิโนจากโปรเจ็กต์เกาะเพชร-แผ่นดินงอกจากดินดอนที่เขาประสบความสำเร็จของเกาะเพชร ที่ถูกนำไปต่อยอดเป็นเครื่องมือทำลายเกาะบึงอื่นๆ โดยนายทุน จนทำให้เมืองหลวงแห่งนี้มีแต่รอยด่างของความไม่เท่าเทียม

ระหว่างชาวเขมรล่าง-เขมรน้ำที่ไม่ต่างจากบึง หนอง คลอง เปร็ก คอยเป็นแก้มลิงที่ซับน้ำในฤดูมรสุมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าเป็นกลุ่มก้อนของความต่างจากชาวเขมร-บนกลุ่มนายทุนที่ไม่ต้องรับปัญหาจากความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมบ่ามากขึ้นเรื่อยๆ

มองพนมเปญนัวส์ และพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างของไทยวันนี้ ให้นึกถึงวารีชนยุคกลางสมัยเมืองพระนคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทาสและมีชีวิตส่วนใหญ่กับมรสุมและการเพาะปลูก

ด้วยการเรียนรู้วิถีชลศาสตร์และการเป็นชนเผ่าชาวน้ำอย่างเท่าที่จะทำได้ และเพื่อการรับมือให้เท่าทันได้ในภัยพิบัติโลกร้อนของศตวรรษที่ 21

ชาวพนมเปญนัวส์และลุ่มเจ้าพระยาเอ๋ย จงอย่าได้กลัวเลยในแบบทดลองนี้?